Social Market Economy: เศรษฐกิจระบบตลาดและสังคม

บทความในสัปดาห์นี้เป็นเนื้อหาที่ได้รับจากการเข้าร่วมสัมมนา ที่จัดขึ้นโดย มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ (Konrad Adenauer Stiftung) ประเทศเยอรมัน
ซึ่งมีสำนักงานประจำประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันสหสวรรษ และสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ร่วมกันจัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา
เศรษฐกิจระบบตลาดและสังคม เป็นระบบเศรษฐกิจที่ประเทศเยอรมันได้นำมาใช้พัฒนาประเทศภายหลังการเกิดวิกฤติประเทศครั้งสำคัญหลังจากการพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 จนทำให้ประเทศเยอรมันสามารถนำตนเองมาสู่การเป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมระดับแนวหน้าของโลกในปัจจุบันนี้
ที่มาของแนวคิดเศรษฐกิจแบบนี้ เกิดขึ้นมาจากการพัฒนาการบริหารประเทศด้วยแนวคิดต่างๆ มาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยที่เยอรมัน เริ่มจากการเป็นประเทศสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ปกครองโดยจักรพรรดิ์ ที่เรียกกันว่า “ไกเซอร์” มีอำนาจในการตัดสินใจบริหารประเทศอย่างเด็ดขาดแต่ผู้เดียว
และปรากฎว่า ระบอบศูนย์รวมอำนาจนี้ ได้ตัดสินใจนำเยอรมันเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 และเป็นผู้พ่ายแพ้สงครามไปในที่สุด ทำให้ประเทศต้องได้รับมรสุมอย่างหนักจากผลของสงคราม ทำให้ระบบเศรษฐกิจแบบสมบูรณญาสิทธิราชไม่ได้รับความนิยมอีกต่อไป
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เยอรมันถูกประเทศผู้ชนะสงครามกำหนดให้หันมาใช้เศรษฐกิจระบบทุนนิยม มีการร่างรัฐธรรมนูญระบอบประชาธิปไตยขึ้นมา เรียกว่า รัฐธรรมนูญฉบับ Weimar ผ่านการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงของประชาชน ซึ่งทำให้ประเทศสามารถสร้างความเข้มแข็งขึ้นมาได้จากความบอบช้ำของการแพ้สงคราม
แต่ต่อมา ประสบการณ์ของเยอรมันภายใต้การปกครองแบบประชาธิปไตยและเศรษฐกิจระบบทุนนิยม (หรือเศรษฐกิจระบบตลาด) ได้ค่อยๆ พัฒนาไปสู่การรวมกลุ่มของผู้ผลิตเพื่อควบคุมตลาดและผูกขาดการค้า และการแสวงหาอำนาจทางการเมือง โดยใช้กลไกและช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญเป็นหนทางเข้าสู่อำนาจ
นำไปสู่การสร้างจักรวรรดิไรช์ที่ 3 หรือ นาซีเยอรมันขึ้นมา โดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ นำเยอรมันเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 และพ่ายแพ้อีกครั้งหนึ่ง
ทำให้เศรษฐกิจระบบทุนนิยมสูญเสียความน่าเชื่อถือจากประชาชนชาวเยอรมันอย่างรุนแรง
ผลของสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เยอรมันต้องถูกแบ่งแยกการปกครองออกไปเป็นเยอรมันตะวันตกภายใต้เศรษฐกิจระบบทุนนิยม และเยอรมันตะวันออกภายใต้เศรษฐกิจระบบสังคมนิยม
ประเทศเยอรมันได้ผ่านช่วงประวัติศาสตร์ของการใช้ระบบเศรษฐกิจมาแล้วแทบทุกระบบ มีประสบการณ์และได้สัมผัสข้อดีข้อเสียของเศรษฐกิจในระบบที่แตกต่างกันได้เป็นอย่างดี
ดังนั้น ภายหลังความสำเร็จในการรวมประเทศ ทำให้เยอรมันได้ทบทวนแนวทางต่างๆ และได้สรุปว่า ทั้งแนวคิดแบบทุนนิยม หรือ สังคมนิยม เป็นแนวทางที่ผิดพลาดในอดีต
เยอรมันหลังรวมประเทศ จึงได้สร้างแนวคิดสู่การบริหารประเทศด้วยเศรษฐกิจระบบตลาดและสังคม
โดยให้ความสำคัญกับการค้าเสรี และมีรัฐที่เข้มแข็ง โดยรัฐเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์กติกาทางการค้า และเป็นผู้รักษากฎ เพื่อไม่ให้เกิดอำนาจครอบครองตลาดโดยผู้ผลิตผู้ใดผู้หนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
สร้างระเบียบในสังคมที่ดำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สร้างให้ประชาชนเกิดความรับผิดชอบต่อตนเอง ซึ่งจะทำให้ขยายผลต่อเนื่องไปยังความรับผิดชอบต่อสังคมได้ง่ายขึ้น
รัฐช่วยพัฒนาให้ประชาชนมีความรู้ มีทักษะ ในขั้นพื้นฐานที่เท่าเทียมกันผ่านนโยบายการศึกษาที่จะทำให้ประชาชนสามารถหางานทำได้ และตรงกับความต้องการของผู้ผลิต เช่น ระบบการศึกษาแบบอาชีวะศึกษาที่มีการฝึกทำงานจริงควบคู่ไประหว่างการศึกษา
รัฐเป็นผู้รับผิดชอบในการกำกับดูแลการแข่งขันในตลาดเพื่อนำไปสู่ระบบการผลิตที่มีคุณภาพและผลิตภาพ รัฐทำหน้าที่เป็นคนกลาง ไม่ใช่ลงมาผู้เล่นเสียเอง
นอกจากนั้น เศรษฐกิจระบบตลาดและสังคม ภายใต้แนวคิดแบบเยอรมันที่ได้พิสูจน์มาแล้วว่าได้ผลดี จนสามารถนำประเทศเยอรมันกลับมาได้รับการยอมรับในประชาคมโลกอีกครั้งหนึ่ง ยังประกอบด้วยลักษณะสำคัญอื่นๆ ได้แก่
- การใช้ระบบกลไกราคาแทนระบบการกำหนดราคา
- การสร้างเสถียรภาพของเงิน
- การอนุญาตให้เอกชนครอบครองทรัพย์สินได้
- การให้อำนาจของผู้บริโภคเพื่อกำหนดว่าผู้ผลิตควรจะผลิตสินค้าใด จำนวนเท่าใด โดยผู้บริโภคจะใช้อำนาจซื้อของตนในการเลือกซื้อสินค้าหรือบริการทราต้องการ แทนการให้อำนาจนี้แก่ผู้ผลิต
- การกระจายอำนาจ แทนการรวมอำนาจมาสู่ศูนย์กลาง
- ฯลฯ
มร. มัทธีอัส แชเฟอร์ (Mathias Schaefer) ซึ่งเป็นวิทยากรบรรยาย ได้ยกตัวอย่างที่น่าสนใจให้ฟังว่า ในยุคแรกๆ ของการนำหลักการเศรษฐกิจระบบการตลาดและสังคมมาใช้ มีการกำหนดระเบียบให้ผู้ผลิตเยอรมันต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับขยะที่หมดอายุการใช้งานแล้วจากผลิตภัณฑ์ของตนเอง ซึ่งได้รับการต่อต้านและคัดค้านอย่างรุนแรงจากกลุ่มผู้ผลิต โดยให้เหตุผลว่าจะเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตอย่างมหาศาล
แต่เมื่อรัฐมีความตั้งใจและจริงใจ จนในที่สุด การรับผิดชอบจัดการกับขยะผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุแล้ว กลับกลายเป็นแหล่งวัตถุดิบใช้ซ้ำที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องใช้วัตถุดิบราคาแพง เช่น แร่ธาตุต่างๆ และทองคำ กลับสามารถใช้ชิ้นส่วนเก่า นำมาใช้ซ้ำ ทำให้สามารถมีต้นทุนที่แข่งขันได้กับผู้ผลิตในประเทศอื่นๆ ที่ต้องใช้ทรัพยากรและวัตถุดิบที่ต้องหามาใหม่ตลอดเวลา
และยังเป็นการช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรที่มีค่าของโลกให้ดำรงอยู่และใช้งานได้อย่างยาวนานอย่างเต็มประสิทธิภาพ แทนที่ต้องทิ้งไปอย่างสูญเปล่า
หัวข้อของการสัมมนานี้ ตั้งชื่อในภาคภาษาไทยไว้ว่า “เศรษฐกิจระบบตลาดและสังคม: จะสามารถช่วยปฎิรูปเศรษฐกิจและสังคมของไทยได้หรือไม่?”
ฟังดูแล้วก็น่าคิดเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการปฏิรูปของประเทศที่ผ่านเส้นทางปัญหาต่างๆ และสามารถพิสูจน์โมเดลแห่งความสำเร็จให้เห็นได้แล้วอย่างชัดเจน !!!!