รบ. “เศรษฐา1” VS “พรรคส้ม” สู้ไป แก้ปัญหา ฟื้นศรัทธาไป

รบ. “เศรษฐา1” VS “พรรคส้ม” สู้ไป แก้ปัญหา ฟื้นศรัทธาไป

ใกล้คลอดเต็มทีแล้ว ครม. “เศรษฐา1” หลัง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เผยว่า ภายใน 3-4 วัน

การจัดสรรโควตารัฐมนตรี ก็จะเรียบร้อย ซึ่งว่ากันว่า ครม. “เศรษฐา1” ที่ยังไม่นิ่ง เพราะการจัดสรรรัฐมนตรีของพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค ยังไม่ลงตัว นั่นเอง

ส่วนที่สื่อหลายสำนักเปิดเผยค่อนข้างตรงกัน มีดังนี้

พรรคเพื่อไทย 

  • นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ควบ รมว.คลัง 
  • นายภูมิธรรม เวชยชัยรองนายกฯ ควบ รมว.พาณิชย์ 
  • นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข 
  • นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม 
  • นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 
  • นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมว.ต่างประเทศ 
  • น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา 
  • นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รมว.ประจำสำนักนายกฯ
  • นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี 
  • นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี

ขณะรัฐมนตรีช่วยกระทรวงนั้น ยังมีบางตำแหน่งที่ยังไม่นิ่ง แต่ที่มีความชัดเจนแล้ว อาทิ 

  • นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ อดีตนายกอบจ.กาญจนบุรี ได้รมช.คมนาคม 
  • นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม 
  • นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง รมช.คลัง 
  • นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.มหาดไทย
  • นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะทำงานด้านนโยบายพรรค พท. จะได้เก้าอี้ “เลขาธิการนายกฯ” 

 

พรรคภูมิใจไทย 

  • นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย 
  • พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ นั่งรมว.แรงงาน 
  • นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมว.พัฒนาสังคมฯ 
  • นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ อยู่ระหว่างการจัดสรรกระทรวง

รัฐมนตรีช่วยกระทรวง 3 คน ประกอบด้วย 

  • นายชาดา ไทยเศรษฐ์ 
  • น.ส.ศุภมาศ อิศรภักดี 
  • นางสุขสำรวย วันทนียกุล 
  • ยังไม่ชัดเจนอีก 1 รายชื่อ

 

พรรคพลังประชารัฐ 

  • พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชาย “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตรวงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ในฐานะประธานที่ปรึกษาพรรค นั่ง รองนายกฯ ควบรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 
  • ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ 

โควตา 2 รัฐมนตรีช่วยกระทรวง มีชื่อ

  • นายสันติ พร้อมพัฒน์ รองหัวหน้าพรรค 
  • น.ส.ตรีนุช เทียนทอง ที่มีความใกล้ชิด “บิ๊กป้อม”

 

พรรครวมไทยสร้างชาติ 

  • นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.พลังงาน 
  • ม.ล.ชโยทิต กฤดากรรมว.อุตสาหกรรม 

ซึ่งยังอาจสลับชื่ออีกครั้ง ส่วน 2 รมช. ยังไม่แน่ชัด

 

พรรคชาติไทยพัฒนา : นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พาณิชย์ 

 

พรรคประชาชาติ : พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม

 

ความจริง แค่นี้ก็พอมองออกว่า หน้าตา “รัฐบาลเศรษฐา” เป็นอย่างไร แปลกใหม่กว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างเห็นได้ชัดก็คือ การเพิ่มเข้ามาจำนวนมากของรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย

ขณะเดียวกัน ฝ่ายค้าน อย่าง พรรคก้าวไกล และพรรคประชาธิปัตย์ ก็มีประเด็นให้พูดถึงอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะภาวะอารมณ์ที่ยังปรับตัวไม่ได้ กับการสูญเสีย โอกาสที่จะเป็นรัฐบาล

พรรคก้าวไกล ไม่ยอมประกาศเป็นพรรคฝ่ายค้าน จนนายปิยบุตร แสงกนกกุลเลขาธิการคณะก้าวหน้า ออกมาย้ำเตือนถึงสองครั้ง ให้เลิกหวังว่าพรรคเพื่อไทยจะกลับมา และประกาศอย่าง ทระนง เพื่อสู้ต่อไป พร้อมกับเรียกการต่อสู้ทางการเมืองมิติใหม่ว่า “อดีต VS อนาคต” หรือ การทำงานการเมืองแบบอดีต กับการทำงานการเมืองแบบอนาคต ซึ่งเชื่อว่า พรรคก้าวไกล กำลังทำอยู่ คือ มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงประเทศ ที่ยึดโยง “ประชาชน” ในทุกมิติ  

จนในที่สุด นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงภายหลังรัฐสภามีมติโหวตเลือก นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนเห็นชอบ 482 เสียง ไม่เห็นชอบ 165 เสียง งดออกเสียง 81 เสียง ว่า วันนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า การเลือกนายกรัฐมนตรี และการจัดตั้งรัฐบาล มิได้เป็นไปตามเจตจำนงของประชาชนส่วนใหญ่ที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง

พรรคก้าวไกลขอย้ำว่า การจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ มิใช่การสลายขั้วลดความขัดแย้ง โดยเอาวาระของประเทศและประชาชนเป็นตัวตั้ง แต่เป็นการสยบยอมและต่อลมหายใจให้แก่ระบบการเมืองที่สถาปนาขึ้นโดยการรัฐประหาร เป็นการทำลายความหวัง ความศรัทธา และอำนาจของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย

“แน่นอนว่า ต่อจากนี้ไป พรรคก้าวไกลจะต้องทำงานในฐานะพรรคฝ่ายค้าน โดยเราจะเป็นฝ่ายค้านเชิงรุก ทุกเสียงที่พี่น้องประชาชนได้มอบให้พรรคก้าวไกลจะต้องมีความหมาย ผู้แทนราษฎรทุกคนของพรรคก้าวไกลจะทำงานอย่างสุดความสามารถ ทั้งในด้านการตรวจสอบฝ่ายบริหาร ทั้งในด้านการผลักดันกฎหมายที่ก้าวหน้า ทั้งในด้านการผลักดันวาระของประชาชนผ่านกลไกต่างๆ ของสภา รวมทั้งการทำงานร่วมกับประชาชนนอกสภาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยร่วมกันอย่างไม่ท้อถอย”

“ชัยธวัช” กล่าวย้ำว่า แม้ในวันนี้ผู้มีอำนาจจะพยายามทำให้อำนาจของประชาชนไม่มีความหมาย แต่พรรคก้าวไกลจะยังยืนอยู่อย่างมั่นคงกับประชาชน ด้วยความเชื่อมั่นว่าพลังของพี่น้องประชาชนจะสามารถสร้างอนาคตแบบใหม่ให้แก่สังคมไทยได้ในที่สุดสักวันหนึ่งเราจะมีประชาธิปไตยที่แท้จริง สักวันหนึ่งเราจะมีระบบเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าเท่าทันโลก และเป็นธรรม สักวันหนึ่งเราจะมีสังคมที่เคารพความแตกต่างหลากหลายเคารพสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ยึดถือความมั่นคงของประชาชนเป็นความมั่นคงของชาติ ด้วยความเคารพในประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศ

มาถึงตรงนี้ เห็นได้ชัดว่า ความสัมพันธ์ที่เคยมีระหว่าง พรรคเพื่อไทย กับ พรรคก้าวไกล ได้ขาดสะบั้นลงอย่างเป็นทางการ เพราะต่างต้องสร้างศรัทธาให้กับประชาชน บนเส้นขนานทางการเมือง ที่มีแนวทางต่างกัน กล่าวคือ การสร้างผลงานในฐานะรัฐบาล และการตรวจสอบอย่างเข้มข้นเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน และการสร้างความกดดันทางการเมือง(เคลื่อนไหวผ่านภาคประชาชน)

ที่สำคัญ หลังมีพระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี (23 ส.ค.66) นายเศรษฐา ประกาศอย่างชัดเจนต่อหน้าคนไทยทั้งประเทศว่า

“พี่น้องประชาชนคนไทยที่เคารพ ผมขอยืนยันว่า ผมจะทุ่มเททำงานตามมาตรฐานจริยธรรมด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ ผมมั่นใจว่า 4 ปีต่อจากนี้ จะเป็น 4 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลง

ประเทศไทยวันนี้อยู่ท่ามกลางจุดเปลี่ยนสำคัญ เรามีวิกฤตและปัญหาที่ต้องการทางออกอย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ รายได้ รายจ่าย ความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ความมั่นคง สังคม การต่างประเทศ สิ่งแวดล้อม กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม การทุจริตประพฤติมิชอบ และอื่นๆ อีกมากมายที่ล้วนก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม ความยากลำบาก

ผมมีความประสงค์ที่จะดำเนินนโยบายต่างๆ ที่ได้เตรียมไว้เพื่อแก้ไขวิกฤต บรรเทาปัญหา สร้างการพัฒนา การเปลี่ยนแปลงในระดับมหภาค ไปจนถึงในภาคของครัวเรือน ขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้า บริหารงบประมาณภาครัฐอย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพ เป็นไปตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ สร้างความร่วมมือเชิงบวกกับภาคเอกชน ภาคการต่างประเทศ ทำให้ทั้งภาคประชาชนและราชการเติบโตไปพร้อม ๆ กัน”

ที่สำคัญ รัฐบาลเศรษฐา ประกาศเดินหน้านโยบายเร่งด่วน พร้อมแคมเปญ “100 วันเศรษฐา เดินหน้านโยบายเพื่อไทย” ตามที่ได้หาเสียงไว้ทันที ดังนี้

แจก เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ใช้ภายในรัศมี 4 กิโลเมตรตามทะเบียนบ้าน ใช้งบประมาณ 5.6 แสนล้านบาท น้ำมัน ไฟฟ้า ก๊าซ ลดทันที

พักหนี้ ทั้งต้นและดอกเบี้ยเกษตรกร 3 ปี, พักหนี้ธุรกิจเฉพาะที่เดือดร้อนจากโควิด 3 ปีเพื่อลดรายจ่ายให้ประชาชนเร่งด่วน สำหรับ มาตรการล็อตถัดมา เช่น 

  • รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
  • ขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ 600 บาท
  • เงินเดือนคนจบปริญญาตรี 25,000 บาท ภายในปี 2570 
  • เติมเงินให้ทุกครัวเรือนมีรายได้ ไม่น้อยกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ด้วยการสร้างรายได้ด้วยนโยบาย “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์”โดยอัปเดตทุก 6 เดือน

นอกจากนี้ ในส่วนพรรคร่วมรัฐบาล ก็เตรียมผลักดัน เบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้า ขั้นต่ำ 1,000 บาทต่อเดือน ทุกช่วงอายุ และนโยบายเพิ่มวงเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็น 1,000 บาต่อเดือน รวมถึงการแก้ไขกฎหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ด้วย ซึ่งจะมีการหารือกับพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง

ดังนั้น สิ่งที่น่าวิเคราะห์ ก็คือ รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน หรือ “ครม.เศรษฐา 1” ที่อ้างเป็นรัฐบาลผสมสลายขั้วการเมือง แต่พรรคก้าวไกล ยังมองว่าเป็นรัฐบาล “นั่งร้านเผด็จการ” เหมือนเดิม จะอายุสั้น หรือ โลดแล่นไปจนครบเทอม 4 ปี ตามคาดหวัง ด้วยเหตุปัจจัยอะไร

ประการแรก พลังต่อสู้ของพรรคก้าวไกล ในฐานะ “ฝ่ายค้าน” และกระแสกดดันนอกสภา โดยเฉพาะ “ม็อบด้อมส้ม” จะสร้างแรงสั่นสะเทือนได้แค่ไหน ต่อเสถียรภาพรัฐบาล

โดยจุดโฟกัสอยู่ที่บาดแผลการทุจริตคอร์รัปชัน นโยบายที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เอื้อนายทุนและพรรคพวกตัวเอง

ส่วนการเมืองนอกสภา และม็อบด้อมส้ม ประเด็นแหลมคมที่ส่อให้เห็นแล้วก็คือ การเคลื่อนไหวยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ไม่เว้นแม้แต่หมวด 1 และหมวด 2(เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์) เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

เรื่องนี้อาจถูกนำมาผูกโยงกับการ “ทรยศ” ประชาชนของพรรคเพื่อไทย และการปกป้องอำนาจเผด็จการของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเพื่อไทย เคยประกาศ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นวาระแห่งชาติ จะยึดมั่นในคำพูด สัญญาต่อประชาชนหรือไม่ ในขณะพรรคร่วมรัฐบาล อาจไม่เห็นด้วย ที่จะแก้ทั้งฉบับ โดยเฉพาะหมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งถ้าเอาเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นวาระแห่งชาติจริง โอกาสที่จะผลักดันนโยบายด้านอื่น ก็จะน้อยลงถึงขั้นไม่มีความก้าวหน้า ไร้ผลงานตลอด 4 ปีในที่สุด เพราะเป็นเรื่องใหญ่ ใช้เวลานานในการถกเถียงหาข้อสรุป   

ประการที่สอง รัฐบาลเศรษฐา จะสามารถพิสูจน์ตัวเองได้ดีแค่ไหน ในการผลักดัน “นโยบายเร่งด่วน” และนโยบายทั้งหมด เพื่อแก้ปัญหาประชาชน ตามที่ให้คำมั่นสัญญาไว้ เพราะนี่คือ ความจริงใจ ที่จะสร้างความเชื่อมั่น “ศรัทธา”ให้กับประชาชน ฟื้นฟูที่เสื่อมไปและเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ สู้กับข้อกล่าวหาทางการเมืองทั้งหลายของ ฝ่ายค้าน ทั้งในและนอกสภา

ประการที่สาม รัฐบาลเศรษฐา ระวังอย่างเดียว คือ สะดุดขาตัวเอง เพราะส.ส.ที่มีอยู่314 เสียง ถือว่า มีเสถียรภาพอย่างมาก แม้ว่า จะเป็นรัฐบาลผสมถึง 11 พรรค แต่พรรคใหญ่มีแค่ 4 พรรค แถมแกนนำพรรคใหญ่ ก็ล้วนมาจากเบ้าหลอมพรรคการเมืองเดียวกัน และเคยทำงานร่วมกันมาแล้วทั้งสิ้น

ถ้ายึดประโยชน์ประชาชน ประเทศชาติ เป็นหลัก ตามที่ประกาศไว้ ใครก็ทำอะไรไม่ได้เว้นแต่ “ไม่สรุปบทเรียน” และยังเดินแนวทางที่ผิดพลาดเหมือนเดิม อะไรก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน

เหนืออื่นใด สิ่งที่น่าจับตามอง ก็คือ เป็นไปได้สูง ที่รัฐบาลเศรษฐา หรือ  “ครม.เศรษฐา1” จะต้องสู้กับเกมดิสเครดิตของพรรคก้าวไกล และ“มวลชน” ที่ต่อต้านการร่วมรัฐบาลกับฝ่ายเผด็จการ ชนิด “สู้ไป แก้ปัญหา ฟื้นศรัทธาไป” ไม่ง่าย และจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าสมราคาที่อวดอ้างเอาไว้หรือไม่