คุมเข้มราคาสินค้ารับ ‘ลอยตัว’ น้ำมันดีเซล

จากกรณีที่รัฐบาลจะปล่อยให้น้ำมันดีเซลลอยตัวตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ เป็นต้นไป ทำให้ประชาชนหวั่นวิตกว่าราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคจะปรับขึ้นราคากันเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะสร้างความเดือดร้อนและเพิ่มภาระค่าครองชีพให้สูงขึ้นอีก

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ระบุ จากกรณีที่รัฐบาลจะปล่อยให้น้ำมันดีเซลลอยตัวตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ เป็นต้นไป ทำให้ประชาชนหวั่นวิตกว่าราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคจะปรับขึ้นราคากันเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะสร้างความเดือดร้อนและเพิ่มภาระค่าครองชีพให้สูงขึ้นอีกนั้น กระทรวงพาณิชย์มีแนวทางวิเคราะห์และดูแลต้นทุนสินค้าอุปโภคและบริโภคอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว แม้ราคาน้ำมันดีเซลจะปรับขึ้น ก็ไม่ได้หมายความว่าสินค้าทุกกลุ่มจะปรับราคาสูงขึ้น โดยจะต้องดูต้นทุนที่แท้จริงของราคาสินค้าแต่ละรายการว่ามีต้นทุนสูงขึ้นจริงแค่ไหน ทั้งนี้ หากต้นทุนสินค้าบางรายการมีการปรับขึ้นจริง ก็ต้องดูว่าต้นทุนสูงขึ้นแค่ไหน หากต้นทุนสินค้าชนิดขึ้นไปมากก็คงต้องปล่อยให้ปรับเพิ่มราคาขึ้นตามต้นทุนที่แท้จริง แต่หากบางรายการสินค้าต้นทุนขึ้นเพียงเล็กน้อยแต่จะขอปรับเพิ่มเท่ากับสินค้าที่ได้รับผลกระทบมากก็คงไม่ได้รับการพิจารณาแน่นอน 

นอกจากนี้ ตามข้อกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ สินค้าใดก็ตามอยู่ในกลุ่มสินค้าที่ต้องควบคุมการปรับราคา จะต้องแจ้งมายังกรมการค้าภายในได้พิจารณาและวิเคราะห์ถึงต้นทุนที่แท้จริงก่อน และหากรายการสินค้าใดเป็นกลุ่มที่เฝ้าติดตามหากจะปรับขึ้นราคาสินค้า จะต้องรายงานของกรมการค้าภายในทราบก่อนปรับราคา หากรายการสินค้าใดกระทบต้นทุนสูงขึ้นมากและกรมการค้าภายในเห็นว่ากระทบต้นทุนมากจริงก็จะต้องให้ปรับราคาสินค้าขึ้นไปได้เพื่อให้เป็นกลไกตลาด แต่หากรายการยังไม่กระทบต้นทุนมากก็จะขอให้แบกรับต้นทุนไปก่อนเพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภคมากเกินไปและที่สำคัญจะต้องไม่เอารัดเอาเปรียบหรือฉวยโอกาสปรับราคาสินค้าขึ้นเกินความจำเป็น

อย่างไรก็ตาม น้ำมันดีเซลเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนค่าขนส่งและต้นทุนสินค้า แต่น้ำมันไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมดของต้นทุนการผลิต โดยค่าขนส่งไม่ถึง 10% (สูงสุด 8.75%) ของต้นทุนสินค้า และค่าน้ำมันดีเซลคิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ย 40% ของต้นทุนค่าขนส่ง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดและน้ำหนักของสินค้าแต่ละรายการ น้ำมันดีเซลมีผลกระทบต่อต้นทุนสินค้าแต่ละรายการไม่เท่ากัน โดยรวมถือว่ามีผลน้อยมาก โดยราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นทุกๆ 0.50 บาท ต่อลิตร จะมีผลต่อต้นทุนสินค้า 0.0002% - 0.08% กรณีปรับขึ้นทุกๆ 1 บาท ต่อลิตร จะมีผลต่อต้นทุนสินค้า 0.0004% -0.15%  โดยกรมการค้าภายในดูแลอย่างใกล้ชิดในเรื่องราคาสินค้าหากมีการเลิกมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล

สำหรับแผนดำเนินงานเพื่อลดภาระค่าครองชีพและเพิ่มช่องทางการซื้อสินค้าราคาประหยัดให้แก่ประชาชน โดยจัดทำโครงการ Mobile พาณิชย์ลดราคา ช่วยประชาชน จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพราคาถูกว่าท้องตลาด ลดสูงสุด 60% สินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ไข่ไก่เบอร์ M คละใหญ่ เบอร์ 2-3 น้ำตาลทราย ข้าวสาร น้ำมันปาล์ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แชมพู สบู่ ซอสปรุงรส  น้ำยาซักผ้า ยาสีฟัน หน้ากากอนามัย เป็นต้น สินค้าเกษตรตามฤดูกาล เช่น มะม่วง ทุเรียน สับปะรด เป็นต้น ซึ่งช่องการจำหน่ายแบ่งเป็น รถ Mobile 25 คัน และจุดจำหน่าย 75 จุด สถานที่จำหน่ายในพื้นที่เขต กทม. 50 เขต ตามแหล่งชุมชน เคหะชุมชน หรือสำนักงานเขต ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบจุดจำหน่ายได้ที่เว็บไซต์ของกรมการค้าภายใน เริ่ม 1 พฤษภาคม 2565