เทคโนโลยีในระบบสองขั้วอำนาจหลัก | อภิวัฒน์ รัตนวราหะ

เทคโนโลยีในระบบสองขั้วอำนาจหลัก | อภิวัฒน์  รัตนวราหะ

หนึ่งในแนวโน้มด้านเทคโนโลยีที่สำคัญในปัจจุบันคือ การแข่งขันด้านเทคโนโลยีระดับโลก โดยเฉพาะระหว่างมหาอำนาจสองขั้วคือ สหรัฐอเมริกากับจีน

เพราะทิศทางการพัฒนาและการแพร่หลายของเทคโนโลยีใดๆ ก็ตามไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ ภายในห้องทดลองหรือตามความคิดของนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรเพียงอย่างเดียว แต่ถูกกำหนดโดยเงื่อนไขที่ใหญ่กว่านั้นทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองทั้งภายในและระหว่างประเทศ เนื่องจากเทคโนโลยีมีนัยสำคัญในด้านเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงของประเทศ และเป็นประเด็นเชิงระบบที่เชื่อมต่อกันอย่างแยกไม่ออกในระดับโลก

นโยบายของประเทศมหาอำนาจขนาดใหญ่ที่เป็น "ผู้นำเทคโนโลยี" จึงมีนัยสำคัญอย่างมากต่อนโยบายเทคโนโลยีและนโยบายด้านอื่นๆ ของประเทศขนาดกลางและเป็นผู้ตามด้านเทคโนโลยีดังเช่นประเทศไทย 

ในช่วงประมาณหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา ประเทศมหาอำนาจที่เป็นผู้นำในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีของโลกคือ "สหรัฐอเมริกา" ซึ่งเป็นผู้นำทั้งในด้านงบประมาณโดยรวมสำหรับการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาของภาครัฐและภาคเอกชน ไปจนถึงในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นพื้นฐานของการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์และการบริการ และสหรัฐอเมริกาก็ได้ใช้ขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการสร้างเสริมอำนาจในด้านการทหารและด้านเศรษฐกิจการเมืองเรื่อยมา

แต่ในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา "จีน" ได้พัฒนาตัวเองจนกลายเป็นคู่แข่งหลักของสหรัฐอเมริกาในการใช้ขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการขยายฐานอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองในระดับโลกไปพร้อมกัน แนวโน้มนี้คาดได้ว่าจะยังคงมีอยู่และน่าจะเพิ่มความเข้มขึ้นยิ่งขึ้นต่อไปในอีก 20 ปีข้างหน้า และจะมีนัยสำคัญโดยตรงในเชิงยุทธศาสตร์สำหรับประเทศไทย ไม่เพียงเฉพาะในด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี แต่รวมไปถึงด้านเศรษฐกิจ ด้านความมั่นคงและด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ตัวอย่างที่แสดงถึงขีดความสามารถที่เพิ่มขึ้นของจีนที่เห็นได้ชัดในปัจจุบันคือเทคโนโลยีและธุรกิจดิจิทัล นับตั้งแต่ในด้านโทรคมนาคมและสารสนเทศ ธุรกิจแพลตฟอร์มไปจนถึงอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) จากรายงาน Digital Economy Report 2019 ของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) พบว่า แพลตฟอร์มดิจิทัลของสหรัฐอเมริกาและจีนมีมูลค่าตามราคาตลาดคิดเป็นร้อยละ 90 ของโลก ในขณะที่ทั้งสองประเทศรวมกันมีมูลค่าการลงทุนในธุรกิจและการพัฒนาเทคโนโลยีด้านไอโอทีประมาณร้อยละ 50 ของโลก และครอบครองตลาดโลกในด้านคลาวด์คอมพิวติ้ง (cloud computing) เกินกว่าร้อยละ 75 

นอกจากนี้ เทคโนโลยีดิจิทัลที่จะกลายเป็นพื้นฐานหลักสำหรับอนาคตก็อยู่ภายใต้เงื้อมมือของสองประเทศนี้ ร้อยละ 75 ของสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีบล็อกเชนยังเป็นของสหรัฐอเมริกาและจีน ส่วนในด้านปัญญาประดิษฐ์ ก่อนหน้านี้ในช่วงปี 1950-2016 สหรัฐอเมริกากับญี่ปุ่นยื่นขอสิทธิบัตรเป็นอันดับหนึ่งและสองเรื่อยมา แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีนได้เพิ่มขีดความสามารถในด้านนี้อย่างชัดเจน และตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา บริษัทจีนได้ยื่นขอสิทธิบัตรในด้านปัญญาประดิษฐ์มากกว่าสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น (WIPO 2019)

ในปัจจุบันจำนวนสิทธิบัตรที่ยื่นขอทั้งหมดร้อยละ 78 ของโลกเป็นขององค์กรหรือบริษัทในประเทศจีน สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น

ส่วนในด้านการพลังงานทดแทนนั้น จีนถือว่าได้พัฒนาและก้าวนำในด้านเทคโนโลยีและธุรกิจอย่างเห็นได้ชัด และในหลายมิติได้นำหน้าสหรัฐอเมริกาไปแล้ว จีนได้กลายเป็นผู้ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีสัดส่วนพลังงานแสงอาทิตย์เมื่อเทียบกับแหล่งพลังงานทั้งหมดในปัจจุบันสูงกว่าสหรัฐอเมริกาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมกันนี้จีนยังเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไม่เพียงเฉพาะแผงโซล่าเซลล์ แต่รวมไปถึงกังหันลม แบตเตอรี่ และยานยนต์ไฟฟ้า 

จีนยังเป็นเจ้าของสิทธิบัตรเกี่ยวกับพลังงานทดแทนในสัดส่วนถึงหนึ่งในสามของทั้งโลก แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะตามหลังจีนในการพัฒนาเทคโนโลยีและธุรกิจในด้านนี้ แต่เป็นที่แน่ชัดว่า รัฐบาลปัจจุบันภายใต้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะดำเนินนโยบายที่แตกต่างจากของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยจะลงทุนในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและธุรกิจพลังงานทดแทนมากยิ่งขึ้น

อีกตัวอย่างที่มีนัยสำคัญอย่างมากทั้งในด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ การทหารและภูมิรัฐศาสตร์ระดับโลกคือ "เทคโนโลยีอวกาศ" เป็นที่คาดกันว่าภายในอีก 20 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีอวกาศจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นกว่าปัจจุบัน และจะทำให้บริการด้านการโทรคมนาคมและการสื่อสาร การนำทาง และแผนภาพดาวเทียมมีขีดความสามารถและประสิทธิภาพสูงขึ้นในราคาที่ถูกลง

เทคโนโลยีอวกาศจะกลายเป็นเทคโนโลยีที่เป็นพื้นฐานสำคัญของเทคโนโลยีอื่นๆ 

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลหลายประเทศได้เพิ่มความสำคัญและลงทุนในด้านนี้มากยิ่งขึ้น การแข่งขันในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและการสำรวจอวกาศจะเพิ่มความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะระหว่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้นำมาหลายทศวรรษ กับจีนที่เริ่มทุ่มงบประมาณในด้านนี้อย่างเต็มที่ ทั้งในด้านการพัฒนาเพื่อกิจการด้านการทหาร กิจการพลเรือนและการพาณิชย์

ในยุคโลก 2 ขั้ว ภูมิรัฐศาสตร์การเมืองระดับโลกเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดทิศทาง ระดับและขอบเขตของการพัฒนาและการแพร่หลายของเทคโนโลยี ซึ่งมีผลต่อนโยบายสาธารณะในวงกว้าง นับตั้งแต่ด้านการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยี ทางเลือกด้านมาตรฐานเทคโนโลยี ห่วงโซ่อุปทานของการผลิตเทคโนโลยีและสินค้า และนโยบายการค้าและการแข่งขันภายในประเทศและระหว่างประเทศ ไปจนถึงนโยบายด้านการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ตั้งแต่ระดับปฐมวัยไปจนถึงบัณฑิตศึกษา และนโยบายการย้ายถิ่น เป็นต้น 

ด้วยเหตุดังกล่าว ความเข้าใจใน "ภูมิรัฐศาสตร์" ระดับโลกจึงเป็นเรื่องสำคัญในการคาดการณ์แนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีในอนาคต เพื่อการวางยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมกับเงื่อนไขและบริบทของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะสำหรับประเทศไทยที่ไม่ได้เป็นผู้นำในการด้านพัฒนาเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก และอยู่ภายใต้อำนาจเชิงภูมิรัฐศาสตร์ในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงของมหาอำนาจจีนและสหรัฐอเมริกา 

ด้วยเหตุนี้ การพัฒนายุทธศาสตร์และนโยบายของประเทศไทยในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงไม่สามารถดำเนินการได้จากเพียงมุมมองของหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงและการต่างประเทศไปพร้อมกัน.