บีโอไอดึง“สหรัฐ-ยุโรป” ลงทุนอุตสาหกรรมอีวีไทย

บีโอไอดึง“สหรัฐ-ยุโรป” ลงทุนอุตสาหกรรมอีวีไทย

ประเทศไทยเริ่มมีการการส่งเสริมการผลิตรถยนต์เพื่อทดแทนการนำเข้าเมื่อปี 2503 และอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยขยายตัวต่อเนื่องผ่านมาตรการส่งเสริมหลายรูปแบบ จนมาถึงปี 2560 เริ่มมีการออกมาตรการส่งเสริมการลงทุน อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวี

รัฐบาลได้ส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ โดยเน้นต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง พร้อมกำหนดมาตรการสนับสนุนการผลิตอีวีทำให้คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนผลิตอีวีชิ้นส่วนประกอบและแบตเตอรี่เพิ่มขึ้น

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นหน่วยงานหลักที่ผลักดันการลงทุนอุตสาหกรรมอีวี โดยประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายการผลิตรถอีวีสัดส่วน 30% ของการผลิตยานยนต์รวมภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) 

 

นอกจากนี้ ไทยกำหนดเป้าหมายมีปริมาณการใช้รถโดยสารและปิ๊กอัพไฟฟ้า 50% ภายในปี 2030 หรือ จำนวน440,000 คันต่อปี และมีการผลิตเป็น 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งประเทศภายในปี 2030 หรือ จำนวน 725,000 คันต่อปี โดยมาตรการทั้งหมดจะเพิ่มอุปสงค์แบตเตอรี่และสถานีชาร์จไฟฟ้า จึงเป็นโอกาสเข้ามาลงทุนอีวีในไทย

บีโอไอ สรุปการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนประกอบยานยนต์ไฟฟ้า 31 โครงการ ถึงเดือนเม.ย.2565 รวม 31 โครงการ กำลังการผลิต 666,855 คัน วงเงินลงทุนรวม 57,870.3 ล้านบาท แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 

1.โครงการ HEV จำนวน 7 โครงการ กำลังการผลิต 438,455 คัน วงเงินลงทุน 37,204.8 ล้านบาท 

2.โครงการ PHEV จำนวน 7 โครงการ กำลังการผลิต 92,600 คัน วงเงินลงทุน 7,748.7 ล้านบาท

3.โครงการ BEV จำนวน 14 โครงการ กำลังการผลิต 131,200 คัน วงเงินลงทุน 10,522.5 ล้านบาท

4.โครงการ Battery Electric Bus จำนวน 3 โครงการ กำลังการผลิต 4,600 คัน วงเงินลงทุน 2,394.3 ล้านบาท

ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ณ นครนิวยอร์ค และสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ณ นครลอสแอนเจลิส ได้จัดงานเสวนาออนไลน์ ในหัวข้อ “Thailand's Electric Vehicle and Mobility Sector” เมื่อวันที่ 18 พ.ค.2565 เพื่อชักจูงการลงทุนผลิตอีวีในไทย

ซ่อนกลิ่น พลอยมี รองเลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า ไทยมีการเตรียมความพร้อมด้านปัจจัยรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน เช่น ข้อตกลงการค้าเสรี เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมทั้งมีกลุ่มคลัสเตอร์อีวีรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมอีวีรวมถึงการออกมาตรการส่งเสริมการใช้รถอีวีกระตุ้นดีมานต์ในประเทศมาตรการด้านภาษี และการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวข้องกับอีวีเช่น สถานีชาร์จไฟฟ้า และการส่งเสริมโรงงานผลิตแบตเตอรี่ เป็นต้น

ทั้งนี้ ไทยมีความน่าสนใจสำหรับนักลงทุนยุโรปเพราะมีปัจจัยรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนเช่น ข้อตกลงการค้าเสรี อีอีซี รวมทั้งมีกลุ่มคลัสเตอร์อีวีรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมอีวี ซึ่งบีโอไอมีแผนดึงต่างชาติเข้ามาลงทุนอีวีในไทย

ทิม เอเวอส์ กรรมการผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอชดีเอ็มซี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตจักรยานยนต์ฮาร์เลย์ เดวิดสัน กล่าวว่า การตัดสินใจลงทุนของบริษัทได้คำนึงความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานอีโคซิสเต็มการใช้รถอีวีในไทยรวมถึงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน ซึ่งการที่ไทยเป็นประเทศผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ของภูมิภาคทำให้มีความพร้อมด้านซัพพลายเชน อีกทั้งเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อในประเทศ นอกจากนั้นอีกปัจจัยสำคัญคือบุคคลากรมีทักษะ

สำหรับการลงทุนในประเทศไทยเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์เมื่อเดือน ก.ย.2561 โดยตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด จ.ระยอง 

ทั้งนี้ โรงงานดังกล่าวมีสายการผลิตรถจักรยานยนต์ 3 สายการผลิต โดยยานยนต์ไฟฟ้ายังคงเป็นส่วนหนึ่งในแผนธุรกิจของบริษัท และ ยังคงติดตามการคาดการณ์ของตลาด ห่วงโซ่อุปทาน ความพร้อมและสิ่งจูงใจทั่วไทยและภูมิภาคอาเซียน

ส่วนการสนับสนุนจากบีโอไอมีความสำคัญต่อความสำเร็จของโครงการขยายตลาดของบริษัท ซึ่งเลือกการลงทุนในประเทศไทยมากกว่าภูมิภาคอื่น และพิจารณาจากหลายปัจจัย ประกอบด้วย บุคลากร โครงสร้างพื้นฐาน ความสะดวกในการทำธุรกิจ เครือข่ายยานยนต์ ห่วงโซ่อุปทาน ผลประโยชน์การลงทุน

บีโอไอดึง“สหรัฐ-ยุโรป” ลงทุนอุตสาหกรรมอีวีไทย รายงานข่าวจากบีโอไอระบุว่า ที่ผ่านมาบีโอไอดำเนินการชักจูงการลงทุนอีวีต่อเนื่อง โดยเฉพาะการดึงนักลงทุนจากยุโรปและสหรัฐมาลงทุนอีวี โดยสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุนในต่างประเทศ ณ กรุงปารีส และนครแฟรงก์เฟิร์ต จัดสัมมนาออนไลน์หัวข้อ “Business and Investment Opportunities in the Electrical Vehicle Sector in Thailand” เมื่อวันที่ 16 พ.ย.2564

การสัมมนาดังกล่าวมีข้อเสนอจาก บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) ที่ต้องการให้ไทยเตรียมพร้อมปัจจัยสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานอีวี อาทิ สถานีชาร์จไฟฟ้า รวมทั้งมีมาตรการที่ทำให้ราคารถอีวีเข้าถึงได้ และเปิดโอกาสให้ดัดแปลงรถเครื่องยนต์เก่าสู่รถเครื่องยนต์ไฟฟ้าได้

สำหรับบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) เห็นว่าการลงทุนเทคโนโลยีรถอีวีในไทยยังมีโอกาสอีกมาก เพราะเทคโนโลยีรถอีวีมีเปลี่ยนแปลงเร็ว อีกทั้งตลาดรถอีวียังมีขนาดเล็กและคาดเดาทิศทางไม่ได้ ด้วยสภาวะการแข่งขันเพื่อดึงดูดนักลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน และผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทานรถอีวียังมีจำกัด โดยบีเอ็มดับเบิลยูหาพาร์ทเนอร์มาร่วมพัฒนาเทคโนโลยีอีวีในไทย

รวมทั้งเชื่อว่าเทคโนโลยีปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) จะมีส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงสู่การใช้รถแบตเตอรี่ไฟฟ้าแบบเต็มรูปแบบ