เจาะลึกกลยุทธ์เศรษฐกิจจีน ส่องผลลัพธ์ต่อภาคส่งออกไทย

เจาะลึกกลยุทธ์เศรษฐกิจจีน ส่องผลลัพธ์ต่อภาคส่งออกไทย

ตั้งแต่จีนเปิดประเทศช่วงปี 1980 และเข้าร่วม WTO ในปี 2001 จีนก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในฐานะโรงงานโลกจากวัตถุดิบมหาศาลและแรงงานราคาถูก

บทความโดย ฉัตรลดา โชตนาการ, ฐิตา เภกานนท์ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

เศรษฐกิจจีนเติบโตแบบก้าวกระโดด หลังวิกฤตการเงินโลกปี 2007-08 จีนเริ่มปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเน้นการพึ่งพาตนเอง สร้างเสถียรภาพทั้งด้านเศรษฐกิจและการเงิน ล่าสุดจีนประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 14 (ปี 2021-25) ภายใต้กลยุทธ์ “Dual Circulation” ที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจในประเทศผ่านการบริโภคและการบริการ ลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็ยังเดินหน้าค้าขายและลงทุนกับนานาชาติ เพื่อเป็น “จีนที่โลกต้องพึ่งพา” 

จีนลดพึ่งพาโลก แต่โลกยังพึ่งพาจีน
จีนปรับกลยุทธ์การเติบโตที่เน้นพึ่งพาตนเองมากขึ้น ทำให้หันมาผลิตสินค้าในประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อใช้เองและส่งออก และลดการนำเข้าลง หากดูพัฒนาการตั้งแต่ปี 2010 ถึง 2020 พบว่า ภาคการผลิตในช่วง 6 ปีหลังขยายตัวสูงถึง 40% (จากช่วง 5 ปีแรกที่ขยายตัว 15%) ขณะที่การนำเข้าช่วง 6 ปีหลังขยายตัวเพียง 5% (ลดลงจากช่วง 5 ปีแรกที่ขยายตัว 12%)

การผลิตและการนำเข้าสินค้าจีนได้เปลี่ยนไป แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
1) กลุ่มที่จีนจะทำเอง ส่วนใหญ่เป็นสินค้าขั้นกลางที่จีนผลิตเพิ่มขึ้นและลดการนำเข้าลง โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก Trade war และโมเดลธุรกิจจีนที่ต้องการครองส่วนแบ่งทั้งห่วงโซ่อุปทาน สินค้ากลุ่มนี้ได้แก่ ทองแดงและยางสังเคราะห์ ซึ่งมูลค่าการผลิตในจีนระหว่างปี 2010-20 เพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึง 9.7% และ 6.3% แต่การนำเข้าในช่วงเดียวกันกลับลดลง -17.2% และ -1.1% ตามลำดับ นอกจากนี้ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ทีวี และแอร์ เป็นสินค้าที่จีนกำลังก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตหลักของโลกเช่นกัน

2) กลุ่มที่จีนจะเก่งขึ้น ได้แก่สินค้าที่ตลาดกำลังเติบโตทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ อาทิ อุปกรณ์สื่อสาร และ Semiconductor โดยช่วงปี 2010-20 การผลิตขยายตัวเฉลี่ยที่ 25.3% และ 14.0% ตามลำดับ ซึ่งแม้จีนได้เพิ่มกำลังการผลิตแล้ว แต่ยังต้องนำเข้าเนื่องจากยังไม่เพียงพอกับความต้องการ แต่ในระยะข้างหน้าแนวโน้มที่จะผลิตสินค้ากลุ่มนี้ได้มากขึ้นจากการสนับสนุนของมาตรการภาครัฐ อาทิ มาตรการลดหย่อนภาษีและสนับสนุนค่าใช้จ่ายการลงทุน ที่ครอบคลุมสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง พลังงานสะอาด และยานยนต์ไฟฟ้า
3) กลุ่มที่จีนยังต้องซื้อ นำเข้าเป็นหลัก ไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรที่มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนชั้นกลางที่ความต้องการด้านบริโภคเปลี่ยนไป อาทิ เนื้อสัตว์ที่จีนนำเข้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึง 29% ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา (2015-20) เร่งขึ้นจาก 27% ในช่วงปี 2010-14 เช่นเดียวกับน้ำมันดิบและถ่านหินที่การนำเข้าเติบโตมาก แต่การผลิตในจีนทรงตัว

ส่งออกไทย-จีน ยังพอไปได้ แต่อนาคตเสี่ยง
แม้ยุทธศาสตร์ใหม่ของจีนเน้นการผลิตในประเทศ แต่กลุ่ม ASEAN ยังเป็นคู่ค้าที่จีนพึ่งพาการนำเข้าอยู่ โดยช่วงปี 2015 – 20 จีนนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3% เช่นเดียวกับมาเลเซียที่เพิ่มขึ้น 4% และโดยเฉพาะจากเวียดนามที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 25% (ภาพ 1) โดยกลุ่ม ASEAN เป็นข้อต่อสำคัญของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคของจีน (Regional Supply Chain) ภายหลังการย้ายฐานการผลิตจากจีนเพื่อเลี่ยงการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ รวมทั้งเพื่อลดต้นทุนด้านแรงงาน เนื่องจากค่าจ้างเฉลี่ยแรงงานในภาคอุตสาหกรรมของจีนสูงกว่าไทยและเวียดนาม (จีนสูงกว่าทั้ง 2 ชาติคิดเป็นเกือบ 8 เท่าในปี 2019)

ภาพที่ 1 ดัชนีการนำเข้าของจีนจากแต่ละประเทศ ระหว่างปี 2005-2020
                                            
  ดังนั้น การที่ไทยอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของจีนจึงมีการส่งออกที่ขยายตัวสอดคล้องกับตลาดจีน เช่น ทองแดงแปรรูปที่แม้จะอยู่ในกลุ่ม ‘จีนจะทำเอง’ แต่การส่งออกจากไทยช่วงปี 2015-20 ขยายตัวได้ถึง 117% อย่างไรก็ตาม นโยบายพึ่งพาตนเองของจีนที่เข้มข้นขึ้นอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการส่งออกไทย เพราะกว่า 30% ของสินค้าที่ไทยส่งออกเป็นกลุ่มที่จีนลดการนำเข้าอย่างต่อเนื่อง อาทิ ยางสังเคราะห์และเคมีภัณฑ์ รวมถึงทีวีและเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าที่ในช่วง 2015-20 การส่งออกหดตัวที่ -14% และ -10% ตามลำดับ (ภาพ 2)

โอกาสของไทย Go High-tech & Go Green
แม้บางสินค้าจะเผชิญความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากนโยบายทางเศรษฐกิจจีนที่เปลี่ยนไป แต่ก็มีบางสินค้าที่เป็นโอกาสของไทยได้เช่นกัน อาทิ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่มูลค่าเพิ่มจากการส่งออกไปจีน คิดเป็นอันดับ 1 ในปี 2019 (หรือ 26.5%) ซึ่งจีนมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้าน Digital นอกจากนี้ สินค้ากลุ่มพลังงานสะอาด มีแนวโน้มเติบโตจากนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของจีนที่เข้มข้นขึ้น เช่น การควบคุมปริมาณการปล่อย CO2 ในภาคอุตสาหกรรมและส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกในนิคมฯ ทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม จีนยังนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้อยู่มากแต่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดต่ำ (สัดส่วนที่จีนนำเข้าจากไทยเพียง 1%) ดังนั้น หากภาครัฐของไทยสนับสนุนการพัฒนาสินค้าและการผลิตในกลุ่มนี้ให้มากขึ้น ไทยก็อาจคว้าโอกาสในตลาดที่กำลังเติบโตนี้ได้

สัดส่วนมูลค่าสินค้าส่งออกจากไทยไปจีน ปี 2019

กล่าวโดยสรุปในอีก 5 ปีต่อจากนี้ จีนภายใต้กลยุทธ์ “Dual circulation” คงทำให้เราได้เห็นการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เพิ่มความแข็งแกร่งจากภายในและยังเป็น “จีนที่โลกต้องพึ่งพา” แม้ภาคการส่งออกของไทยยังได้รับผลกระทบไม่มากจากนโยบายพึ่งพาตนเองของจีน แต่ภาครัฐควรปรับกลยุทธ์ โดยหันมาส่งเสริมการพัฒนาสินค้าและการผลิตให้สอดรับกับนโยบายเศรษฐกิจของจีนที่เปลี่ยนไป เพื่อลดความเสี่ยงจากแนวโน้มการลดการนำเข้าของจีนและคว้าโอกาสการเติบโตใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น
(บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของ ธปท.)