ทางสายกลางที่เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง

ทางสายกลางที่เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง

ข่าวการแถลงผลงานของรัฐบาลรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ได้มีการนำเสนอแผนการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ และการเมืองไทย

ให้เข้มแข็งในอีก 20 ปีข้างหน้า สรุปความได้ว่ามี แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม แผนการขับเคลื่อน 10 คลัสเตอร์อุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน แผนการลงทุนระบบบริหารจัดการน้ำระยะ 10 ปี และเพิ่มพื้นที่ชลประทาน แผนระบบเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อรองรับการค้าในระบบดิจิทัล แผนขยายตลาดการค้าตามความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียนและทีพีพี และแผนการปฏิรูประบบราชการและกฎหมาย เป็นต้น

เป้าหมายหลักที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ก็คือ การวางรากฐานให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่อเนื่องในระยะยาว แต่ความสำเร็จของแผนงานเหล่านี้ ก็จะขึ้นอยู่กับรูปแบบของระบบการเมืองในอนาคตด้วยเช่นกัน ซึ่งรัฐบาลก็ตระหนักถึงความจริงข้อนี้ ดังเห็นได้จากการรายงานข่าวคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีตอนหนึ่งว่า “......นักการเมืองที่จะเข้ามาควรกำหนดนโยบายหาเสียง และบอกว่าจะปฏิรูปประเทศไปอย่างไร แต่หากหาเสียงแบบเดิมก็จะมีแต่คนรายได้น้อยมาเลือก เพราะเขาต้องการเงินไปเลี้ยงครอบครัว ส่วนคนที่มีรายได้ปานกลาง ก็ต้องเข้ากระบวนการประชาธิปไตยเช่นกัน ถ้าบอกว่าไม่ชอบนักการเมือง ไม่ชอบการเลือกตั้ง จึงไม่ออกมาเลือกตั้ง จะทำให้เสียงของคนที่อยากมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า ทุกคนต้องใช้ประชาธิปไตยอย่างถูกต้อง คือต้องออกมาลงประชามติและเลือกตั้ง ไม่เช่นนั้น ก็จะมีเพียงคนบางกลุ่มมาเลือกคนของตัวเอง..” (ที่มา: http://www.dailynews.co.th/politics/368754)

ผู้เขียนขออนุญาตวิเคราะห์ต่อยอดเชิงวิชาการในประเด็นที่ว่า คนทั่วไปนั้นตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกนักการเมือง ตามระดับรายได้ของตนเพียงอย่างเดียวหรือไม่อย่างไร ด้วยคาดหวังว่าคำตอบที่ได้อาจให้นัยของทางออกใหม่ๆ ได้ ขอเริ่มจากงานของ Shayo (2009) และ Lindqvist and Ostling (2013) ที่นำเสนอว่า ประชาชนทั่วไปนอกจากจะเผชิญกับปัญหาเรื่องการบริโภค ภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณแล้ว พวกเขายังต้องตัดสินใจเลือกว่า จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มทางสังคมที่มีอัตลักษณ์เฉพาะด้าน ที่เกี่ยวข้องกับตนอย่างไรบ้างด้วย ซึ่งแต่ละคนก็จะมีกลุ่มสังคมที่จะสังกัดได้ในสองมิติพร้อมๆ กัน คือ

(ก) มิติของกลุ่มสังคมทางด้านรายได้ ซึ่งสมาชิกในกลุ่มนี้จะแบ่งเป็นกลุ่มตามระดับรายได้คือ กลุ่มระดับรายได้ต่ำ (ได้แก่ แรงงานกรรมกรก่อสร้าง หรือแม่ค้าหาบเร่ เป็นต้น) กับกลุ่มระดับรายได้ปานกลางถึงสูง (เช่น แพทย์ วิศวกร หรือนักธุรกิจ เป็นต้น)  และ

(ข) มิติของกลุ่มสังคมตามถิ่นกำเนิดหรือเชื้อชาติ (เช่น คนภาคอีสาน หรือภาคใต้ เป็นต้น) ประชาชนแต่ละคน จะต้องเลือกเข้าร่วมกับกลุ่มสังคมตามถิ่นกำเนิดของตน หรือไม่ก็เลือกที่จะเข้าร่วมกับกลุ่มสังคมตามช่วงชั้นรายได้ ที่สอดคล้องกับรายได้ของตน ผลจากการตัดสินใจเลือกเข้ากลุ่มสังคมอย่างใดอย่างหนึ่ง ของประชาชนนี้ จะทำให้พวกเขาโน้มเอียงที่จะลงคะแนนเสียงตามความเห็นชอบของกลุ่มสังคมนั้นๆ ที่ตนเองสังกัดอยู่ด้วย (อิทธิพลจากกฎกติกาที่ยอมรับกันในสังคมนั้นๆ)

ตัวอย่างเช่น แรงงานจากภาคใต้ที่มีรายได้อยู่ในช่วงระดับต่ำ และสัมพันธ์กับกลุ่มสังคมที่มีถิ่นกำเนิดจากภาคใต้ ก็จะมีทางเลือกว่าจะเลือกเข้ากลุ่มสังคมตามถิ่นกำเนิด หรือกลุ่มสังคมตามชั้นรายได้ ซึ่งแรงงานคนใต้ในตัวอย่างสมมตินี้ หากจะอยู่ในกลุ่มสังคมที่มีสถานะสูงขึ้น ก็จะเลือกไปสังกัดกับกลุ่มสังคมตามถิ่นกำเนิด (คือกลุ่มที่รวมคนใต้ทั้งที่รวยและจนเข้าด้วยกัน) มากกว่าที่จะเลือกไปอยู่กับกลุ่มสังคมตามชั้นรายได้ (ซึ่งรวมคนที่มีระดับรายได้ต่ำจากทุกภาคเข้าด้วยกัน)

ฉะนั้นแรงงานคนใต้ตามตัวอย่างสมมตินี้ ก็จะลงคะแนนเสียงเลือกนักการเมืองตามกลุ่มสังคมที่มีถิ่นกำเนิดจากภาคใต้เป็นหลัก เพราะมีความผูกพันกับสังคมที่ตนเองสังกัดอยู่นั่นเอง ตัวอย่างจากกรณีนี้แสดงให้เห็นว่า หากพิจารณาถึงการเข้าร่วมกลุ่มทางสังคมที่เป็นอีกมิติ นอกเหนือจากมิติทางด้านรายได้แล้ว ก็จะได้ว่า กลุ่มคนรายได้น้อยที่เป็นเสียงส่วนใหญ่นั้น ไม่จำเป็นต้องเลือกพรรคการเมืองที่มุ่งขายแต่นโยบายประชานิยมแบบสุดโต่งเสมอไป เพราะคะแนนเสียงข้างมากของคนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งนั้น จะเท่ากับค่ามัธยฐานซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของคนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด มากกว่าที่จะเบ้ไปทางฝ่ายประชานิยมสุดโต่ง เหมือนเช่นที่คนทั่วไปมักเข้าใจกัน

ซึ่งผลลัพธ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของมุมมองตามแนวทางสายกลาง ที่จะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ที่เกิดจากความหวั่นวิตกว่า กลุ่มคนรวยกับกลุ่มคนจนจะเลือกพรรคการเมืองที่มีคุณภาพแตกต่างกัน และกลุ่มคนจนซึ่งมีจำนวนมากกว่าจะเป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้งเสมอ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วกลับไม่เป็นเช่นนั้น หากเราปล่อยให้คนเหล่านั้นมีเวลาในการเรียนรู้ด้วยตนเอง เหตุผลสำคัญก็คือว่า สังคมไทยนั้นเปิดโอกาสให้คนจนที่ขยันขันแข็ง และรู้จักอดออมเพื่อการลงทุนในเชิงธุรกิจ สามารถขยับยกฐานะทางเศรษฐกิจของตนให้สูงขึ้นได้นั่นเอง

ซึ่งประเด็นนี้ได้รับการยืนยันจากงานศึกษาเกี่ยวกับประเทศไทยของ Pawasutipaisit and Townsend (2010) ที่พบว่า ความเหลื่อมล้ำในเชิงสินทรัพย์ของครัวเรือนไทย มีแนวโน้มลดลงเมื่อเวลาผ่านไป โดยที่หลายๆ ครัวเรือนสามารถหลุดออกจากความยากจนได้ภายในช่วงเวลาเจ็ดปี ซึ่งเป็นผลมาจากการออมของครัวเรือน และการมีประสิทธิภาพในการใช้เงินออมนั้น ให้ได้รับผลตอบแทนที่สูง ส่วนปัจจัยสำคัญที่ทำให้ครัวเรือนได้รับผลตอบแทนที่สูงนั้น ได้แก่ ระดับการศึกษา การมีหัวหน้าครัวเรือนที่อายุไม่มาก และการมีสัดส่วนของหนี้ต่อสินทรัพย์ที่สูง (เพราะเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้) ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นนัยเชิงนโยบายที่ทางรัฐบาลสามารถนำไปใช้พัฒนาให้คนยากคนจนจำนวนมากขึ้น ได้รับโอกาสในการศึกษาที่ดี เพื่อจะได้รู้จักลงทุนกับการอดออมของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่ออนาคตของตนเองและประเทศชาติต่อไป โดยไม่ต้องหวังรอแต่จะพึ่งนโยบายประชานิยมแบบสุดโต่งเพียงอย่างเดียว

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนขอถือโอกาสนี้ส่งความปรารถนาดี พร้อมทั้งคำกล่าวสวัสดีปีใหม่ต่อผู้อ่านและญาติมิตร เพื่อนพ้องทั้งหลาย พร้อมทั้งฝากความหวังไว้กับเศรษฐกิจไทย ที่เริ่มต้นพัฒนามาจากการใช้แรงงาน ทุน และความรู้นั้นว่า จะได้ก้าวหน้ารุ่งเรืองต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งเช่นอดีตที่ผ่านมา

ซาเล้งสามล้อ ง้อแรงถีบ

แต่ถ้ารีบ เฮาก็บิด สองล้อเครื่อง

เศรษฐกิจ หายสะดุด สุดรุ่งเรือง

ไม่ฝืดเคือง เรื่องปัญญา พัฒนาไกล