รุก เร่ง สร้าง EV Ecosystem | ต้องหทัย กุวานนท์

รุก เร่ง สร้าง EV Ecosystem | ต้องหทัย กุวานนท์

ข่าว(ลือ?)เรื่องการย้ายฐานการผลิตของค่ายรถยนต์ใหญ่ค่ายหนึ่ง ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยถึงกับสั่นสะเทือน แต่แทนที่เราจะกังวลกับข่าวนี้ สิ่งที่น่ากังวลกว่าก็คือประเด็นที่ว่า “อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยพร้อมเปลี่ยนผ่านไปสู่ รถยนต์ไฟฟ้า แล้วหรือยัง” 

ปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและได้เข้าสู่กระแสหลักในประเทศพัฒนาแล้ว หลายประเทศประกาศขีดเส้นตายของการเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2035

ข้อมูลวิเคราะห์จาก McKinsey ระบุว่า ภายในปี 2030 อินเดียและอินโดนีเซียจะกลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดอันดับสองและสามตามหลัง จีน ด้วยอัตราการเติบโต 60% ต่อปี 

ความท้าทายของเราคือ จะรักษาฐานที่มั่นการผลิตยานยนต์ในอนาคตได้อย่างไร เพราะไทยคือผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในอาเซียนและใหญ่ติดอันดับ 10 ของโลก ที่ผ่านมาเราเคยมีซัพพลายเชนที่แข็งแกร่งในเรื่องของการผลิตเครื่องยนต์สันดาป

แต่ด้วยการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรม เราต้องเร่งผลักดันตัวเองให้ก้าวไปสู่การเป็นฮับยานยนต์ EV ระดับโลก 

โดยเตรียมความพร้อมเรื่องซัพพลายเชนของแบตเตอรี่ไฟฟ้า การจัดตั้งสถานีชาร์จ การสร้างศูนย์บริการในรูปแบบใหม่ และกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือทั้งในและนอกอุตสาหกรรม เพื่อขับเคลื่อนเทคโนโลยีนวัตกรรมที่จะทำให้แข่งขันต่อไปได้

องค์กรขนาดใหญ่ในภาคเอกชนหลายองค์กรได้เริ่ม “รุก” เข้าสู่การลงทุนและพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อต่อยอดสู่อุตสาหกรรมใหม่

เช่น กลุ่ม ปตท จับมือกับ FOXCONN ผู้นำเทคโนโลยีนวัตกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลกสร้างโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าใช้เงินลงทุนกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้น 50,000 คันต่อปี และจะขยายเป็น 150,000 คันต่อปี 

รุก เร่ง สร้าง EV Ecosystem | ต้องหทัย กุวานนท์

บริษัทในเครือ Arun Plus ยังร่วมมือกับ CATL ผู้เล่นรายใหญ่ด้านแบตเตอรี่ลงทุนกว่า 3,600 ล้านบาท สร้างโรงงานประกอบแบตเตอรี่ลิเธียมในไทย

กลุ่มธุรกิจ INNOPOWER ภายใต้ ราชกรุ๊ปและ กฟผ.จับมือกับ TRIREC ซึ่งเป็นธุรกิจร่วมลงทุน (Venture Capital) จากประเทศสิงคโปร์ ร่วมจัดตั้งกองทุน Energy Ignition Ventures โดยมีแผนการลงทุนในสตาร์ตอัปกลุ่ม Decarbonization Technology ซึ่งครอบคลุมกลุ่ม Mobility และ EV Ecosystem 

ในมุมของภาครัฐเองการ “เร่ง” ส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศที่ส่งเสริมการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้า ต้องวางเป้าหมายหลักให้อยู่ที่การสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ให้อยากเข้ามาลงทุน รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายเดิมให้เปลี่ยนผ่านสู่อีวี

และที่สำคัญคือต้อง “สร้าง” ความเข้มแข็งทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อรองรับการใช้บริการของภาคอุตสาหกรรมในเรื่องของศูนย์ทดสอบ ศูนย์วิจัยและพัฒนา รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของสตาร์ตอัปไทยให้เข้ามาอยู่ในระบบนิเวศ 

เพราะการจะทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเติบโตได้ จำเป็นต้องมีผู้พัฒนาแพลตฟอร์มที่ทำให้เกิดการใช้งานร่วมกันระหว่างยานยนต์ไฟฟ้าหลายแบรนด์และรุ่นที่แตกต่างกัน

จึงจะเป็นโอกาสที่จะทำให้บริษัทสตาร์ตอัปมีโอกาสเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากการจำกัดกรอบการแข่งขันอยู่ที่ค่ายรถยนต์รายใหญ่เท่านั้น

การ รุก เร่ง สร้าง ระบบนิเวศ จะต้องขับเคลื่อนกันไปพร้อมๆ กันทั้งในฝั่งองค์กรใหญ่ ภาครัฐและสตาร์ตอัป เพื่อที่จะทำให้เกิดกลไกการขับเคลื่อนที่มีโมเมนตัมเพียงพอในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ฐานอุตสาหกรรมใหม่ ที่มีโครงสร้างมั่นคงรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

คอลัมน์ Business Transform: Corporate Future

ต้องหทัย กุวานนท์

หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทเอมสไปร์

Startup Mentor บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ธุรกิจและการบริหารนวัตกรรม