หมดยุคทองของ 'ตลาดเกิดใหม่'

หมดยุคทองของ 'ตลาดเกิดใหม่'

หลายฝ่ายรวมถึง IMF มองว่า เมื่อการแจกจ่ายวัคซีนทั่วถึงแล้ว เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ก็จะกลับมาขยายตัวดีดังเดิม แต่ผู้เขียนเห็นต่างออกไป

ในการประมาณการเศรษฐกิจของ IMF เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา แม้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจโลกในปีนี้ แต่ก็ได้มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วขึ้นจาก 5.1% เป็น 5.6% แต่มีการปรับลดประมาณการของประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศตลาดเกิดใหม่ลง จาก 6.7% เป็น 6.3% ผลจากการกระจายจ่ายแจกวัคซีนที่ไม่เท่าเทียมกัน ทำให้เศรษฐกิจเสี่ยงจากการระบาดรอบใหม่ แต่หลายฝ่ายรวมถึง IMF เองก็มองว่า เมื่อการแจกจ่ายวัคซีนทั่วถึงแล้ว เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ก็จะกลับมาขยายตัวดีดังเดิม

 แต่ผู้เขียนเห็นต่าง โดยมองว่าหลังยุค COVID ผ่านพ้นไป โอกาสที่เศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาจะกลับมาฟื้นตัวขึ้นดีเหมือนเดิมก็คงยากขึ้น เพราะหากพิจารณาในรายละเอียดแล้ว การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงนี้ แต่เกิดขึ้นมากว่าทศวรรษแล้ว

 ย้อนไปกว่า 2 ทศวรรษก่อน ในช่วงปี 2000 เป็นต้นมา อาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคทองของประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยสำนักวิจัย Goldman Sachs วานิชธนกิจอันดับหนึ่งของโลก ได้บัญญัติศัพท์คำว่า BRIC หรือกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ยักษ์ใหญ่ อันประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน โดยกล่าวว่าภายใน 2025 เศรษฐกิจกลุ่ม BRIC จะใหญ่เป็นครึ่งหนึ่งของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วยักษ์ใหญ่ 6 ประเทศ หรือ G-6 อันได้แก่ สหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น) จากที่ขนาดไม่ถึง 10% ในช่วงปี 2003 และในปี 2040 BRIC จะมีขนาดใหญ่กว่า G-6

 แต่แค่เพียงปี 2017 เศรษฐกิจของ BRIC ก็มีขนาดเกินครึ่งหนึ่งของ G-6 เร็วกว่าที่คาดถึง 8 ปี ผลจากการที่กลุ่ม BRIC โตถึงกว่าปีละ 17% โดยเฉลี่ยในช่วง 2000-2010 ขณะที่ G-6 โตแค่ 4% เท่านั้น

 แต่ที่น่าตกใจกว่านั้น คือหลังจากปี 2011 เป็นต้นมา เศรษฐกิจกลุ่ม BRIC และประเทศกำลังพัฒนาโดยรวมก็ชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยกลุ่ม BRIC โตเหลือแค่ปีละ 5% ในช่วงปี 2011-19 แม้ว่า G-6 จะโตชะลอเหลือปีละ 2% เช่นกัน ภาพดังกล่าว ทำให้รายได้ต่อหัวของประชากรในบางประเทศ เช่น บราซิลและรัสเซีย ลดลง (แปลว่าประชากรจนลง) ขณะที่รายได้ต่อหัวของไทยในช่วงปี 2012-19 นั้นแทบไม่โตเลย

 คำถามคือ เหตุใดเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาถึงชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ และการโตต่ำลงนี้จะมีผลต่อไปในอนาคตหรือไม่ คำตอบจะอยู่ที่ 4 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจกำลังพัฒนาเติบโตได้ดีในช่วงปี 2000-2010 อันได้แก่

 (1) แนวนโยบายแบบ "Washington Consensus" หรือการเปิดเสรีด้านการค้า บริการ และการลงทุน รวมถึงดำเนินนโยบายการเงินการคลังแบบสุขุม โดยคุมให้เงินเฟ้อและหนี้สาธารณะอยู่ในระดับต่ำ

 (2) นโยบายการค้าเสรี รวมถึงการเปิดให้แรงงานจากภาคเกษตรเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมในประเทศตลาดเกิดใหม่ ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำและส่งออกได้มากขึ้น

 (3) ดอกเบี้ยนโยบายทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำ จากการที่ทั่วโลกสามารถคุมเงินเฟ้อได้ ทำให้ต้นทุนทางการเงินถูกลง และ

 (4) ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อยู่ในระดับสูง ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาที่มักจะเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ได้รับประโยชน์

 แต่ปัจจัยทั้ง 4 เริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา อันได้แก่

 (1) กระแสการปฏิรูปเศรษฐกิจ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจในประเทศกำลังพัฒนาเริ่มสะดุดลง โดยเฉพาะในประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีนที่กลับมาเน้นแนวนโยบายเศรษฐกิจแบบสั่งการในสมัยประธานาธิบดีสีจิ้นผิง

 (2) การค้าเสรีเริ่มลดลง จากการที่ประเทศต่าง ๆ เริ่มหันมาผลิตเองในประเทศเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า (โดยเฉพาะในจีน) และจากต้นทุนการผลิตที่เริ่มถูกลงในสหรัฐ (จากการผลิต Shale gas/ Shale oil ทำให้ต้นทุนการขนส่งเริ่มถูกลง)

(3) ราคาโภคภัณฑ์ที่ปรับลดลง ผลจากการผลิตที่มากเกินไปในช่วงทศวรรษก่อน ขณะที่ความต้องการไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก และ

(4) ปริมาณหนี้ที่เพิ่มขึ้นมาก ทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ทำให้เมื่อแนวโน้มที่ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ก็จะกระทบต่อประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีหนี้สูงและขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง เช่น กลุ่มประเทศ Fragile-5 อันได้แก่ อินเดีย อินโดนิเซีย บราซิล แอฟริกาใต้ และตรุกี ทำให้เกิดวิกฤตค่าเงิน

 ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ กระทบต่อประเทศตลาดเกิดใหม่ทั้งก่อนและวิกฤต COVID โดยเฉพาะในช่วงหลัง COVID ที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการฟื้นตัวที่ไม่เท่ากันอันเป็นผลจากการแจกจ่ายวัคซีนที่แตกต่างกันแล้ว ทำให้ตลาดเกิดใหม่ยิ่งเสี่ยงมากขึ้น ใน 3 ประเด็นด้วยกัน

 (1) การเกิด "แผลเป็น" ของระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากวิกฤตครั้งนี้ทำให้ภาคธุรกิจเดิม โดยเฉพาะธุรกิจบริการประสบปัญหา และการที่ประเทศตลาดเกิดใหม่มีวงเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าประเทศเจริญแล้ว ทำให้ภาคธุรกิจที่ประสบปัญหาอาจล้มหายตายจากเป็นการถาวร ทำให้แรงงานที่อยู่ในภาคนี้ตกงาน และอาจไม่สามารถปรับเปลี่ยนทักษะ ย้ายงานไปอยู่ในภาคใหม่ได้ ทำให้เศรษฐกิจซบเซายาวนาน โดยในกรณีของไทย ผู้เขียนคำนวณว่าเราต้องใช้เวลาอย่างน้อยกว่า 4 ปีในการที่เศรษฐกิจไทยจะกลับเข้ามาสู่ก่อนวิกฤต COVID

 (2) วิกฤตการเมือง เมื่อเศรษฐกิจประสบปัญหายาวนาน ทำให้ระบบสวัสดิการสังคมเข้าสู่ภาวะวิกฤต ผู้คนก็จะออกมาประท้วง นำมาสู่ความไม่สงบ ดังที่เห็นจากประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศที่กำลังประสบปัญหาดังกล่าว เช่น แอฟริกาใต้ โคลัมเบีย ตูนิเซีย ในขณะที่ในอีกหลายประเทศ เช่น บราซิล อินเดีย และเม็กซิโก ที่สถาบันและองค์กรอิสระต่าง ๆ ก็ถูกประท้วงโดยประชาชนเช่นกัน และ

 (3) วิกฤตเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นหลังวิกฤต COVID ผ่านพ้นไป อันเป็นผลจากการที่เศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนายังไม่ฟื้นตัวดี ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วโดยเฉพาะสหรัฐที่ฟื้นตัวขึ้นเริ่มมีปัญหาด้านเงินเฟ้อ จึงต้องเร่งทำนโยบายการเงินตึงตัวขึ้น ทำให้ประเทศตลาดเกิดใหม่เผชิญกับความเสี่ยงเงินทุนไหลออกหากประเทศพัฒนาแล้วขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงขึ้น 

ยุคทองของตลาดเกิดใหม่หมดลงแล้ว นักลงทุน นักธุรกิจ และผู้กำหนดนโยบาย โปรดพึงระวัง