บล.กสิกรไทย มองเฟดขึ้นดอกเบี้ยกดดันหุ้นโลกตลอดเดือนพ.ค. แนะเก็งกำไรหุ้นส่งออก-ธีมเปิดประเทศ

บล.กสิกรไทย มองเฟดขึ้นดอกเบี้ยกดดันหุ้นโลกตลอดเดือนพ.ค. แนะเก็งกำไรหุ้นส่งออก-ธีมเปิดประเทศ

บล.กสิกรไทย มองเฟดคุมเข้มนโยบายการเงินจ่อขึ้นดอกเบี้ย 0.5% จะกดดันตลาดหุ้นตลอดทั้งเดือน พ.ค. แนะผู้รับความเสี่ยงได้ต่ำ "ชะลอลงทุน" ส่วนผู้รับความเสี่ยงสูงแนะนำ “เก็งกำไร” กลุ่มส่งออก (ASIAN, SAPPE) และกลุ่มเปิดเมือง (BEM, CPN, MINT, CENTEL, AMATA )

บล.กสิกรไทย ประเมินตลาดหุ้นไทยสัปดาห์หน้า (25-29 เม.ย.) จะแกว่งตัวในกรอบ 1,666 -1,705 จุด โดยปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อตลาดหุ้นโลกในระยะถัดไป คือ ถ้อยแถลงของประธาน Fed ส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินตึงตัว (Hawkish) โดยเตรียมขึ้นดอกเบี้ย 50 bps ในการประชุม Fed รอบถัดไป 3-4 พ.ค. 2565  เพื่อลดความร้อนแรงเงินเฟ้อสหรัฐ ซึ่งล่าสุด สูงสุดในรอบ 40 ปี 

ล่าสุด Fed Watch ของ CME Group สะท้อนว่าตลาดคาดการประชุม Fed ในรอบ พ.ค. มีโอกาสสูงถึง 97.6% ที่ Fed จะขึ้น 50 bps ส่วนการประชุมในรอบเดือน มิ.ย. คาดโอกาส 68.3% ที่ Fed จะขึ้น 75 bps, และการประชุมรอบเดือน ก.ค. มีโอกาส 56% ที่ Fed จะขึ้น 50 bps โดยขึ้นติดต่อกันทุกรอบในการประชุม และคาดดอกเบี้ยสหรัฐ ณ สิ้นปีจะอยู่ที่ 2.75-3%

KS  ประเมินว่าประเด็นเรื่องการขึ้นดอกเบี้ย 50bps ในการประชุมเดือน พ.ค. ตลาดได้รับรู้ไปแล้วระดับนึง แต่ภาพของดอกเบี้ยสหรัฐที่เป็นขาขึ้น และในการประชุมรอบเดือน พ.ค. จะเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่  Fed จะเริ่มปรับลดขนาดงบดุล 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน ทำให้ระยะสั้นเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นสหรัฐ โดยเฉพาะกลุ่ม Technology ปรับลงแรง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ Sensitive กับดอกเบี้ยขึ้น   

ประเมินว่าประเด็นเรื่อง Fed จะยังกดดันตลาดหุ้นตลอดเดือน พ.ค. โดย  KS ทำการศึกษาสถิติในอดีตรอบที่แล้วในปี 2561 รอบที่  Fed ลด Balance Sheet ลง 373 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 9.3% ของยอดคงเหลือของในปี 2561 โดยพบว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ 10 ปี เพิ่มขึ้น 28 bps, ดัชนี MSCI ACWI ลดลง 11% ในปี 2561 และค่าเงินบาทอ่อนค่า 

เชื่อว่าในรอบนี้มีโอกาสคล้ายกัน คืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐมีโอกาสปรับขึ้น แต่ Upside การขึ้นไม่มากแล้ว ส่วนตลาดหุ้นโลกและหุ้นไทยจะปรับฐานลง แต่เชื่อว่าจะไม่ลงแรง และลงลึกเหมือนอดีต  KS ประเมิน แนวรับของ SET index ครั้งนี้ 1,665 จุด 

ส่วนราคาน้ำมันดิบโลกยังได้ปัจจัยหนุนจากสงครามรัสเซียยูเครนยืดเยื้อ ล่าสุด ฝั่งสหรัฐจะส่งชุดอาวุธใหม่มูลค่า 800 ล้านดอลลาร์ไปยังยูเครน และอีก 500 ล้านดอลลาร์ในการสนับสนุนทางการเงินโดยตรงกับยูเครน ถือเป็น Sentiment บวกต่อ PTT, PTTEP และกลุ่มถ่านหิน BANPU LANNA

แต่กลายเป็น Sentiment ลบต่อหุ้นกลุ่ม Anti Commodity อาทิ (EPG, SCGP, BGRIM, GULF, OR, AAV, BA) โดยรวมประเมินราคาโภคภัณฑ์ยังผันผวนรายวันแนะนำเพียง Trading

ด้านปัจจัยในประเทศได้รับปัจจัยหนุนหลังที่ประชุม ศบค. ผ่อนคลายนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศระยะที่ 2 โดยยกเลิกระบบ TEST&GO เริ่ม 1 พ.ค. นี้ และมีการปรับโซนสีจังหวัดให้ผ่อนคลายขึ้น โดยรวมเป็น Sentiemnt บวกต่อตลาดหุ้นไทยและหุ้นเปิดเมือง ทั้งสายการบิน ท่องเที่ยว โรงแรม ฯลฯ 

และติดตามการรายงานผลประกอบการงวดไตรมาส 1 ปี 2565 หลังจากกลุ่มธนาคารรายงานงบฯ ออกมาส่วนใหญ่ดีกว่าคาดเล็กน้อย และสัปดาห์ถัดไปจะเป็นฝั่ง Real sector จะทยอยประกาศ  โดยนักวิเคราะห์อยู่ในช่วงพรีวิว

KS รวบรวมบริษัทภายใต้ที่ทำการศึกษา ซึ่งคาดว่ากำไรไตรมาส 1 จะออกมาเติบโต YoY และ QoQ  คือ BH, BDMS, TOP, GFPT,  PR9, EPG, GLOBAL

ส่วนทิศทางเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อ โดยยังมีปัจจัยหนุนจากดอกเบี้ยสหรัฐที่เป็นขาขึ้น และ ธปท. คาดยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย และสถิติย้อนหลัง 10 ปีพบว่าเดือน พ.ค. เงินบาทอ่อนค่าเฉลี่ย 1.03% กลายเป็นปัจจัยต่อบวกกับกลุ่มส่งออก ASIAN, SAPPE

กลยุทธการลงทุน KS มีคำแนะนำดังนี้

- นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำแนะนำ "ชะลอการลงทุน"

- ผู้รับความเสี่ยงสูง แนะนำ “เก็งกำไร Trading” กลุ่มส่งออก (ASIAN, SAPPE) กลุ่มที่ได้กระแสบวกจากการเปิดเมือง แนะนำ (BEM, CPN, MINT, CENTEL, AMATA )

- ผู้ลงทุนระยะกลาง แนะนำหากราคาหุ้นอ่อนตัวแนะนำสะสม กลุ่มการเงิน (MTC, SAWAD, HENG,MICRO) กลุ่มค้าปลีก (DOHOME ), กลุ่มการแพทย์ (BH, BDMS) กลุ่มโรงไฟฟ้า (GULF, GUNKUL) กลุ่มไอซีที (DTAC, TRUE)    

กลุ่มที่ยังคงแนะนำหลีกเลี่ยงเข้าลงทุนคือ กลุ่มปิโตรเคมี, อิเล็กทรอนิกส์ และเลี่ยงหุ้นที่ราคาอยู่โซนบนและมีค่า P/E สูง

โดยมีหุ้น Top pick ประจำสัปดาห์หน้าได้แก่

- ASIAN (ราคาพื้นฐาน  23.70 บาท)  ได้ Sententiment จากแนวโน้มเงินบาทที่อ่อนค่า และเราคาดกำไรงวดไตรมาส 1 ปี 2565 จะอยู่ที่ 254 ล้านบาท (+18.1% YoY และ -3.9% QoQ) เนื่องจากอุปทานอาหารทะเลแช่แข็งและอาหารสัตว์เลี้ยงคาดจะเพิ่มขึ้น YoY จากกำลังการผลิตอาหารทะเลแช่แข็งสำเร็จรูป (+30%) ที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2564 

ส่วนผลประกอบการงวดไตรมาส 2 ปี 2565 คาดยอดขายอาหารสัตว์เลี้ยงได้แรงหนุนจากการเพิ่มกำลังการผลิตใหม่ 6 พันตัน/ปี (+17%) ในช่วงปลายไตรมาส 2 ปี 2565 ขณะที่ยอดขายอาหารแช่แข็งและอาหารสัตว์น่าจะฟื้นตัวเพราะไตรมาส 2 เป็นฤดูกาลที่ดีขึ้น

ประเด็นเศรษฐกิจที่น่าติดตาม

- 25 เม.ย. : การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบที่ 2, ดัชนีบรรยากาศทางธุรกิจของเยอรมนีจากสถาบัน Ifo เดือน เม.ย. ตลาดคาด 88 จุด จาก 90.8 จุด ในเดือน มี.ค.

- 26 เม.ย. : ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน (เดือนต่อเดือน) เดือน (มี.ค.) ตลาดคาด 0.5% MOM จาก -0.6% MoM ในเดือน ก.พ., รายงานความเชื่อมั่นผู้บริโภคจากซีบี (CB Consumer Confidence) (เม.ย.) ของสหรัฐ ตลาดคาด 106 จุด จาก 107.2 จุด ในเดือน มี.ค., ยอดขายบ้านใหม่ในสหรัฐเดือน (มี.ค.) ที่ 7.76 แสนหลัง 

- 27 เม.ย. : รายงานกำไรภาคอุตสาหกรรมของจีน (ปีต่อปี) (ก.พ.), ยอดขายบ้านที่รอการปิดการขายในสหรัฐ (เดือนต่อเดือน) (มี.ค.) ตลาดคาด 1% MOM จาก -4.1% MoM ในเดือน ก.พ.

 - 28 เม.ย. : ดัชนียอดขายปลีกของญี่ปุ่น (ปีต่อปี) (มี.ค.) ตลาดคาด -0.3% YoY จาก -0.8%YoY ในเดือน ก.พ., ดัชนีจีดีพีของสหรัฐ (ไตรมาสต่อไตรมาส) (ไตรมาส 1) ตลาดคาด 1% QoQ จาก 6.9% QoQ

 - 29 เม.ย. : ดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีนจากสถาบัน Caixin (เม.ย.) ตลาดคาด 50 จุด จาก 48.1 จุด ในเดือน มี.ค.