ถอดบทเรียน “สินค้าท้องถิ่น” อยากดัน “Made in Bangkok” ให้ปัง ต้องทำอย่างไร?

ถอดบทเรียน “สินค้าท้องถิ่น” อยากดัน “Made in Bangkok” ให้ปัง ต้องทำอย่างไร?

ส่องแนวคิดการปั้น "สินค้าท้องถิ่น" ของประเทศญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จจนโด่งดังไปทั่วโลก ชวนถอดบทเรียนว่าญี่ปุ่นมีวิธีการอย่างไร? หากกรุงเทพฯ จะทำสินค้า "Made in Bangkok" ให้ปังบ้าง ต้องเริ่มจากตรงไหน?

ก่อนหน้านี้ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ได้พูดถึงการผลักดันขนมและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของกรุงเทพฯ ให้เป็นสินค้าMade in Bangkok” (MIB) เมื่อขณะที่พักเปลี่ยนเครื่อง ณ สนามบินนาริตะ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อไปร่วมพิธีรับปริญญาของลูกชายที่สหรัฐ ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ทำให้เกิดการตั้งคำถามในสังคมว่า “ของฝาก” ที่เมื่อคนต่างชาติมาเที่ยว “กรุงเทพฯ” แล้วต้องซื้อกลับไป มีอะไรบ้าง? ซึ่งคำถามนี้แม้แต่คนกรุงเทพฯ เองก็ตอบไม่ค่อยจะได้กันสักเท่าไร

แต่เมื่อต้องจำกัดโจทย์ให้เหลือแค่เมืองเดียว ก็มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ต้องตัดสินค้าหลายอย่างออกไป เพราะมิเช่นนั้นจะกลายเป็นเข้าข่าย Made in Thailand ซึ่งไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ในตอนต้น

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนดูกรณีศึกษาจาก “เมืองท้องถิ่น” ในประเทศญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จ พวกเขามีวิธีการอย่างไร จึงสามารถโปรโมตสินค้าขึ้นชื่อของแต่ละเมืองให้โด่งดังได้สำเร็จ และทำให้นักท่องเที่ยวเห็นแค่สินค้าก็รู้ได้ทันทีว่ามีต้นทางมาจากเมืองใด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เนื่องจาก “กรุงเทพฯ” ไม่ได้มีสินค้าที่ผลิตมาจากตัวจังหวัดเองจริงๆ เหมือนจังหวัดอื่นๆ ที่พอพูดชื่อจังหวัดมาปุ๊ป ทุกคนต้องนึกออกว่าอะไรเด่นอะไรดัง เช่น จ.นครศรีธรรมราช ต้องเป็นไข่เค็มไชยา จ.สมุทรปราการ ต้องเป็นปลาสลิดบางบ่อ จ.นครราชสีมา ต้องเป็นหมี่โคราช จ.ราชบุรี ต้องเป็นโอ่งมังกร และอื่นๆ อีกมากมาย

หนึ่งคำที่พอจะอธิบายให้เห็นภาพของปัญหานี้คือ “กรุงเทพฯ ไม่ได้เป็นเมืองผลิต แต่เป็นเมืองปกครอง” ส่วนใหญ่นำของจากต่างจังหวัดเข้ามาขาย ไม่ค่อยมีโรงงานอุตสาหกรรม (ส่วนใหญ่อยู่ชานเมืองและต่างจังหวัด) ตัวกรุงเทพฯ เองจึงไม่ค่อยมีอะไรเชิดหน้าชูตาความเป็นกรุงเทพฯ ได้อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ แม้รัฐบาลมีโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) แต่ก็เดินหน้าผิดจุด ไม่เหมือนกับประเทศญี่ปุ่นที่ทำในลักษณะโครงการหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OVOP) จึงไม่ได้สัมฤทธิ์ผลเทียบเท่าประเทศญี่ปุ่น

มีกรณีศึกษาจากงานวิจัยเรื่อง "การศึกษาการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืนผ่านโครงการหนึ่งชุมชนหนึ่งผลิตภัณฑ์ของญี่ปุ่นและไทย" โดย ยุพิน คล้ายมนต์ (นักวิจัยชำนาญการ สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา) ที่ตีพิมพ์ในวารญี่ปุ่นศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2552 มีสาระที่น่าสนใจดังนี้

1. ปัจจัยที่ทำให้ “สินค้าท้องถิ่น” ญี่ปุ่นพัฒนาอย่างยั่งยืน

สินค้าท้องถิ่นของประเทศญี่ปุ่นประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนและเดินหน้าสู่สากลได้ มี 3 แนวคิดดังนี้

  • การพึ่งตนเองและคิดอย่างสร้างสรรค์ (Self-Reliance-Creativity)

ตัวอย่างเช่น ชาวบ้านที่หมู่บ้านโอยามา (Oyama) รวมพลังพึ่งพาตนเองด้วยการคิดโจทย์ว่า สิ่งใดที่ปลูกแล้วเหมาะสมกับพื้นที่และภูมิอากาศของหมู่บ้าน และต้องเป็นสิ่งที่ปลูกให้อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าพืชอื่นๆ ซึ่งนั่นคือคือ “บ๊วยและเกาลัด”

ชาวบ้านจึงได้สร้างองค์ความรู้ขึ้นและพัฒนาความคิดของคนในชุมชน และให้ความร่วมมือกันจนโครงการนี้ประสบความสำเร็จ เกิดเป็นแนวคิดการพึ่งพาตนเองของชุมชนในปี 2504 และถูกนำมาปรับใช้พัฒนาที่จังหวัดโออิตะในปี 2522 ด้วย

  • การสร้างทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource  Development)

สำหรับการสร้างทรัพยากรมนุษย์ต้องทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง โดยต้องมีหลักเกณฑ์ต่างๆ ได้แก่ การสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับชุมชน, สร้างความสำคัญของการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น, สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพคนในชุมชน และ ส่งเสริมให้ชุมชนมีความคิดริเริ่มสิ่งใหม่ๆ

  • การพัฒนาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สากล (Local Yet Global)

เมื่อความสำเร็จเกิดจากการนโยบายพัฒนาภูมิภาคของท้องถิ่นก่อน และภายหลังรัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนเพิ่มเติม ด้วยโครงการ OVOP ซึ่งพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เติบโตด้วยมุมมองระดับสากล โดยให้คนในชุมชนมองว่า ผลิตภัณฑ์หรือสินค้า ไม่ได้เป็นเพียงแค่สิ่งของ แต่ต้องหมายถึง กระบวนการทางความคิด เรื่องราวเรื่องเล่า การบริการ การรักษาภูมิปัญญาต่างๆ ด้วย ซึ่งเป็น “จุดขายของชาวญี่ปุ่น” ที่ทำได้ดีมาตลอด

นอกจากนี้รัฐบาลก็ช่วยทำการตลาด มีมาตรการส่งเสริมหลายขั้นตอน เช่น ทำหน้าที่เป็นตัวแทนจำหน่าย และทำหน้าที่ติดต่อการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ เป็นต้น

2. แนวคิดในการพัฒนาสินค้าท้องถิ่นสู่สากล

หากอยากทำให้สินค้าท้องถิ่นของกรุงเทพฯ และภาคส่วนอื่นๆ สามารถพัฒนาไปสู่ระดับสายตาสากล ควรจะแก้ปัญหาดังนี้

  • ต้องทำให้สินค้าท้องถิ่นไทยเกิด “ความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว” (เพราะบางอย่างยังเกิดจากวัฒนธรรมการเลียนแบบ) มีลักษณะความเป็นสากล และมีความโดดเด่นในท้องถิ่นจนสามารถสู่สากล
  • ต้องมีการริเริ่มการพึ่งพาตนเองอย่างสร้างสรรค์ มิใช่การเร่งผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของภาครัฐ
  • ต้องมีการสร้างทรัพยากรมนุษย์ โดยการจัดให้มีโรงเรียนฝึกอบรม มิใช่มุ่งแต่ผลิตสินค้า (ที่ไม่เน้นคุณภาพ) มากกว่าสร้างคน
  • รัฐบาลต้องมีเป้าหมายเพื่อ “ความยั่งยืนของประชาชน” มิใช่เพื่อเป้าหมายแอบแฝงซ่อนเร้นอื่นๆ
  • สร้างชุมชนให้เข้มแข้งจากฐานรากอย่างแท้จริงโดยต้องทำให้เกิดสภาวะการพึ่งพาตนเองได้ (Bottom-Up) มิใช่การทำงานแบบบนสู่ล่าง (Top-Down)

------------------------------------

อ้างอิง: วารสารญี่ปุ่นศึกษาธรรมศาสตร์Japan International Cooperation Agency (JICA)ReliefWebTPSO