"บีโอไอ" ไฟเขียวปตท.ลงทุน EV 3.6 หมื่นล้าน

"บีโอไอ" ไฟเขียวปตท.ลงทุน EV 3.6 หมื่นล้าน

บอร์ดบีโอไอ ไฟเขียวโครงการลงทุนรถแบตเตอรี่ไฟฟ้า (BEV) ของบริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด มูลค่า 36,100 ล้านบาท เพิ่มศักยภาพไทยเป็นฐานผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมขยายเวลาลดหย่อนอากรขาเข้ากิจการผลิตแบตเตอรี่เป็น 5 ปี

วันที่ 13 มิ.ย. 2565 นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงการกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ของบริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด บริษัทร่วมทุนระหว่าง ปตท. และฟ็อกซ์คอนน์ มูลค่า 36,100 ล้านบาท 

นอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอได้เห็นชอบเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ยานพาหนะไฟฟ้า (อีวี) ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ ระดับโมดูล และกิจการผลิตแบตเตอรี่ที่มีความจุสูง โดยเพิ่มระยะเวลาการให้สิทธิและประโยชน์ลดหย่อนอากรขาเข้าวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น ในกรณีที่ผลิตจำหน่ายในประเทศ จาก 2 ปี เป็น 5 ปี ส่วนกรณีโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมและได้รับอนุมัติไปแล้ว สามารถแก้ไขโครงการเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ใหม่นี้ได้เช่นกัน 

 

ปัจจุบัน มีโครงการได้รับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ในกิจการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานพาหนะไฟฟ้าจำนวน 16 โครงการจาก 10 บริษัท รวมเงินลงทุน 4,820 ล้านบาท และมีโครงการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตแบตเตอรี่ที่มีความจุสูง รวม 3 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 6,746.1 ล้านบาท

"การส่งเสริมการลงทุนโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการเป็นฐานผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และโครงการผลิตวัตถุดิบต้นน้ำสำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะก่อให้เกิดการลงทุนใหม่ ๆ ที่มีการจ้างงานเป็นจำนวนมาก และมีผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไป”

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอยังได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงการขนาดใหญ่อื่นๆ ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ของบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด มูลค่า 162,318 ล้านบาท กิจการผลิตเส้นใยและกิจการผลิตผ้าที่มีคุณสมบัติพิเศษของกลุ่มบริษัท คิงบอร์ด โฮลดิ้งส์ มูลค่ารวม 8,230 ล้านบาท และการขยายกิจการผลิตไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่น ของบริษัท ไออาร์พีซี คลีน พาวเวอร์ จำกัด มูลค่า 2,830 ล้านบาท

“โครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนครั้งนี้ เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ สนับสนุนให้เกิดการลงทุนสาธารณูปโภคที่สำคัญในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)"

รวมทั้ง ยังได้เห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนกิจการนิคมหรือเขตอุสาหกรรมอัจฉริยะ โดยต้องจัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะ 5 ด้าน ได้แก่ Smart Facilities, Smart IT, Smart Energy, Smart Economy และบริการระบบอัจฉริยะด้านอื่นๆ อย่างน้อยอีก 1 ใน 3 ด้าน ดังนี้ Smart Good Corporate Governance, Smart Living และ Smart Workforce

พร้อมทั้งยกเลิกเงื่อนไขห้ามตั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ นอกจากนี้ โครงการที่ได้รับการส่งเสริมอยู่เดิม ทั้งที่สิทธิประโยชน์ภาษีเงินได้ยังไม่สิ้นสุดและสิ้นสุดแล้ว และโครงการที่ไม่เคยได้รับการส่งเสริม ก็สามารถขอรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมหรือขอรับการส่งเสริมเพื่อยกระดับเป็นนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมอัจฉริยะได้เช่นกัน 

รวมทั้งเปิดให้การส่งเสริมการลงทุนในกิจการพัฒนาระบบอัจฉริยะสำหรับนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมอัจฉริยะ เพื่อช่วยยกระดับการพัฒนานิคมหรือเขตอุตสาหกรรม ไปสู่การเป็นนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมอัจฉริยะ โดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี หากตั้งอยู่ในพื้นที่อีอีซี จะได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 5 ปี เพิ่มเติม

นอกจากนั้น เพื่อเป็นการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติและอำนวยความสะดวกในการประกอบกิจการในประเทศไทย บีโอไอได้กำหนดให้นิติบุคคลต่างด้าวที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนที่มีทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้วไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท

โดยถือครองที่ดินเป็นที่ตั้งสำนักงานของกิจการได้ไม่เกิน 5 ไร่ ที่ดินเป็นที่พักอาศัยสำหรับผู้บริหาร ผู้ชำนาญการต่างชาติ ได้ไม่เกิน 10 ไร่ และที่ดินเป็นที่พักอาศัยของคนงานได้ไม่เกิน 20 ไร่ หากหมดสภาพการเป็นผู้ได้รับการส่งเสริมจะต้องจำหน่ายหรือโอนที่ดินภายใน 1 ปี ทั้งนี้ ให้สำนักงานออกประกาศหลักเกณฑ์เพิ่มเติมตามความเหมาะสม