ท่าที 'นายกฯ-อัยการสูงสุด-ผบ.ตร.' ต่อคดี 'บอสอยู่วิทยา'

ท่าที 'นายกฯ-อัยการสูงสุด-ผบ.ตร.' ต่อคดี 'บอสอยู่วิทยา'

จับประเด็นดัง! ท่าที นายกฯ,อัยการสูงสุด,ผบ.ตร., ต่อคดี บอสอยู่วิทยา

กระแสสังคมทุกภาคส่วน ออกมาแสดงความคิดความเห็น ต่อ "กระบวนการยุติธรรม" ในกรณีคดี "บอส วรยุทธ อยู่วิทยา" ทายาทมหาเศรษฐีแห่งอาณาจักรธุรกิจระดับแสนล้าน

กล่าวได้ว่า การใช้อำนาจตามกฎหมายของ "เจ้าหน้าที่รัฐ" เพื่ออำนวยการความยุติธรรมในคดีดังกล่าว สั่นสะเทือนถึง 3 องค์กร ตั้งแต่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) , สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) และฝ่ายบริหาร อย่าง สำนักนายกรัฐมนตรี (นร.) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผู้นำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) อย่าง พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ออกคำสั่งลงนามวานนี้ (26 ก.ค.) 

กรณีตามที่ปรากฏข่าวสารทางสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ และสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ กรณีพนักงานอัยการและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาตามกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมตามขั้นตอนการดำเนินคดีอาญา นายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ผู้ต้องหา ส่งผลให้มีการวิพากษ์วิจารณ์และเคลือบแคลงสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ ของข้าราชการตำรวจ นั้น

ท่าที \'นายกฯ-อัยการสูงสุด-ผบ.ตร.\' ต่อคดี \'บอสอยู่วิทยา\'

จึงมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เกี่ยวกับการดำเนินการของข้าราชการตำรวจว่าเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องหรือไม่

มอบหมายให้ พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. เป็นประธาน พร้อมคณะกรรมการ รวม 10 ราย ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่รับทราบคำสั่ง พร้อมรายงานผลให้ทราบเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ผู้นำสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด มีคำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุดที่พิเศษ /2563 เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดี ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่ามีการพิจารณาสั่งสำนวนคดี โดยมีคำสั่งไม่ฟ้อง และผู้บังคับบัญชาเห็นชอบแล้ว ในการตรวจสอบเบื้องต้นปรากฏว่าเป็นสำนวน ส.1 เลขรับที่ 107/2556 ของสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1

เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงปรากฏชัด อาศัยอำนาจพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 19 ประกอบมาตรา 27 จึงแต่งตั้งคณะทำงาน ดำเนินการตรวจสอบว่าการพิจารณาสั่งสำนวนคดีดังกล่าว เป็นไปตามหลักกฏหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง และมีเหตุผลในการพิจารณาสั่งคดีอย่างไร โดยคณะทำงานมีองค์ประกอบดังนี้

ท่าที \'นายกฯ-อัยการสูงสุด-ผบ.ตร.\' ต่อคดี \'บอสอยู่วิทยา\'

1.นายสมศักดิ์ ติยะวานิช รองอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน
2.นายสิงห์ชัย หนินซ้อน อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา เป็นคณะทำงาน
3.นายชาติพงศ์ จีระพันธุ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร เป็นคณะทำงาน
4.นายปรเมศว์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญาธนบุรี เป็นคณะทำงาน
5.นายชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา เป็นคณะทำงาน
6.นายอิทธิพร แก้วทิพย์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา เป็นคณะทำงานและเลขานุการ
7.นายประยุทธ เพชรคุณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 เป็นคณะทำงานและผู้ช่วยเลขานุการ

ทั้งนี้ ให้คณะทำงานมีอำนาจหน้าที่เรียกสำนวนมาตรวจสอบ รวมถึงสอบถามบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยให้ดำเนินการโดยด่วนที่สุด

ขณะเดียวกัน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จากการเปิดเผยของนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี วานนี้ว่า นายกรัฐมนตรี ติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด กรณีที่สำนักงานอัยการสูงสุด มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีต่อนายวรยุทธ อยู่วิทยา ในทุกข้อกล่าวหา และสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่แย้งคำสั่งของอัยการ

เมื่อท่านนายกรัฐมนตรีทราบจากข่าวแล้ว ด้วยความไม่สบายใจ และเห็นว่าควรต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้เกิดความชัดเจนเพื่อความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยท่านนายกรัฐมนตรีรู้สึกเข้าใจดีถึงความรู้สึกของประชาชน พร้อมกับสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริงของคดีดังกล่าวตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ถึงขั้นตอนของอัยการว่าเป็นมาอย่างไร พร้อมทั้งรายงานโดยด่วน และยืนยันนายกรัฐมนตรีไม่เคยช่วยเหลือใคร ไม่เคยแทรกแซงการทำงานของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม และไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง

ท่าที \'นายกฯ-อัยการสูงสุด-ผบ.ตร.\' ต่อคดี \'บอสอยู่วิทยา\'

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ย้ำว่าผู้ที่เกี่ยวข้องหลักตามกระบวนการยุติธรรมในกรณีนี้ คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจเจ้าของคดี และพนักงานอัยการ โดยเฉพาะอัยการนั้น นายกรัฐมนตรีไม่ได้เป็นผู้แต่งตั้งและมีอำนาจพิจารณาคดีได้อย่างอิสระตามขอบเขตของกฎหมาย ดังนั้น นายกรัฐมนตรีไม่สั่งการใครในคดีนี้ และทุกอย่างต้องเป็นไปตามพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริง และขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม หากใครทำผิดจะต้องถูกลงโทษทั้งสิ้น พร้อมทั้งเตือนขอให้อย่านำเรื่องนี้ไปบิดเบือนหรือเชื่อมโยงกับปัญหาอื่น ๆ จนเกิดความเข้าใจผิดและสับสน นอกจากนี้ ขณะนี้สตช. และ สนช.ในขณะนั้น กำลังเตรียมการตั้งคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการเรื่องดังกล่าวโดยด่วน เพื่อให้สังคมปราศจากข้อสงสัยได้โดยเร็วที่สุด

กล่าวคือทั้ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี , นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด และ พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต่างประสานเสียงในการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ในสายงานการบังคับบัญชาของตนเองแล้ว น่าติดตามยิ่งว่า ผลจะออกมาอย่างไร!?