“ขาดแคลนแรงงาน” เกือบทุกแผนก! ปัญหาใหญ่กดดันการฟื้นตัวโรงแรมไทย

“ขาดแคลนแรงงาน” เกือบทุกแผนก! ปัญหาใหญ่กดดันการฟื้นตัวโรงแรมไทย

“ทีเอชเอ” ชี้โรงแรมไทยถูกกดดันจากปัญหา “ขาดแคลนแรงงาน” ในเกือบทุกแผนก แม้ส่วนหนึ่งจะพอหาคนทดแทนได้ แต่ยังขาดทักษะ โดยเฉพาะด้านการให้บริการและภาษา ด้าน “ราคาห้องพัก” ยังคงต่ำกว่าก่อนยุคโควิด-19 ระบาด แม้ธุรกิจโรงแรมจะเริ่มฟื้นตัวหลังเปิดประเทศ

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า จากผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม เดือน ก.ค.2565 จัดทำโดยสมาคมฯและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีผู้ประกอบการที่พักแรมตอบแบบสำรวจ 118 แห่ง ระหว่างวันที่ 17-25 ก.ค.2565 พบว่าอัตราการเข้าพักเฉลี่ยเดือน ก.ค.65 เพิ่มขึ้นเป็น 45% จากเดือน มิ.ย.65 ซึ่งมี 38%

ตามที่รัฐบาลได้ ยกเลิกระบบไทยแลนด์พาส (Thailand Pass) มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.65 เป็นต้นไป และขยายสิทธิ์โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4 ส่วนขยาย อีก 1.5 ล้านสิทธิ์ใหม่ ส่งผลให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเพิ่มขึ้น อัตราการเข้าพักของโรงแรมปรับเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค ทั้งนี้คาดการณ์อัตราการเข้าพักในเดือน ส.ค.65 ไว้ที่ 42%

“ลูกค้าของโรงแรมส่วนใหญ่ยังคงเป็นลูกค้าชาวไทย แต่มีลูกค้าต่างชาติเพิ่มขึ้น สะท้อนจากโรงแรมที่มีสัดส่วนลูกค้าต่างชาติมากกว่า 50% ทยอยเพิ่มขึ้นหลังมีการผ่อนคลายมาตรการเปิดประเทศอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2565 ทั้งนี้หากพิจารณากลุ่มลูกค้าต่างชาติที่เข้าพักส่วนใหญ่ เป็นลูกค้าเอเชียและตะวันออกกลาง รองลงมา คือยุโรปตะวันตก”

อย่างไรก็ตาม โรงแรมส่วนใหญ่ราว 68% ยังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยกระจายอยู่ในตำแหน่งต่างๆ เกือบทุกแผนก เช่น แม่บ้าน พนักงานต้อนรับ พนักงานทำความสะอาด พ่อครัวแม่ครัว เด็กเสิร์ฟ และช่างเทคนิค แม้ส่วนหนึ่งจะพอหาคนทดแทนได้ แต่ยังขาดทักษะ โดยเฉพาะด้านการให้บริการและภาษา

ส่วนประเด็นเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้าง พบว่าโรงแรม 67% ยังไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้าง ส่วนอีก 33% มีการปรับขึ้นค่าจ้าง ทั้งนี้หากมีการประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ คาดว่ามีโรงแรม 74% ได้รับผลกระทบ โดยโรงแรมระดับ 1-3 ดาว จะได้รับผลกระทบมากกว่าโรงแรมระดับ 4-5 ดาว ทั้งนี้ 16% ของผู้ตอบแบบสำรวจคาดว่าจะได้รับผลกระทบมาก เพราะลูกจ้างมากกว่า 50% ของโรงแรมกลุ่มนี้ต้องได้รับการปรับขึ้นค่าจ้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มโรงแรมน้อยกว่า 4 ดาว

“โรงแรมส่วนใหญ่ยังถูกกดดันจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานในเกือบทุกแผนก รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในพื้นที่ยังไม่กลับมาเปิดตามปกติ”

นางมาริสา กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ธุรกิจโรงแรมจะเริ่มฟื้นตัวหลังเปิดประเทศ แต่ราคาห้องพักเฉลี่ยต่อวันยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ส่วนหนึ่งจากนักท่องเที่ยวที่ยังเข้ามาไม่มากนัก และกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอทำให้ปรับราคาได้ยาก อย่างไรก็ดี ราคาห้องพักเฉลี่ยต่อวันถือว่าปรับดีขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน

ส่วนค่าใช้จ่ายในโรงแรมเฉลี่ยต่อหัวของนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มโรงแรม โดยค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ในกลุ่มน้อยกว่า 5 ดาว ณ เดือน ก.ค.65 ยังต่ำกว่าก่อนเกิดโควิด-19 ระบาด ขณะที่กลุ่ม 5 ดาวขึ้นไปยังเฉลี่ยใกล้เคียงเดิมหรือมากกว่า

สำหรับภาพรวมรายได้ เดือน ก.ค.65 ยังมีรายได้อยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับก่อนโควิด-19 แต่ส่วนหนึ่งรายได้เริ่มปรับดีขึ้นหลังมีการเปิดประเทศเต็มรูปแบบในเดือน ก.ค.65 สะท้อนจากโรงแรมที่มีรายได้กลับมาไม่ถึง 30% มีสัดส่วนลดลงจากเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม โรงแรมที่รายได้กลับมาแล้วเกินครึ่งหนึ่งมีสัดส่วนใกล้เคียงเดิมที่ 32% โดยรายได้ของกลุ่มโรงแรม 4-5 ดาว ฟื้นตัวได้ดีกว่า

“ขาดแคลนแรงงาน” เกือบทุกแผนก! ปัญหาใหญ่กดดันการฟื้นตัวโรงแรมไทย