Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 13 June 2022

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 13 June 2022

ราคาน้ำมันดิบทรงตัวระดับสูง หลังความต้องการใช้ฟื้นตัว ขณะที่อุปทานน้ำมันยังตึงตัว

ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 118-128 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 120-130 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 13 June 2022

 

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (13 – 17 มิ.ย.65) 

ราคาน้ำมันทรงตัวในระดับสูง หลังปริมาณความต้องการใช้น้ำมันฟื้นตัว เนื่องจากการคลายมาตรการล็อคดาวน์ในจีน และปริมาณความต้องการใช้น้ำมันสหรัฐฯ ในช่วงหน้าร้อน ขณะที่อุปทานน้ำมันดิบยังมีแนวโน้มตึงตัวต่อเนื่อง หลังยุโรปมีมติยกเลิกการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย และสั่งห้ามบริษัทในกลุ่มสหภาพยุโรปไม่ให้การประกันภัยทางเรือกับเรือขนส่งของรัสเซีย ขณะที่การปรับเพิ่มการผลิตจากกลุ่มโอเปกพลัสยังมีความไม่แน่นอนสูง อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะยอมให้มีการส่งออกน้ำมันของเวเนซุเอลาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อชดเชยปริมาณส่งออกที่อาจหายไปจากผู้ซื้อในสหภายุโรป ในขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย 
 

 

 

 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

-  รายงานเดือน มิ.ย. ของสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ หรือ EIA คงประมาณการณ์ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลกปี 65 ที่ระดับ 99.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับรายงานเดือนก่อนหน้า โดยปริมาณความต้องการใช้น้ำมันถูกกดดันจากการบังคับใช้มาตรการล็อคดาวน์อย่างต่อเนื่องของจีน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด แต่ถูกชดเชยด้วยปริมาณความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นในยุโรป และสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม EIA คาดว่าปริมาณความต้องการใช้ทั่วโลกจะปรับตัวดีขึ้น แตะระดับเฉลี่ยราว 100.1 – 100.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงครึ่งหลังของปี 65 

- ตลาดยังคงกังวลอุปทานน้ำมันโลกตึงตัว หลังยุโรปคว่ำบาตรห้ามนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย ขณะที่ห้ามไม่ให้มีการประกันภัยทางเรือ (shipping/marine insurance) กับเรือขนส่งของรัสเซียด้วย อย่างไรก็ตาม รัสเซียคาดว่าอาจใช้การค้ำประกันโดยรัฐฯ (state guarantees) ภายใต้กรอบของข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลของรัสเซียและประเทศที่สามเพื่อช่วยในการขนส่งได้ นอกจากนี้รัสเซียยังคงเตรียมแผนเพิ่มการส่งออกน้ำมันดิบไปยังผู้ซื้อในเอเชียผ่านท่อ Transneft และรถไฟไปยังท่าเรือส่งออก Kozmino ทางตะวันออกของประเทศด้วย  และคาดว่าการส่งออกทางท่า Kozmino จะเพิ่มขึ้นเป็น 800,000-900,000 บาร์เรลต่อวัน ในไตรมาส 3/65 จากเดิม 720,000 บาร์เรลต่อวันในปี 64
 

-  จากการประชุมวันที่ 2 มิ.ย. ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบ และพันธมิตร หรือกลุ่มโอเปคพลัส มีมติเพิ่มกำลังผลิตเดือนละ 0.648 ล้านบาร์เรลต่อวัน ระหว่างเดือน ก.ค. ถึง ส.ค. อย่างไรก็ตาม JPMorgan คาดว่าปริมาณการผลิตของกลุ่ม จะสามารถเพิ่มขึ้นได้เพียง 0.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ 0.17 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.ค. และ ส.ค. ตามลำดับ เนื่องจากหลายประเทศสมาชิกมี spare capacity ในระดับต่ำ และขาดงบประมาณในการลงทุน จึงไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ตามเป้าหมาย ทำให้ตลาดยังคงคาดว่าอุปทานน้ำมันดิบจะตึงตัวต่อเนื่อง 

-  บริษัท Eni ของอิตาลี และ Repsol ของสเปน ซึ่งเป็นสองบริษัทที่ประกอบธุรกิจอยู่ในเวเนซุเอลา ได้รับอนุญาตจากสหรัฐฯ ในการขนส่งน้ำมันดิบจากเวเนซุเอลาไปยังยุโรป ภายใต้ข้อกำหนดว่าน้ำมันดิบจากเวเนซุเอลาต้องนำไปขายให้กับยุโรป และห้ามนำไปขายที่อื่น เพื่อช่วยเหลือยุโรปในการลดการพึ่งพาน้ำมันดิบจากรัสเซีย และชดเชยปริมาณน้ำมันดิบที่หายไปจากการยุติการนำเข้าน้ำมันดิบรัสเซีย 

-  EIA คาดการณ์กำลังการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ปี 65 จะอยู่ที่ระดับ 11.92 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นราว 0.73 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า และคาดว่ากำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นอีกจนถึง 12.97 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 66 หลังราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับสูง จูงใจให้ผู้ผลิตเพิ่มงบลงทุนมากขึ้น ในขณะเดียวกันกำลังกลั่นสหรัฐฯปรับเพิ่มขึ้น 1.6% แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 63 ที่ 94.2% หลังความต้องการใช้น้ำมันฟื้นตัว กลับสู่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาด 

-  เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้บริโภคสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ เดือน พ.ค. ซึ่งมีแนวโน้มปรับลดลง เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ยอดค้าปลีกและผลผลิตอุตสาหกรรมจีน เดือน พ.ค. ตลาดคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และการตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ซึ่งตลาดคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (6 - 10 มิ.ย. 65)  

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 2.17 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 120.67 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 2.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 122.01 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล  ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 118.84 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น หลังสหภาพยุโรปมีมติยุติการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย ทำให้ตลาดกังวลว่าปริมาณน้ำมันดิบในยุโรปจะขาดแคลน ขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ณ สัปดาห์สิ้นสุด 3 มิ.ย. ปรับเพิ่มขึ้น 2 ล้านบาร์เรล สวนทางที่นักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะปรับลดลง