เศรษฐกิจจีนใน 3 วิกฤติ |ปิยศักดิ์ มานะสันต์

เศรษฐกิจจีนใน 3 วิกฤติ |ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ในปัจจุบัน ปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่ผู้เขียนกังวลที่สุด ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ที่เป็นไปได้มากสุด และเมื่อเกิดแล้วผลกระทบจะรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลกและไทยมากที่สุด

ไม่ใช่เฉพาะผู้เขียนเองที่มองเช่นนั้น แต่สำนักวิจัยชั้นนำอย่าง Bank of America, Goldman Sachs และ Nomura ต่างมองเช่นเดียวกัน หลังจากที่เศรษฐกิจไตรมาส 3 ชะลอแรง เหลือประมาณ 4.9% ต่อปี ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์หากไม่นับช่วงวิกฤติโควิด-19 โดยหลายฝ่ายมองว่า เศรษฐกิจจีนไตรมาส 4 จะชะลอยิ่งกว่าไตรมาส 3 แน่นอน ขณะที่ผู้เขียนมองว่าจะอยู่ระหว่าง 1-3% ขณะที่ในปีหน้าน่าจะโตต่ำกว่าระดับ 5% ซึ่งเป็นระดับศักยภาพเศรษฐกิจของจีนในช่วงทศวรรษนี้

เศรษฐกิจจีนที่ชะลอลง จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจโลกและไทยรุนแรง เพราะเศรษฐกิจโลก (โดยเฉพาะเอเชีย) และไทยมีความเชื่อมโยงทางการค้ากับจีนมากในฐานะคู่ค้าสำคัญ โดยจีนเป็นตลาดส่งออกใหญ่ของเอเชียและไทย (ในระดับ 10-30% ของการส่งออกรวม) เช่นเดียวกับที่นำเข้าจากจีนมากด้วยเช่นกัน 

ดังนั้น หากเศรษฐกิจจีนชะลอแรง (หรือแม้แต่เกิดภาวะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น) เอเชียและไทยจะได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง โดยในส่วนของไทยนั้น จากการทำ Sensitivity Analysis พบว่า หากเศรษฐกิจจีนชะลอลง 1% เศรษฐกิจไทยอาจจะชะลอลงได้ถึง 0.9% ทีเดียว

เมื่อความเชื่อมโยงสูงเช่นนี้ สิ่งที่ต้องจับตามองและพึงระวังก็คือสาเหตุของการชะลอตัวแรงของเศรษฐกิจจีน โดยผู้เขียนมองว่ามี 3 ปัจจัย อันได้แก่ (1) ปัญหาการขาดแคลนถ่านหินที่กระทบต่อภาคการผลิตไฟฟ้า (2) นโยบายของรัฐบาลจีนในการคุมโควิด-19 และ (3) การชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์

ในประเด็นแรกนั้น ดังที่เขียนไว้ในบทความก่อนหน้า ในช่วงที่ผ่านมา จีนกำลังเผชิญปัญหาพลังงานขาดแคลน โดยปัญหาไฟฟ้าดับในจีนกำลังเข้าขั้นวิกฤติ โดยกว่า 20 มณฑลต้องมีการปันส่วนใช้ไฟฟ้า และจำกัดการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวัน ทำให้โรงงานบางโรงที่มีการเปิดกะ 24 ชั่วโมงต้องปิดการผลิตในเวลากลางคืน สาเหตุของปัญหาไฟฟ้าดับเป็นผลจากการขาดแคลนถ่านหินที่เป็นแหล่งพลังงานหลัก ผลจาก 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยชั่วคราวและปัจจัยเชิงโครงสร้าง

ในส่วนปัจจัยชั่วคราว ได้แก่การเกิดอุทกภัยในมณฑลเหอหนานในเดือน ก.ค. และในชานซีในเดือนนี้ ส่งผลให้เหมืองบางแห่งต้องปิดตัวลง นอกจากนี้ ในมองโกเลียใน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณหนึ่งในสี่ของผลผลิตถ่านหินของจีน การสอบสวนเรื่องการทุจริตทำให้การทำเหมืองถ่านหินในมณฑลส่านซี ซึ่งเป็นผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่อันดับสามของจีนต้องหยุดลง รวมถึงการหยุดการผลิตเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยเหมืองกว่า 976 แห่ง หลังจากเกิดอุบัติเหตุทางอุตสาหกรรมมากกว่า 100 แห่งทั่วประเทศเมื่อปีที่แล้ว 

แต่ปัจจัยเชิงโครงสร้างของปัญหาถ่านหินคือ ความพยายามของทางการจีนในการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงสกปรก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยในช่วงที่ผ่านมาทางการไม่อนุมัติการขุดเหมืองใหม่หรือการขยายเหมืองที่มีอยู่เดิม แต่สถานีไฟฟ้าก็ไม่สามารถผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นไปได้ โดยผู้ผลิตไฟฟ้าสามารถขึ้นราคาเพิ่มได้เพียง 10% เหนือราคาควบคุมเท่านั้น ทำให้โรงไฟฟ้าบางแห่งหยุดทำงานเพราะไม่คุ้มกับต้นทุน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ปัญหาเหมืองถ่านหินคลี่คลายลงเป็นลำดับ โดยรัฐบาลได้มีคำสั่งให้ขยายการผลิต และนำเข้าจากออสเตรเลียเพิ่มขึ้น ขณะที่รัฐบาลอนุญาตให้โรงไฟฟ้าขึ้นราคาไฟฟ้าได้ เพื่อส่งต่อต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังบริษัทผู้จำหน่ายไฟฟ้า

นอกจากนี้ยังจะบังคับให้ลูกค้าอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม ต้องจ่ายราคาไฟฟ้าในราคาตลาด ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้โรงไฟฟ้าผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น (แต่ต้นทุนในการผลิตสินค้าก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน)

สาเหตุประการที่สองของเศรษฐกิจจีนชะลอตัวมาจากการระบาดของโควิด-19 ในช่วงไตรมาส 3 เช่น ในมณฑลหนานจิงในเดือน ก.ค. ทำให้มีการล็อกดาวน์ที่เข้มงวด ส่งผลให้การใช้จ่ายลดลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดเลี้ยงและการเดินทาง 

ขณะที่ล่าสุด จีนเผชิญกับการระบาดรอบใหม่ถึง 11 มณฑล อันเป็นผลจากการแพร่กระจายเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว (Super spreader) จากผู้ติดเชื้อที่เป็นนักท่องเที่ยวและมีประวัติการเดินทางข้ามภูมิภาค ทำให้เริ่มมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในหลายมณฑลรวมถึงในปักกิ่ง ซึ่งผู้เขียนมองว่าการระบาดเช่นนี้จะทำให้จีนจะต้องปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจจำนวนมากอีกครั้ง เนื่องจากจีนใช้นโยบาย "ไม่ทน" กับการระบาดเลย (Zero-tolerance) ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งภาคการผลิตต่อไป

สาเหตุสุดท้ายได้แก่ การกำกับภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เข้มงวดเพื่อระงับความต้องการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ และจำกัดการกู้ยืมที่มากเกินไปของผู้ประกอบการอสังหาฯ ทำให้เอเวอร์แกรนด์ (Evergrande) ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของจีน และมีหนี้สิน 3 แสนล้านดอลลาร์ พลาดการจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ดอลลาร์เมื่อวันที่ 24 ก.ย. และตามมาด้วยบริษัทอื่นๆ เช่น Fantasia และ Sinic 

แม้ว่าล่าสุดทางเอเวอร์แกรนด์จะกลับมาจ่ายดอกเบี้ยจำนวน 83.5 ล้านดอลลาร์ดังกล่าวได้ แต่ก็ยังมีอีกหลายงวด ขณะที่เอเวอร์แกรนด์ยกเลิกแผนการขายหุ้นส่วนใหญ่ในบริษัทลูกมูลค่า 2.6 พันล้านดอลลาร์ รวมถึงสามารถขายโครงการที่ค้างอยู่ได้เพียง 2% ของโครงการที่นำออกขายเพื่อนำเงินมาเสริมสภาพคล่องที่ขาดแคลน

สาเหตุที่ยอดขายของเอเวอร์แกรนด์รวมถึงผู้ประกอบการอสังหาฯ อื่น ตกต่ำนั้นเป็นเพราะผู้ซื้อบ้านบางคนรู้สึกกังวลที่จะมอบเงินสดให้กับผู้พัฒนาโครงที่อาจไม่ได้อยู่ในธุรกิจนานพอที่จะทำโครงการที่พวกเขาขายให้เสร็จ โดยในปัจจุบัน ผู้พัฒนาโครงการในจีนเริ่มสร้างบ้านน้อยลง 13.5% ต่อปีในเดือน ก.ย. นี้ ขณะที่ยอดขายซึ่งวัดจากพื้นที่ลดลงในสัดส่วนใกล้เคียงกัน ด้านการผลิตปูนซีเมนต์ลดลงถึงกว่า 13% ต่อปี ขณะที่เหล็กกล้าลดลง 14.8%  

ผู้เขียนมองว่า สถานการณ์ต่าง ๆ ดังที่กล่าวข้างต้นจะนำความเสี่ยงสู่เศรษฐกิจจีนมากขึ้นใน 3 จุด คือ

(1) การบริโภค ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวลงของภาคอสังหาฯ ในภาพรวม และเนื่องจากกว่า 80% ของความมั่งคั่ง (Net worth) ชาวจีนอยู่ในภาคอสังหาฯ การชะลอตัวลงของภาคอสังหาฯ จะมีผลกระทบต่อ Wealth effect และการบริโภคระยะต่อไป

(2) ภาคการลงทุน โดยเฉพาะภาคอสังหาฯ อันเป็นผลจากมาตรการคุมเข้มภาครัฐ 

(3) การส่งออก ที่อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาซัพพลายเชนวิกฤติพลังงาน และความต้องการของซีกโลกตะวันตกที่ลดลง 

รถสิบล้อคันใหญ่อย่างจีนกำลังกระทืบเบรครุนแรง รถคันหลัง โปรดระวังอุบัติเหตุ.

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่