ตั้งเป้า 10 ปี (2575) คนจนเหลือศูนย์

ตั้งเป้า 10 ปี (2575) คนจนเหลือศูนย์

การขจัดความยากจนให้หมดไป 100% คงทำได้ยาก เพราะจำนวนคนจนคล้ายระบบน้ำไหลเวียน คือ เมื่อมีคนพ้นจนไหลออกไป ก็มีคนจนหน้าใหม่ไหลวนเวียนมาเรื่อยๆ

การแก้ปัญหาความยากจนให้มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องใช้ข้อมูลรายบุคคลเป็นพิมพ์เขียวในการแก้ปัญหาความยากจน ไม่สามารถใช้ข้อมูลคนจนที่มาจากการสำรวจได้ เพราะไม่รู้ใครเป็นใคร บ้านอยู่ไหน อาชีพอะไร

ที่สำคัญการจะบอกว่าใครจน ใครไม่จน ไม่ควรดูเฉพาะรายได้อย่างเดียว อย่างน้อย ๆ ควรดูเงินฝาก บ้าน ที่ดิน รถยนต์ ด้วย เช่น นาย ก. รายได้ 0 บาทต่อปี (นิยามเดิมถือเป็นคนจนแน่นอน) แต่ถ้าพบว่า นาย ก. มีเงินฝาก 100 ล้านบาท มีที่ดิน 100 ไร่ มีรถเบนซ์ 2 คัน ภรรยามีรายได้เดือนละ 1 แสนบาท ผมว่าบ้านนี้ไม่น่าจะจนนะ ฉะนั้น การกำหนดนิยาม “ความยากจน” ให้ชัดเจนตรงกันทุกฝ่าย และฐานข้อมูลที่ใช้จะเอาของใคร น่าจะเป็นกระดุมเม็ดแรก

 

เอาหละ ถ้ายังกำหนดไม่ได้ตอนนี้ การใช้เส้นความยากจน (Poverty line) ไปก่อนก็ไม่ผิดอะไร เส้นความยากจนจัดทำโดยสภาพัฒน์ฯ ใช้ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ มาสร้างเป็นเครื่องมือสำหรับใช้วัดภาวะความยากจน โดยคำนวณจากต้นทุนหรือมูลค่าในการได้มาซึ่งอาหารและสินค้าบริการที่เป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตขั้นต่ำของปัจเจกบุคคลเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคม ปกติจะวัดเป็นค่าใช้จ่ายต่อคนต่อเดือน

เช่น ในปี 2562 อยู่ที่ 2,763 บาทต่อคนต่อเดือน รายจ่ายหรือรายได้ของใครอยู่ต่ำกว่าเส้นนี้ถือเป็นคนจนตามนิยามข้างต้น ที่น่าสนใจมาก ๆ คือ เส้นความยากจนในแต่ละจังหวัดสูงต่ำไม่เท่ากัน เช่น กทม. สูงสุดของประเทศอยู่ที่ประมาณ 3,300 บาทต่อคนต่อเดือน ส่วนของ จ.เพชรบูรณ์ ต่ำสุดของประเทศอยู่ที่ประมาณ 2,300 บาทต่อคนต่อเดือน สูงสุดกับต่ำสุดห่างกันประมาณ 1,000 บาทต่อเดือน ฉะนั้น การกำหนดระดับเป้าหมายความยากจนเพื่อการบริหาร จะเอาของประเทศก็ได้ หรือจะเอาของแต่ละจังหวัดก็ดี อันนี้เป็นกระดุมเม็ดที่ 2

 

กระดุมเม็ดที่ 3 ถือเป็นฐานคิดที่สำคัญมาก หากจะให้การแก้ปัญหาความยากจนได้ผล 100% ต้องออกแบบระบบการติดตามและประเมินผลแบบปีต่อปี คนที่ลงในปีถัดไปก็นับเป็นรุ่นใหม่ ไม่เอามาปนกัน เพื่อให้ติดตามและวิเคราะห์ได้ว่า คนในฐานข้อมูลปีนั้น ๆ ใครบ้างมีรายได้เพิ่มขึ้น ใครบ้างที่มีรายได้ลดลง และแต่ละคนขาดกี่บาทเขาจึงจะพ้นเส้นความยากจนของประเทศหรือของจังหวัด ในปีถัดไปเขายังอยู่หรือพ้นเส้นความยากจนไปแล้ว

 

ฐานคิดนี้ ต้องจัดกลุ่มผู้มีรายได้น้อยออกเป็น 3 กลุ่ม ตามระดับรายได้ ได้แก่

1) กลุ่ม A ไม่มีรายได้เลยแม้แต่บาทเดียว (ไม่ประกอบอาชีพหรือว่างงาน)

2) กลุ่ม B มีรายได้ แต่ยังต่ำกว่าเส้นความยากจน แยกย่อยลงเป็น 1 - 10,000 บาทต่อปี 10,001 - 20,000 บาทต่อปี และ 20,001 – 30,000 บาทต่อปี

3) กลุ่ม C มีรายได้ และสูงกว่าเส้นความยากจน 30,001 - 100,000 บาทต่อปี (เพดานสูงสุดของผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ)

 

สมมติว่า กระดุมเม็ดที่ 2 เราใช้เส้นความยากยากจนระดับประเทศที่ประมาณ 30,000 บาทต่อปี เป็นเกณฑ์  ก็จะมีภาพนี้ภาพเดียว แต่ถ้าใช้เส้นความยากจนรายจังหวัดเป็นเกณฑ์ ภาพนี้ก็จะมี 77 ภาพย่อย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนำไปบริหาร และยังสามารถแตกออกเป็น 878 อำเภอ 7,255 ตำบล และ 75,032 หมู่บ้านได้ ทำให้พื้นที่แต่ละระดับมีตัวเลขตั้งต้นและตัวเลขเป้าหมายในแต่ละปีที่ชัดเจน

 

ส่วนกระดุมเม็ดที่ 3 สมมติว่า คนที่ไม่มีรายได้เลย จนถึงมีรายได้ 100,000 บาทต่อปี มีจำนวน 14 ล้านคน แบ่งเป็นกลุ่ม A = 3 ล้านคน กลุ่ม B = 7 ล้านคน และ กลุ่ม C = 4 ล้านคน ฉะนั้น กลุ่มเป้าหมายของเราคือจำนวนคน 10 ล้านคน ที่อยู่ที่ต่ำกว่าเส้นความยากจน ดังภาพ

162572851984  

กระดุมเม็ดที่ 4 เป็นกระดุมที่สำคัญที่สุด คือ วิธีการเติมรายได้ให้เต็ม 30,000 บาทต่อปี ได้อย่างไร โปรแกรมในแต่ละปีต้องมีทั้งการพัฒนาอาชีพควบคู่กับการบรรเทาภาระค่าครองชีพ ซึ่งเรามีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นช่องทางหลักอยู่แล้ว สมมติถ้าตั้งเป้าหมายไว้ที่ 30,000 บาทต่อเดือน

 

แนวทางที่คิดเร็ว ๆ มีดังนี้

  • กลุ่ม A ขาดรายได้ 2,500 บาทต่อเดือน (หาเงินให้ได้วันละ 83 บาท) ต้องหางานให้ทำ
  • กลุ่ม B1 ขาดรายได้ประมาณ 2,084 บาทต่อเดือน (หาเงินให้ได้วันละ 69 บาท) กลุ่ม B2 ขาดรายได้ประมาณ 1,167 บาทต่อเดือน (หาเงินให้ได้วันละ 39 บาท) และกลุ่ม B3 ขาดรายได้ประมาณ 834 บาทต่อเดือน (หาเงินให้ได้วันละ 28 บาท) กลุ่มนี้ต้องยกระดับรายได้ พัฒนาอาชีพ สำหรับอาชีพหลัก และอาชีพเสริม เพิ่มโอกาสและช่องทางในการทำมาหากิน เพิ่มทักษะที่จำเป็น เช่น การขายออนไลน์
  • กลุ่ม C เกินเส้นความยากจนอยู่แล้วจึงไม่ใช่เป้าหมายของเรา แต่รัฐอาจจะช่วยต่อยอดการหารายได้ เพิ่มทักษะในการประกอบอาชีพ และให้หลักประกันทางสังคม

 

ถ้าดูตัวเลขการลดลงของจำนวนคนจนในแต่ละปีของสำนักงานสถิติแห่งชาติ จะพบว่า ในช่วง 32 ปีที่ผ่านมา จำนวนคนจนลดลงเฉลี่ยปีละ 930,000 คน ดังนั้น การลดจำนวนคนจนที่มีอยู่ปัจจุบัน 10 ล้านคน ให้เหลือ 0 คน ภายใน 10 ปี (ปี 2575) โดยการลดปีละ 1 ล้านคน จึงอยู่ในวิสัยที่สามารถทำได้

 

ที่สำคัญรัฐบาลต้องจัดหาปัจจัยในการประกอบอาชีพ และออกแบบระบบการช่วยเหลือให้เกิดแรงจูงใจที่ประกอบอาชีพต่อเนื่อง มีรายได้สม่ำเสมอ และทุกสิ้นปีรัฐบาลจะทราบว่า แต่ละหมู่บ้านใครบ้างที่พ้นเส้นความยากจนแล้ว ส่วนคนที่ยังไม่พ้นเป็นเพราะอะไร รัฐควรทำอะไรเพิ่มเติมให้กับเขาเหล่านั้นบ้าง ... ผมว่าแผนนี้ทำได้จริงครับ