สิทธิคู่ชีวิต : ความต่างที่ต้องการเวลาพัฒนาสู่ความเท่าเที่ยม

สิทธิคู่ชีวิต : ความต่างที่ต้องการเวลาพัฒนาสู่ความเท่าเที่ยม

“ความแตกต่าง” คือคำนิยามเบื้องต้นที่อธิบายความเป็นมนุษย์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งการ “ยอมรับ” และ “เคารพ” ในความแตกต่างเป็นหลักการพื้นฐานที่สุด

ของการอยู่ร่วมกันในสังคมยุคประชาธิปไตยในปัจจุบัน หากเรามองย้อนไปยังสังคมสมัยโบราณ สิ่งที่สามารถจำแนกความแตกต่างอันเป็นลักษณะพิเศษแห่งบุคคลหรือที่เรียกว่าอัตลักษณ์นั้นอาจไม่ชัดเจนนัก ส่วนหนึ่งเพราะความสนใจของมนุษย์ในสังคมยุคเริ่มแรกนั้นคือ ความอยู่รอดและปากท้องของตน ประกอบกับการเข้าถึงสังคมวงกว้างนั้นทำได้เพียงน้อยนิดเนื่องด้วยระดับทางเทคโนโลยีในสมัยนั้น แต่เมื่อมองดูมนุษย์ สังคมและเทคโนโลยีในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า ความต้องการเบื้องต้นของคนหมู่มากหาใช่ความอยู่รอดอีกต่อไป แต่กลับกลายเป็นการยอมรับและเคารพในความเป็นปัจเจกชนของบุคคล

ปลายปีที่ผ่านมามีความคาดหวังที่ส่งเสียงดังๆ ผ่านคนกว่า 6 ล้านคนทั่วไทย กับความชื่นชมยินดีว่า ตนผู้ซึ่งเป็นกลุ่มคนหลากหลายทางเพศจะได้รับการยอมรับความเท่าเทียมในด้าน การสมรส แต่เมื่อพิจารณาจากตัว ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ดังกล่าว กลับพบความแตกต่างที่นำมา ซึ่งข้อเรียกร้องของภาคประชาชนที่มีต่อตัวร่างกฎหมาย กล่าวโดยสรุปคือ สิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศยังไม่ได้รับคุ้มครองเฉกเช่นบุคคลธรรมดาทั่วไปที่ขีดความหมายไว้แค่ ชาย กับ หญิง

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต คือนิยามคำว่า “คู่ชีวิต” และเงื่อนไขการจดทะเบียนเป็น “คู่ชีวิต” แห่งกฎหมาย อันมี 4 ประการ คือ 1) ต้องเป็นการจดทะเบียนระหว่างเพศเดียวกัน ซึ่งไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ตามหลักกฎหมายทั่วไป ไม่ใช่ระหว่างชายและหญิง 2) ต้องมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ 3) ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องมีสัญชาติไทย และ 4) ทั้งสองฝ่ายจะต้องแสดงคำร้องและความยินยอมต่อหน้านายทะเบียน เมื่อทำตามหลักเกณฑ์ครบถ้วนแล้วกฎหมายจึงจะให้สิทธิบางประการแก่คู่ชีวิตดังกล่าว

แต่เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ที่ก่อให้เกิดผลทางกฎหมายในลักษณะเดียวกันระหว่าง “ชาย” กับ “หญิง” พบว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 1448 กลับให้สิทธิกับบุคคลดังกล่าวโดยไม่จำกัดเงื่อนไขแห่งสิทธิที่จะได้รับตาม ป.พ.พ. และตามกฎหมายอื่น ๆ จากภาครัฐและเอกชน ขอเพียงแค่ได้รับการจดทะเบียนสมรสที่ถูกต้อง เมื่อมีสถานะเป็น คู่สมรสตามกฎหมาย จึงมีสิทธิและหน้าที่จากการเป็นคู่สมรสอันไร้ข้อจำแนกปลีกย่อย เช่นนี้เมื่อคำว่า “แต่งงาน” แตกต่างกับคำว่า “สมรส” ในทางกฎหมายฉันใด คำว่า “คู่ชีวิต” จึงมีความหมายแตกต่างจากคำว่า “คู่สมรส” ตามนัยแห่งกฎหมายฉันนั้น เพราะยังไม่เคยมีกฎหมายใด ๆ ในประเทศไทยบัญญัติมาก่อน

ดังนั้น การจดทะเบียนคู่ชีวิตจึงไม่ใช่การจดทะเบียนสมรสแต่อย่างใด จากประเด็นนี้จึงคำถามว่า สิทธิแห่ง คู่ชีวิตไม่เสมอภาคกับ คู่สมรสไม่ใช่ความเท่าเทียมระหว่างบุคคลนั้น เป็นเพียงแค่ความเท่าเทียมระหว่างคน 2 จำพวกที่ถูกแยกออกจากกันเท่านั้นหรือไม่ ซึ่งสิทธิที่กฎหมายยังไม่ได้ให้การรับรองมีดังนี้ 1) การตัดสินใจในการรักษาพยาบาลและจัดการศพคู่รักอีกฝ่าย 2) การรับบุตรบุญธรรมร่วมกันและการปกครองบุตรร่วมกัน 3) การมีบุตรด้วยวิธีการอุ้มบุญ โดยสิทธิดังกล่าวนี้ถูกบัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. และกฎหมายการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมอย่างชัดเจนว่าเป็นสิทธิของ “คู่สมรส” เท่านั้น

นอกจากนี้ เมื่อไม่ได้เป็น “คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย” ส่งผลทำให้ไม่อาจได้สิทธิทางกฎหมายอื่น ๆ ที่ยึดโยงกับคำว่าคู่สมรสได้โดยอัตโนมัติ จนกว่ากฎหมายนั้นๆ จะถูกแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิให้กับ “คู่ชีวิต” ตาม พ.ร.บ. คู่ชีวิตในภายหลัง อันได้แก่ 1) การลดหย่อนภาษีจากการมีคู่สมรส 2) การใช้ชื่อสกุลร่วมกับคู่สมรส 3) การเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแทนคู่สมรส เป็นต้น

จากข้อจำกัดด้านสิทธิดังกล่าวนั้นทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า พ.ร.บ. คู่ชีวิต เป็นสัญลักษณ์ของการเป็น พลเมืองชั้นที่2” ของกลุ่มคนรักร่วมเพศ ในประเด็นนี้หากเรามองย้อนไปยังประเทศที่มีหลักพื้นฐานแห่งการยอมรับและเคารพในความต่างทางเพศ เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษและสหรัฐ เป็นต้น จะเห็นได้ว่า “พัฒนาการ” อันก่อให้เกิดสิทธิทางกฎหมายตามมานั้น ต้องเริ่มต้นจากการยอมรับโดยคนส่วนใหญ่ในสังคมก่อนเสมอ หาใช่แค่การผลักดันของรัฐผ่านการบัญญัติกฎหมายเท่านั้น

ในฝรั่งเศสเริ่มต้นโดยใช้วิธีการแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มแรก มุ่งที่จะอธิบายกับคนที่ต่อต้านให้เกิดความเข้าใจและยอมรับความหลากหลายทางเพศสู่สังคมมหภาค จึงค่อยมีร่างกฎหมายคู่ชีวิต หรือ life partnership แยกออกมาเฉพาะ โดยเลือกที่จะไม่แก้ไขกฎหมายแพ่งโดยตรง ในอังกฤษใช้ระยะเวลาถึง 10 ปี จึงมีการยอมรับในหลักการอย่างแพร่หลายว่า สิทธิสมรสดังกล่าวเป็นสิทธิที่บุคคลทุกคนพึงมี จึงได้บังคับใช้กฎหมายให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสได้อย่างสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 2014 เช่นเดียวกับสหรัฐที่มีการเรียกร้องมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2558 ศาลสูงสหรัฐมีคำพิพากษารับรองสิทธิในการสมรสและการปกป้องที่เท่าเทียมกันสำหรับคู่รักเพศเดียวกัน ทำให้สามารถจดทะเบียนสมรสได้ตามกฎหมายทั่วทั้ง 50 รัฐ

เช่นนี้จึงเป็นเรื่องจริงที่ยืนยันได้ว่า การตรากฎหมายใดๆ หากมิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเท่าเทียม ความเสมอภาคและการมีส่วนร่วมของเจ้าของปัญหาอย่างเต็มที่ ย่อมเป็นการตอกย้ำความแตกต่างให้เกิดขึ้นสู่สังคม โดยผู้เขียนเห็นว่า ประเด็นที่สำคัญไปกว่าคือ สังคมไทยยอมรับและเคารพกับความหลากหลายทางเพศ มากพอแล้วหรือไม่ หากมีคนรักร่วมเพศมาสมัครเป็นครูอาจารย์หรือสอบได้เป็นอัยการผู้พิพากษา รวมถึงมาขอจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิตต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ตัวท่าน วิธีการแห่งรัฐหรือตัวเจ้าหน้าที่รัฐจะให้สิทธิในการได้มาซึ่งอาชีพหรือสิทธิพื้นฐานดังกล่าวแก่บุคคลเหล่านั้นหรือไม่ ด้วยเหตุนี้การพัฒนาให้กฎหมายมีความเท่าเทียมจึงหาใช่การแค่การตรากฎหมายบังคับใช้ และบอกกับสังคมว่าเกิดความเท่าเทียมแล้ว แต่เป็นการทำอย่างไรให้สังคมพัฒนาไปพร้อม ๆ กับความรู้สึก ยอมรับและ เคารพในเพศภาพของผู้อื่นอย่างแท้จริง ซึ่ง เวลาอันสะท้อนความคิดของสังคมจะเป็นตัวแปรที่สำคัญกับคำตอบนี้ หาใช่ กฎหมายแต่อย่างใด

โดย... 

ว่องวิช ขวัญพัทลุง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์