"เศรษฐา"ลุยพังงาฟังผู้ประกอบการชงสร้างสนามบินกระตุ้นเม็ดเงิน

"เศรษฐา"ลุยพังงาฟังผู้ประกอบการชงสร้างสนามบินกระตุ้นเม็ดเงิน

"เศรษฐา ทวีสิน" ลุยพังงาพบผู้ประกอบการฟังแนวทางพัฒนาด้าน ศก. ผุด ไอเดีย ครม. สัญจรคณะย่อย ทำงานคล่องตัวได้ประโยชน์มากกว่า ลั่นไม่ได้มาเพราะการเมือง แปลกใจพังงาไม่เคยมีนายกฯ โผล่เกือบ 10 ปี ด้านผู้ประกอบการสะท้อนสร้างสนามบิน กระตุ้นเม็ดเงินเข้าประเทศ

26 สิงหาคม 2566 "นายเศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย "นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช" ประธานกรรมการนโยบายพรรคเพื่อไทย "น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล" คณะทำงานด้านนโยบายการท่องเที่ยวพรรค ลงพื้นที่พบปะพูดคุยผู้ประกอบการท่องเที่ยว ถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ จ.พังงา รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness) ในพื้นที่ฝั่งอันดามัน ที่โรงแรม ทุย บลู เขาหลัก รีสอร์ท

โดยตัวแทนผู้ประกอบการ ได้สะท้อนปัญหา และความต้องการในการฟื้นการท่องเที่ยวที่ จ.พังงา ทั้งการขอให้ช่วยแก้ไขเรื่องการลดค่าใช้จ่ายให้นักท่องเที่ยว เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเดินทางของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวยุโรปแพงขึ้น 30-40% พิจารณาเพิ่มเที่ยวบินลองฮอล พิจารณาสร้างสนามบินที่ จ.พังงา รวมถึงปรับปรุงสนามบินเก่าของ จ.พังงา ที่ทิ้งร้างไว้ เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดเล็ง เพื่อช่วยเพิ่มการรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในอีก 5 ปีข้างหน้า

ปรับปรุงการคมนาคม ทั้งทางบก เรือ อากาศ ส่งเสริมการประกอบการธุรกิจโรงแรม และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ส่งเสริมให้เป็นเมืองสมาร์ทซิตี้ ซึ่งบางโครงการได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว ผ่าน อปท. ส่งเสริมท่องเที่ยวชุมชน ที่ขณะนี้ 3,000 ชุมชน แต่ยังไม่มีหลักฐานจดทะเบียนชุมชนท่องเที่ยว ทำให้ได้รับสิทธิ์ไม่ทั่วถึง ซึ่งการท่องเที่ยวชุมชน ถือเป็นหัวใจหลักที่จะทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากการขายสินค้าในชุมชน 

อย่างไรก็ตาม หากสามารถสร้างสนามบินแห่งใหม่ที่ จ.พังงา ได้ เชื่อจะสร้างตัวเลขเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นได้ อีกทั้ง อัตราส่วนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่จังหวัดพังงาโดยรวมเป็นไปด้วยดีรองจากกรุงเทพมหานครได้

จากนั้น นายเศรษฐา กล่าวว่า จากที่ตนได้ฟังมาก็มีข้อเสนอแนะที่ดีๆ แต่แปลกใจที่ไม่มีนายกรัฐมนตรีมา จ.พังงา หลายสิบปีก็ว่าได้ และก็ทราบดีว่าในส่วนนี้ไม่ว่าจะเป็น พังงา กระบี่ ภูเก็ต หรือระนอง ก็เป็นแหล่งรายได้ที่มีอนาคต สามารถทำรายได้ให้กับประเทศชาติมากมาย แม้พรรคเพื่อไทยเองไม่มี สส.ใน 3 จังหวัดนี้ มานานมากแล้ว หรืออาจจะไม่เคยมีอะไรก็ว่าได้ แต่ก็ต้องขอบคุณคนในพื้นที่ และสส.ในพื้นที่จากพรรคร่วมที่มาร่วมงานในวันนี้ด้วย 

"แม้เราไม่มี สส. แต่เราก็ยึดโยงกับประชาชน ซึ่งก็ถือว่าเป็นตัวตนของนักการเมืองที่ควรจะไปปฏิบัติอยู่แล้ว ภูเก็ต พังงา จังหวัดแรกที่ผมได้เดินทางมา หลังรับสนองพระบรมราชโองการฯ ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมือง แต่เราดูในองค์รวมเชิงพัฒนาประเทศเป็นหลักไม่ได้ดูในเรื่องการเมือง" นายเศรษฐา กล่าว  

นายเศรษฐา กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าจีดีพีของ จ.ภูเก็ต ต่ำมาก ก็ต้องดูเรื่องการลดหนี้และเพิ่มรายได้ จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก วันนี้ (26ส.ค.) ตนไม่ได้มาคนเดียว แต่ยังมี นพ.พรหมมินทร์ ที่เคยเป็นอดีตเลขาของอดีตนายกฯ "นายทักษิณ ชินวัตร" และคณะทำงานของพรรคเพื่อไทย นอกจากนี้ยังมีว่าที่รัฐมนตรีหลายคนที่เดินทางมาด้วย ซึ่งก็ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมที่จะระบุว่าเป็นใครบ้าง ก็ได้มารับฟังปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่องการสร้างสนามบินใหม่ 
ส่วนปัญหาเรื่องการลงทุนทั้งหมด ตนก็ได้มาดู มีโครงการเยอะไปหมด แล้วก็มีวิธีการในการวิเคราะห์แตกต่างกันไปบางอันได้ผลตอบแทนต่ำ หรือบางอันก็ไม่ได้ผลตอบแทนเลย แต่ถ้าดูในการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมของภูมิภาค ถึงแม้โครงการนั้นอาจจะไม่คุ้มการลงทุน แต่ถ้าหากดูองค์รวมของการพัฒนาเศรษฐกิจของทางภูมิภาค ผลตอบแทนก็น่าจะคุ้ม เพราะฉะนั้นการดูโครงการของพรรคเพื่อไทย หากได้รับการถวายสัตย์เรียบร้อยแล้วก็คงไม่ดูแยกเป็น project แต่จะดูทั้งภูมิภาค และไม่ใช่แค่เชิงรุก แต่ต้องกลับมาดูหลังบ้านด้วย เช่น ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม โรงขยะ การบำบัดน้ำเสีย สิ่งเหล่านี้จะต้องควบคู่ไปกับการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจในภูมิภาค

สำหรับเรื่องของความมั่นคงก็เป็นเรื่องสำคัญ เช่น การยกเลิกฟรีวีซ่าทั้ง จีน อินเดีย รัสเซีย ที่ถือเป็นตลาดใหญ่ เขาก็อยากจะอยู่มากกว่า 30 วัน ก็จะพยายามขยายออกไปให้มากจนถึง 90 วัน จะไปเปิดทำให้การเข้ามาในประเทศไทยสะดวกสบายยิ่งขึ้น ส่วนการทำการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพก็เป็นเรื่องสำคัญ ที่จะทำให้เกิดการพักระยะยาว เชื่อว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศ จะเข้ามาแน่นอน แต่ถ้าหลายจังหวัดเปิดการท่องเที่ยวลักษณะนี้พร้อมๆ กัน อาจจะทำให้เกิดการขาดแคลนบุคลากร จึงต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย 

"เรายังมองถึงการขาดงานเรื่องการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ ที่ต้องการการ training ที่ดี เราต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาส่วนนี้" นายเศรษฐา กล่าว

ส่วนเรื่องแนวคิด ครม.สัญจรก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้ายกมาทั้ง ครม.ใหญ่ ก็ต้องให้ความสำคัญกับทั้งจังหวัดนั้นๆ อย่างมาก แต่หากมาเป็นคณะเล็กๆ ก็อาจจะคล่องตัวมากกว่า โดยอาจจะมีการแยกไปเป็น ครม.เศรษฐกิจ หรือ ครม.ความมั่นคง เป็นแบบกรุ๊ปเล็กๆ ก็อาจจะคล่องตัวได้ประโยชน์มากกว่า สิ่งเหล่านี้ที่ได้รับฟังมา ตนก็พยายามจะ cover ให้ได้ทุก point และยืนยันว่าจะกลับมาใหม่อย่างแน่นอน