เปิดสาเหตุ "ราคาตั๋วเครื่องบิน" พุ่งแรงกว่า "ยุคก่อนโควิด"

เปิดสาเหตุ "ราคาตั๋วเครื่องบิน" พุ่งแรงกว่า "ยุคก่อนโควิด"

เหล่านักเดินทางเตรียมตัว! รับมือกับค่าตั๋วเครื่องบินที่แพงขึ้น หลังราคาน้ำมันพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ รวมถึงการขาดแคลนพนักงานในสนามบิน จำนวนเที่ยวบินที่น้อยกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด แต่ความต้องการเดินทางกลับเพิ่มขึ้น หลังคนอัดอั้นการนั่งเครื่องบินมานาน

ขณะที่การท่องเที่ยวทั่วโลกกำลังเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากการปลดล็อกมาตรการต่างๆ ของแต่ละประเทศ หลังจากที่ธุรกิจการท่องเที่ยวต้องหยุดชะงักมาเกือบ 3 ปี แต่ดูเหมือนว่าการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวอาจไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เมื่อราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงกับการขนส่งมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ “ค่าตั๋วเครื่องบิน”

 

ราคาน้ำมันที่พุ่งสูง

วิลลี วอลช์ ผู้อำนวยการสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ IATA ให้สัมภาษณ์ในรายการ Sunday Morning ทางช่อง BBC1 เมื่อวันอาทิตย์ ที่ผ่านมาว่า นักเดินทางจะต้องเตรียมรับมือกับค่าใช้จ่ายในการบินที่จะเพิ่มขึ้น

ค่าตั๋วเครื่องบินจะแพงขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย จากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น” วอลช์ กล่าว พร้อมเตือนให้สนามบินฮีทโธรว์ในอังกฤษเตรียมตัวรับมือกับปริมาณนักท่องเที่ยวให้ดีกว่านี้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีผู้โดยสารตกค้างการยกเลิกเที่ยวบิน และเที่ยวบินล่าช้า

นอกจาก ราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการบริโภคน้ำมันที่เพิ่มมากขึ้นจากกลุ่มประเทศที่เริ่มปลดล็อกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนประชาชนกลับมาใช้ชีวิตปกติได้แล้ว ผลกระทบจากสงครามในยูเครนยังผลักดันราคาน้ำมันให้สูงขึ้นไปอีก 

หลายประเทศมีมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย ด้วยการไม่ซื้อน้ำมันจากรัสเซีย สหรัฐประกาศห้ามการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียโดยสมบูรณ์ ขณะที่สหราชอาณาจักร และประเทศอื่นๆ ในกลุ่มสหภาพยุโรปจะเลิกซื้อน้ำมันของรัสเซียภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งหมายความว่า ประเทศเหล่านี้ต้องหาซื้อน้ำมันจากแหล่งอื่นแทน

วอลช์ กล่าวอีกว่า น้ำมันเป็นต้นทุนที่มีมูลค่าสูงสุดของสายการบิน ดังนั้น เมื่อน้ำมันมีราคาพุ่งสูงขึ้น จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่สายการบินต้องขึ้นราคาตั๋ว ซึ่งจะส่งผลต่อผู้บริโภคอย่างแน่นอน

ขาดแคลนพนักงาน

ไม่เพียงค่าโดยสารที่เพิ่มขึ้นสูงเท่านั้น แต่ผู้โดยสารของสายการบินในสหราชอาณาจักร ยังต้องรับมือกับการยกเลิกเที่ยวบิน จากภาวะหยุดชะงักครั้งใหญ่ (Major Disruption) ในสนามบินหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นสนามบินฮีทโธรว์ แกตวิค และแมนเชสเตอร์ เนื่องจากพนักงานในสนามบินบางส่วนถูกเลิกจ้าง หรือถูกพักงานจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้ว่าสายการบินส่วนใหญ่จะให้ผู้โดยสารที่โดนยกเลิกเที่ยวบินสามารถเปลี่ยนเที่ยวบินใหม่ได้โดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่มก็ตาม แต่ผู้โดยสารเสียเวลา และเสียความรู้สึกไปแล้ว

“สนามบินปรับเปลี่ยนตารางการบินใหม่ เพื่อรองรับผู้โดยสารให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะสนามบินใหญ่อย่างฮีทโธรว์ที่น่าจะเตรียมตัวได้ดีกว่านี้ ทั้งที่พวกเขาบอกให้สายการบินกลับมาบินในช่วงฤดูร้อนนี้ให้ได้อย่างน้อย 80% ของในช่วงปกติ แต่กลับไม่มีพนักงานให้บริการเพียงพอ” วอลช์วิจารณ์การทำงานของสนามบินฮีทโธรว์ ที่ก่อนหน้านี้มีปัญหาเกี่ยวกับการเติมเชื้อเพลิงอากาศยาน และระบบสัมภาระ ทำให้มีกระเป๋าเดินทางตกค้างเป็นจำนวนมาก

วอลช์ ยอมรับว่า มีปัญหาหลายด้านที่ส่งผลกระทบต่อสายการบิน ส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาขาดแคลนพนักงาน แต่เขาเผยว่า ไม่เสียใจที่ลดจำนวนพนักงานของบริติช แอร์เวย์ ในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ขณะที่เขาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของสายการบินดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม โฆษกของสนามบินฮีทโธรว์ได้ออกมาตอบโต้ความเห็นของวอลช์ โดยระบุว่า “สถานการณ์การบินในตอนนี้ อยู่ในภาวะกดดันอย่างมาก เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นสูง ที่สนามบินฮีทโธรว์ เราเผชิญกับการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวเทียบเท่ากับจำนวนการเติบโตระยะ 40 ปีที่ผ่านมา ในระยะเวลาเพียง 4 เดือน

เราได้ขอให้สายการบินปรับจำนวนเที่ยวบินให้สอดคล้องความสามารถในการให้บริการ เพื่อทำให้ผู้โดยสารเดินทางได้อย่างราบรื่นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ถึงกระนั้น ปัญหาที่พบยังคงเป็นการขาดแคลนเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดิน รวมถึงมาตรการปิดน่านฟ้าทั่วยุโรปที่ยังคงเป็นปัญหาสำคัญ

เราจะให้ความร่วมมือพันธมิตรสนามบินของเราทั้งหมด พร้อมดำเนินการในกรณีที่จำเป็น เพื่อให้แน่ใจว่าเราสามารถมอบการเดินทางที่ปลอดภัย และน่าเชื่อถือได้แก่ผู้โดยสารตามที่สมควรได้รับ ในตลอดฤดูร้อนนี้”

ปัญหานี้พบได้ในสนามบินทั่วโลกไม่เพียงแต่ในสหราชอาณาจักร เช่น สนามบินชางงี ของสิงคโปร์ ซึ่งได้รับการโหวตว่าเป็นหนึ่งในสนามบินที่ดีที่สุดในโลก กำลังเปิดรับสมัครพนักงานกว่า 6,600 ตำแหน่ง หลังจากที่เลิกจ้างเป็นจำนวนมากในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 และอดีตพนักงานหลายคนไม่ต้องการกลับมาทำงานเดิมอีก 

 

ความต้องการเดินทางที่เพิ่มสูงขึ้น

เอ็ด บาสเตียน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของ Delta Air Lines Inc. กล่าวว่า ความต้องการในการเดินทางท่องเที่ยวในตอนนี้เพิ่มขึ้นสูงมาก ทำให้ราคาค่าตั๋วเครื่องบินนั้นแพงกว่า ในช่วงก่อนยุคโควิดกว่า 30% ไม่ว่าจะเป็นตั๋วชั้นธุรกิจ ตั๋วระดับเฟิร์สคลาส หรือเที่ยวบินนานาชาติ

จากการศึกษาของสถาบัน Mastercard Economics Institute พบว่า ค่าใช้จ่ายในการบินจากสิงคโปร์ในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา สูงกว่าปี 2562 โดยเฉลี่ยถึง 27% ขณะที่เที่ยวบินจากออสเตรเลียเพิ่มขึ้น 20% 

นอกจากนี้ เดวิด แมนน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ตะวันออกกลาง และแอฟริกาของสถาบันดังกล่าวเปิดเผยว่า “นักท่องเที่ยวมักจะจองตั๋วเครื่องบินล่วงหน้านานกว่าเดิม เนื่องจากกลัวว่าถ้าซื้อตั๋วในช่วงวันเดินทางจะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น”

 

เที่ยวบินน้อยลง ที่นั่งลดลง

เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้สายการบินต่างๆ หันมาใช้เครื่องบินรุ่นประหยัดน้ำมันมากขึ้น และลำเล็กลง เช่น A350 และ 787 Dreamliners เพื่อลดต้นทุน ซึ่งในปัจจุบันตลาดการบินที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอย่าง จีน ก็ยังไม่ปลดล็อกมาตรการ และเปิดประเทศอย่างเต็มที่ แม้ว่าความต้องการในการเดินทางจะเพิ่มขึ้นแล้วก็ตาม

สุภาส เมนอน ผู้อำนวยการใหญ่สมาคมสายการบินเอเชีย แปซิฟิก หรือ AAPA กล่าวว่า “หลายประเทศพึ่งผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เมื่อเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา สายการบินต่างๆ ต้องใช้เวลาสำหรับฟื้นฟู และสร้างแผนการบินใหม่ มันไม่ได้ง่ายเหมือนการเปิดก๊อกน้ำ”

ด้วยจำนวนที่นั่งที่ลดน้อยลง แต่ผู้คนพร้อมกลับมาเดินทางแล้ว อุปสงค์และอุปทานมีไม่เท่ากัน ตามหลักเศรษฐศาสตร์ จึงเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ค่าตั๋วเครื่องบินมีราคาสูงขึ้น

ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ จึงเป็นที่มาของสาเหตุที่ทำให้ตั๋วเครื่องบินมีราคาสูงขึ้น และยังไม่รู้ว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติอีกเมื่อใด


ที่มา: BBC, Bloomberg, The Guardian, Via Travelers

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์