รับเทรนด์ “เที่ยวล้างแค้น” ธุรกิจ “โรงแรมอาเซียน” งัดกลยุทธ์ดูดลูกค้า

รับเทรนด์ “เที่ยวล้างแค้น” ธุรกิจ “โรงแรมอาเซียน” งัดกลยุทธ์ดูดลูกค้า

นักท่องเที่ยวกลับมาท่องเที่ยวอีกครั้ง หลังจากอัดอั้นมานานกว่า 2 ปีจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนเกิดเป็นเทรนด์ “เที่ยวล้างแค้น” (Revenge Travel) ที่เที่ยวนานกว่าเดิมและใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทำให้โรงแรมต่าง ๆ โดยเฉพาะในอาเซียน แข่งขันงัดกลยุทธ์มาดึงดูดนักท่องเที่ยว

หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาอย่างยาวนาน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการท่องเที่ยวในทุกประเทศทั่วโลกจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่แต่ละประเทศนำมาออกมาใช้ ทำให้รายได้หดหายไปนานกว่า 2 ปี 

เมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้น หลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการ ผู้คนต่างอัดอั้นจากการไม่ได้ออกไปท่องเที่ยวตลอดช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่างพากันออกเดินทางท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศเพื่อชดเชยช่วงเวลาที่เสียไปจากช่วงล็อกดาวน์ จนกลายเป็นเทรนด์ “เที่ยวล้างแค้น” (Revenge Travel) ในหมู่นักท่องเที่ยว ซึ่งมักจะเดินทางไปไกลขึ้น นานขึ้น และใช้จ่ายมากขึ้น

เทรนด์ใหม่นี้ถูกต่อยอดมาจาก “การใช้จ่ายให้หายแค้น” (Revenge Spending) ที่เกิดขึ้นในประเทศจีน เมื่อช่วงต้นปี 2564 โดยชาวจีนต่างออกมาจับจ่ายใช้สอยตามร้านค้าต่าง ๆ อย่างเต็มคราบ เห็นได้จากร้าน Hermès แห่งหนึ่งในนครกว่างโจวทำรายได้ไปกว่า 2.7 ล้านดอลลาร์ภายในวันเดียว แสดงถึงการตอบสนองทางด้านเศรษฐกิจหลังการล็อกดาวน์อย่างยาวนาน

ด้วยเหตุนี้ บรรดาที่พักและโรงแรมต่าง ๆ พากันหากลยุทธ์เพื่อเรียกลูกค้าในช่วงเที่ยวให้หายแค้น โดยเฉพาะประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

ไม้เด็ดดีลสุดคุ้มทั่วอาเซียน

อาดินา เซอร์วิส อพาร์ตเมนต์” ที่พักขนาด 88 ห้อง ภายใต้การดำเนินงานของ Far East Hospitality Holdings ผู้ให้บริการและเจ้าของที่พักรายใหญ่ในสิงคโปร์ พึ่งเปิดให้บริการเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา แม้ว่าจะตั้งอยู่ในทำเลที่ดีของถนนออร์ชาร์ด ศูนย์กลางการค้าของสิงคโปร์ แต่ยังคงต้องทำโปรโมชันพิเศษเพื่อเรียกลูกค้า ด้วยการแจกบัตรกำนัลรับประทานอาหารมูลค่า 100 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 2,600 บาท พร้อมทั้งรับป๊อปคอร์น มันฝรั่งทอดกรอบ และเครื่องดื่ม เมื่อผู้เข้าพักแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบริการของที่พัก

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้รุนแรงเหมือนกับช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้สมาชิกทั้ง 10 ประเทศในกลุ่มสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ASEAN ต่างประกาศลดข้อจำกัดและจำนวนวันกักตัวสำหรับนักท่องเที่ยว เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจที่หยุดชะงักไปตั้งแต่ปี 2563

รูปแบบการท่องเที่ยวและโปรไฟล์ของนักท่องเที่ยวช่วงหลังยุคโควิด-19 มีหน้าตาเปลี่ยนไป แม้ว่าจำนวนแขกของเราจะลดลง แต่พวกเขาอยู่นานขึ้น อีกทั้งยังเดินทางมาพร้อมกับคนรักมาอีกด้วย” อาร์เธอร์ เกียง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของ Far East Hospitality ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Nikkei

ขณะที่ “พิมาลัย รีสอร์ท แอนด์ สปา” ที่พักระดับ 5 ดาวบนเกาะลันตา จ.กระบี่ มอบส่วนลดสูงถึง 30% สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการหลบหนีความวุ่นวายและมาสัมผัสความสวยงามของชายฝั่งทะเลอันดามัน โดยผู้ที่จองที่พักล่วงหน้าระหว่าง 7-13 วันก่อนเข้าพัก จะได้รับส่วนลด 20% ขณะที่ผู้ที่จองที่พักล่วงหน้า 30 วันขึ้นไปจะได้รับส่วนลด 30% 

นอกจากนี้ ทางรีสอร์ตยังมีโปรโมชันแพ็กเกจ “พัก 5 จ่าย 4” สำหรับนักที่พักจำนวน 5 วัน แต่คิดในราคาเพียง 4 วัน เท่านั้น อีกทั้งยังมีบริการอาหารเช้าสำหรับ 2 คน พร้อมบริการรับส่งทั้งทางน้ำและทางบก ตลอดจนการเดินทางไปยังท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่ ทั้งขาไปและขากลับ

ชรินทิพย์ ตียาภรณ์ ทายาทรุ่นที่สองของ พิมาลัย รีสอร์ท แอนด์ สปา เปิดเผยว่า “เราจัดโปรโมชันแพ็กเกจและมอบส่วนลดให้แก่ผู้เข้าพัก เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้เวลาอย่างเต็มที่และเพลิดเพลินกับการเปิดประสบการณ์ใหม่ยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะมาท่องเที่ยวแบบคู่รัก หรือจะพาครอบครัวมาพักผ่อน เราพร้อมให้บริการอย่างเต็มที่เสมอ”

ทางด้าน InterContinental รีสอร์ตสุดหรู เครือโรงแรมในสหราชอาณาจักรที่มีสาขาอยู่ทั่วโลก ในเกาะบาหลี อินโดนีเซีย อีกหนึ่งจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ออกโปรโมชันดึงดูดให้นักท่องเที่ยวรู้สึกคุ้มกว่าเมื่อเข้าพักเป็นระยะเวลานานขึ้น ด้วยการมอบส่วนลดค่าอาหารและเครื่องดื่ม 20% ตลอดจนบริการซักรีด

ในส่วนของ “อนันตรา รีสอร์ท แอนด์ วิลล่าส์” ในเครือไมเนอร์ กรุ๊ปของไทย ที่พึ่งไปเปิดสาขาในเมืองเดซารู เมืองท่ายอดฮิตในมาเลเซีย มาพร้อมข้อเสนอ “พัก 3 จ่าย 2” จองโรงแรม 3 วัน แต่จ่ายเพียงแค่ 2 วัน พร้อมส่วนลด 15% สำหรับค่าอาหารและสปาทรีตเมนต์ และเติมมินิบาร์ในห้องพักทุกวัน

 

การท่องเที่ยวยังฟื้นตัวไม่เต็มที่

แม้ว่าภาคการบริการจะงัดกลยุทธ์ไม้เด็ดมาล่อตาล่อใจนักท่องเที่ยวให้เข้าใช้บริการ แต่ก็ไม่มีอะไรเป็นเครื่องการันตีว่าโปรโมชันทั้งหลายที่โรงแรมต่าง ๆ ปล่อยออกมานั้นจะโดนใจผู้บริโภค

ประเทศต่าง ๆ ปรับลดมาตรการการผ่อนคลายลงแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าการแพร่ระบาดของโควิดได้สิ้นสุดลง CBRE บริษัทผู้ให้บริการและการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ของอเมริกา ออกรายงานเตือนถึงการเติบโตของการท่องเที่ยวและการเข้าพักในโรงแรมที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนักในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันและเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น ทำให้ราคาตั๋วเครื่องบินพุ่งสูงขึ้นไปด้วย ประกอบกับสถานการณ์การสู้รบของรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อไม่จบไม่สิ้น ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้การท่องเที่ยวนั้นไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่

นอกจากนี้ รายงานยังระบุอีกว่า นักท่องเที่ยวจากประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรสูงสุดและเป็นตลาดท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่หลายประเทศต้องพึ่งพานั้น ยังไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้อย่างเสรี เนื่องจากมาตรการคุ้มเข้มการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของจีนนั้นยังคงเข้มงวด

“แม้ว่าหลายประเทศจะเปิดรับนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องมีมาตรการกักตัวแล้ว แต่การจัดเตรียมเอกสารต่าง ๆ ที่จะต้องใช้รับรองในการเข้าประเทศ นั้นยังเป็นเรื่องที่น่าปวดหัวสำหรับนักท่องเที่ยว อีกทั้งหลายบริษัทยังคงหลีกเลี่ยงการเดินทางเพื่อทำธุรกิจอยู่” รายงานระบุ

ขณะที่โรงแรมหลายแห่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังประสบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 สถานประกอบการหลายแห่งจำเป็นต้องเลิกจ้างพนักงาน และยังคงไม่สามารถหาพนักงานมาทดแทนได้ โดยอดีตลูกจ้างล้วนไม่อยากกลับมาทำงาน เพราะได้งานที่มั่นคงกว่าหรือหันไปประกอบกิจการส่วนตัวที่มีรายได้ดีกว่าแล้ว

ไมเคิล มาร์แชล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการค้า (ซีซีโอ) ของไมเนอร์ กล่าวว่า “เราต่างพยายามจัดโปรโมชันบนสื่อออนไลน์ในแต่ละภูมิภาคเพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อลูกค้า ซึ่งการท่องเที่ยวที่ใช้เวลาดื่มด่ำและเพลิดเพลินกับสถานที่แต่ละแห่งมากกว่าการเที่ยวแบบชะโงกทัวร์ รวมถึงการท่องเที่ยวกันแบบครอบครัวที่มีหลากหลายช่วงอายุ กำลังเป็นเทรนด์ที่มาแรง และจะดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ ในยุคหลังโรคระบาด”



ที่มา: CNN, Nikkei, ONCE