“รถบรรทุก” จ่อขึ้นค่าขนส่งหลังอั้นมา 4 เดือน หากรัฐปล่อยดีเซลทะลุ 30 บาท

“รถบรรทุก” จ่อขึ้นค่าขนส่งหลังอั้นมา 4 เดือน หากรัฐปล่อยดีเซลทะลุ 30 บาท

“สหพันธ์การขนส่ง” จ่อปรับขึ้นค่าขนส่งอีกครั้งหลังอั้นมา 4 เดือน ภายหลังมาตรการอุ้มดีเซล 30 บาทต่อลิตร ครบกำหนดสิ้นเดือนเม.ย.นี้ แนะ “สุพัฒนพงษ์” “ลดภาษีดีเซล-ดึงไบโอดีเซล” ออกเหลือ B0 คงราคา 30 บาทต่อลิตรต่อในภาวะวิกฤตพลังงานพุ่ง

นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เตรียมประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับกรณีการจะปรับขึ้นราคาค่าขนส่ง เพื่อรับมือกับมาตรการตามนโยบายมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลโดยจะปล่อยให้เกิน 30 บาทต่อลิตรในวันที่ 1 พ.ค. 2565 นี้ และมีแนวโน้มจะขยับขึ้นเป็นขั้นบันไดโดยคาดว่าจะให้มีราคาเบื้องต้นที่ 32 บาทต่อลิตร (โดยเทียบกับราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ยังคงมีราคาสูงในขณะนี้) ที่ราคาขายหน้าปั๊มหากไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลจะอยู่ที่ราว 40 บาทต่อลิตร

ทั้งนี้ ในการจะปรับขึ้นราคาค่าขนส่ง ซึ่งจะขึ้นเท่าไหร่นั้น จะต้องดูอีกครั้ง เพราะราคาน้ำมันดีเซลที่ขยับขึ้นถือเป็นต้นทุนของภาคขนส่ง ยืนยันว่ากระทบแน่นอน สิ่งที่สหพันธ์ฯ เคยประคับประคองราคาค่าขนส่งโดยอั้นไว้ และไม่ประกาศปรับขึ้นราคาตั้งแต่เดือนม.ค. 2565 ก็เพราะเห็นว่าจะสร้างปัญหาและกระทบกับประชาชนโดยตรงในหลายๆ เด้ง โดยเฉพาะราคาสินค้าที่จะต้องสูงขึ้นตามมาด้วย จึงได้พยายามกดไว้

“เร็วๆ นี้จะออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง พร้อมแฉกลไกน้ำมันให้ประชาชนทั้งประเทศได้ทราบกันอีกครั้ง เราหยุดรถก็แล้ว ประท้วงแล้วก็ยังไม่รับฟัง ซึ่งการจะบุกไปทำเนียบรัฐบาลก็จะเสี่ยงต่อการที่เราจะถูกดำเนินคดี เพราะการทำอะไรของเรามีกรอบของกฏหมายที่บังคับอยู่แล้ว การที่เราจะทำอะไรต้องคิดให้รอบคอบ จะทำเหมือนการประท้วงทั่วไปเราทำไม่ได้ แต่ยืนยันว่าภายในเดือนนี้จะมีการเคลื่อนไหวอีกแน่นอน” นายอภิชาติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในเมื่อนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ไม่มองเห็นปัญหา สหพันธ์ฯ จึงจำเป็นที่จะต้องประกาศขึ้นราคาค่าขนส่งอย่างแน่นอน แต่จะเป็นกี่เปอร์เซ็นนั้น จะขอดูนโยบายรัฐบาลอีกครั้งว่าจะปรับอย่างไร จะยังคงลอยตัวหรือจะช่วย 50% โดยเอาฐาน 30 บาทต่อลิตร เป็นที่ตั้งหรือไม่ อย่างไร

สำหรับข้อเรียกร้องที่สหพันธ์ฯ ยืนยันให้กระทรวงพลังงานใช้วิธีนี้คือ 1. การตัดส่วนผสมของไบโอดีเซลออกทั้งหมดให้เป็น B0 ในช่วงที่น้ำมันตลาดโลกมีราคาแพง จะช่วยลดราคาดีเซลลงมาเกือบ 2 บาทต่อลิตร 2. เก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเท่ากับภาษีสรรพสามิตเครื่องบิน จะช่วยลดลงมาได้ถึง 4-5 บาทต่อลิตร และ 3. ในสภาวะราคาน้ำมันโลกยังแพง อาจจะยังคงยืนลิมิตดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตรไปก่อน เพราะสหพันธ์ฯ เคยขอให้ปรับลงมาที่ 25 บาทต่อลิตร ซึ่งช่วงนั้นราคาน้ำมันตลาดโลกยังไม่สูงเท่าช่วงนี้ แต่หากใช้วิธีที่ 1 และ 2 ก็จะทำได้โดยไม่ต้องใช้เงินจากสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เป็นหมื่นๆ ล้านบาท มาอุดหนุน

“จริงๆ แล้ว หากกระทรวงพลังงาน จะบริหารจัดการหรือทำงานอย่างจริงจัง ไม่จำเป็นจะต้องช่วยหรือหาวิธีอะไรเลย ไม่จำเป็นต้องใช้เงินมากมายไปอุ้ม แต่จะต้องช่วยให้สุดก่อน ค่อยมาประกาศให้ประชาชนรับรู้ว่ารัฐบาลได้ทำเต็มที่แล้ว นี่ยังไม่ได้ทำอะไรเต็มที่เลย มัวแต่ปกป้องกลุ่มทุนใหญ่ที่เป็นนักการเมือง และตั้งหน้าตั้งตาจะใช้น้ำมันปาล์มซึ่งกลุ่มนี้ปลูกปาล์มเป็นหลักหมื่นไร่ พลเมืองปลูกปาล์มมีแค่ 4-5 แสนคนเท่านั้น” นายอภิชาติ กล่าว

ทั้งนี้ หากเทียบราคาต้นทุนน้ำมัน 1 ลิตร ของน้ำมันปาล์มขณะนี้ราคาอยู่ที่ 52 บาท ส่วนน้ำมันดีเซลขณะนี้ราว 20 กว่าบาท ซึ่งไม่เข้าใจว่ากระทรวงพลังงานจะเอามาผสมให้มีราคาแพงเพื่ออะไร ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตนได้ถามตลอด ซึ่งถามไปก็ไม่มีคำตอบที่สมเหตุสมผล กลัวแต่จะเสียฐานเสียง แล้วเอาประชาชนทั้งประเทศกว่า 50 ล้านคน มาเป็นตัวประกัน

นายอภิชาต กล่าวว่า รัฐบาลเคยเสนอให้เงินช่วยเหลือสมาชิกสหพันธ์ฯ มาแล้วถึง 2 ครั้ง โดยเสนอเงินช่วยเหลือเดือนละ 3,000 บาทต่อคัน ในระยะเวลาเบื้องต้น 3 เดือน ซึ่งจำนวนรถขนส่งที่ขึ้นทะเบียนกับสหพันธ์ฯ ราว 4 แสนคัน รวมค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลจะนำมาให้ถือว่าหลายพันล้านบาท ซึ่งถ้าจะรับกลุ่มสหพันธ์ฯ รับไปนานแล้ว และจะยังคงเจตนารมณ์เดิมคือ เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศได้ประโยชน์ร่วมด้วย ถ้าประชาชนไม่ได้ก็จะไม่เอา

ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น ถือเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจ ทุกวันนี้สภาวะเศรษฐกิจก็ไม่ดี บวกกับปัญหาสงครามทางการเมืองระหว่างรัสเซียกับยูเครน ก็ยังคงกระทบหนักเข้าไปอีก แต่สิ่งที่กระทบรัฐบาลยังไม่ทันได้แก้ไขเลย เท่าที่ทราบสต็อกน้ำมันที่ซื้อไว้ในช่วงราคาที่ต่ำก็ยังไม่ได้นำออกมาใช้ และเหลืออีกตั้งเยอะ ส่วนตัวคิดว่ามันฉ้อฉลเกินไป” นายอภิชาติ กล่าว