“บีโอไอ”ดึงเบลเยียมลุย“อีอีซี” นำร่องโรงงาน“ไบโอเบส”หนุน“บีซีจี”

“บีโอไอ”ดึงเบลเยียมลุย“อีอีซี”  นำร่องโรงงาน“ไบโอเบส”หนุน“บีซีจี”

การลงทุนในอุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Economy เป็นเป้าหมายสำคัญของไทยจะขับเคลื่อนประเทศด้วยจุดแข็งความหลากหลายทางชีวภาพ โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ปรับสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจการลงทุนมากขึ้น

สำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ และ Belgian-Luxembourg / Thai Chamber of Commerce (BeLuThai) จัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์ Thai-Belgian Business Forum ครั้งที่ 8 ในหัวข้อ “Living up to Global Challenges” เมื่อวันที่ 21 เม.ย.2565 เพื่อมุ่งให้เกิดการร่วมทุนกับบริษัทชั้นนำในยุโรป

BCG ในไทยครอบคลุมหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งขยายตัวต่อเนื่อง โดยคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรม BCG ในปี 2564 มีมูลค่า 152,434 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 123% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน จากจำนวนโครงการ 746 โครงการ เพิ่มขึ้น 63% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และตั้งแต่ปี 2558-2564 คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม BCG มีมูลค่ารวม 675,781 ล้านบาท รวม 2,996 โครงการ

ซีบีย์ เดอ การ์ทีเย ดีฟว์ เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเบลเยียมประจำประเทศไทย กล่าวว่า ทั้ง 2 ประเทศก้าวผ่านความยากลำบากจากวิกฤติโควิด-19 และเริ่มกลับมาฟื้นตัวตั้งแต่ปี 2564 แสดงถึงความยืดหยุ่นและการรับมือสถานการณ์วิกฤติได้ดี ทำให้บริษัทเอกชนเริ่มเคลื่อนไหวโดยการวางแผนขยายการลงทุน 

“ตั้งแต่เดือน 1 เม.ย.2565 เป็นต้นมา เริ่มมีการเดินทางระหว่างไทย-เบลเยียม ด้วยข้อกำหนดการควบคุมโรคที่ผ่อนคลายขึ้น โดยข้อมูลจากสายการบินไทยระบุว่าเที่ยวบินบรัสเซลล์-กรุงเทพ มีผู้โดยสารมากขึ้นและคาดว่าจะกลับไปมีจำนวนเที่ยวบินตรงระหว่าง 2 เมืองตามตารางปกติได้เร็วๆ นี้”
 

นอกจากนี้ ทั้ง 2 ประเทศมีมูลค่าการค้ารวมกัน 2,500 ล้านบาท และมีบริษัทเบลเยียม 40 บริษัทที่ลงทุนในไทย สร้างการจ้างงานและการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี โดยความสัมพันธ์ดังกล่าวมีแนวโน้มจะแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นด้วยศักยภาพของ 2 ประเทศ

ช่วงที่เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังฟื้นตัวผนวกปัญหาภาวะโลกร้อนถือเป็นความท้าทายที่ต้องรับมือด้วยวิธีการที่ต่างจากเดิม และ เบลเยียมมีศักยภาพเป็นพาร์ทเนอร์สำคัญในขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้นโยบาย BCG ของไทย ด้วยวิสัยทัศน์ของเบลเยียมในการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจพร้อมกับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ ธุรกิจที่สร้างพลังงานสะอาดจากไบโอแมสและขยะ

สำหรับโครงการล่าสุดที่เป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท ไบโอเบส ยุโรป ไพล็อท แพลนท์ (BBEPP) ประเทศเบลเยียม และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตั้ง บริษัท ไบโอเบส เอเชีย ไพล็อท แพลนท์ (BBAPP) ในพื้นที่ “Biopolis” เมืองนวัตกรรมชีวภาพที่รองรับการทำวิจัยขยายผล ซึ่งเป็นแพลทฟอร์มนวัตกรรมในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) จ.ระยอง

ทั้งนี้ จะเป็นโรงงานต้นแบบแห่งแรกในไทยและอาเซียนที่มีคุณสมบัติโดดเด่น แตกต่างจากบริษัทอื่นที่ประกอบธุรกิจลักษณะเดียวกัน เพราะ BBAPP มีพันธกิจในการพัฒนาและขยายขนาดผลิตภัณฑ์ชีวภาพและกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน รวมทั้งรองรับการวิจัยและพัฒนาจากภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ในระดับขยายขนาดกระบวนการหรือผลิตภัณฑ์ชีวภาพจากระดับห้องปฏิบัติการสู่ระดับนำร่องและต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์

ซ่อนกลิ่น พลอยมี รองเลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า ไทยเหมาะสมที่จะลงทุนใน BCG เพราะมีจุดแข็งในความหลากหลายทางชีวภาพอันดับ 15 ของโลก อีกทั้งเป็นหนึ่งในผู้นำการผลิตและส่งออกอ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และผลผลิตทางการเกษตร แต่ปัจจุบันชีวมวลมากกว่า 40 ล้านตันยังไม่ได้รับการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

บีโอไอออกมาตรการส่งเสริมการลงทุน BCG ครอบคลุมกิจการจำนวนมากตลอดห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งปรับปรุงให้สอดคล้องบริบทเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงตาม BCG หลายด้าน เช่น มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ ที่มีทั้งมาตรการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานทดแทน หรือ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมาตรการด้านการยกระดับไปสู่มาตรฐานเพื่อความยั่งยืนในระดับสากล

รวมทั้งมีการปรับปรุงประเภทกิจการและสิทธิประโยชน์ โดยให้ความสำคัญต่อเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม คือ กิจการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและโรงแยกก๊าซ ในกรณีใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน โดยให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และกิจการห้องเย็นหรือกิจการห้องเย็นและขนส่งห้องเย็น ซึ่งหากใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ จะให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี

“บีโอไอ”ดึงเบลเยียมลุย“อีอีซี”  นำร่องโรงงาน“ไบโอเบส”หนุน“บีซีจี” นอกจากนี้ บีโอไอทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการระบบพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรม BCG ของไทย โดยจะสร้างวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ 20,000 คนต่อปี และให้ผู้ประกอบการร่วมออกแบบหลักสูตรตามความต้องการ รวมถึงเปิดโอกาสให้บุคลากรทักษะสูงจากต่างประเทศเข้ามาทำงานผ่าน Smart Visa และ Long-term Resident Visa ประเภท Highly Skilled Professionals