'มนพร'สวน'ก้าวไกล'รัฐบาลศึกษาแลนด์บริดจ์ทุกมิติ-หากไม่คุ้มค่าจะทบทวน

'มนพร'สวน'ก้าวไกล'รัฐบาลศึกษาแลนด์บริดจ์ทุกมิติ-หากไม่คุ้มค่าจะทบทวน

"มนพร" ตอบกระทู้สดกลางสภาฯ ประเด็น แลนด์บริดจ์ ชี้อยู่ระหว่างการศึกษาทุกมิติ รับฟังทุกความเห็น ย้ำหากไม่คุ้มค่าจะทบทวน ด้าน "ก้าวไกล" งงศึกษาไม่เสร็จ "นายกฯ" ไปเร่ขายทำไม หวั่นจะขายหน้า

ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาฯ วาระกระทู้ถามสด ซึ่งมีประเด็นตั้งถามเกี่ยวกับการทำโครงการแลนด์บริดจ์ เชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน ซึ่งมีผู้ตั้งถาม จำนวน 2 กระทู้ จาก สส.พรรคเพื่อไทย และ สส.พรรคก้าวไกล โดยรัฐบาลส่ง นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เป็นผู้ชี้แจงแทน เนื่องจากนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม มีภารกิจที่ต่างประเทศ

โดย นางมนพร ตอบกระทู้ถามสดแรก ซึ่งตั้งถามโดยสส.ของพรรคเพื่อไทย ว่า จากการโรดโชว์ของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.คลัง และนายสุริย จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ที่ต่างประเทศ พบว่ามีนักลงทุนให้ความสนใจและเข้าร่วมหารือ ซึ่งนักลงทุนสนับสนุนเพราะต้องการช่องทางขนส่งทางเรือที่สามารถขนส่งสินค้าได้สะดวก ล่าสุดนายเศรษฐา ที่เดินทางไปยังกรุงดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ ได้พูดคุยกับนักลงทุนใน กลุ่มสหภาพยุโรป ได้รับเสียงต่อรับ ได้รับความสนใจและตอบรับนักธุรกิจเชิงบวก ได้ขยายความคิดและโครงการให้นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งประเทศไทยต้องการโอกาสทำโครงการขนาดใหญ่เพื่อให้ประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน

  • รัฐบาลเตรียมออกกฎหมายพิเศษแก้ปัญหาปชช.

นางมนพร กล่าวด้วยว่าโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลมีคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ทุกโครงการต้องฟังความเห็น ออกกฎหมาย ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคม  เสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งตนเป็นที่ปรึกษากรรมาธิการฯ ได้เชิญคนที่เห็นด้วยและเห็นต่างให้ความเห็น รวมถึงศึกษาทุกมิติ  อาทิ ความมั่นคง อุตสาหกรรม ต่างประเทศ สิ่งแวดล้อม และให้ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

“การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแลนด์บริดจ์ มีผลกกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นความท้าทายที่ต้องวางแผนเพื่อแก้ปัญหา ผลกระทบในพื้นที่ที่ รวมถึงคำนึงถึงการเวนคืนที่ดินในราคาที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจให้กับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ นอกจากนั้น กรรมาธิการฯ ได้ลงพื้นที่ฟังเสียงประชาชน พบว่าประชาชนส่วนหนึ่งคัดค้านเพราะไม่อยากสูญเสียที่ดินทำกินดั้งเดิม สิทธิในที่อยู่อาศัย และการประมงพื้นบ้าน ซึ่งรัฐบาลไม่ละเลยเสียงคัดค้านดังกล่าวและเตรียมออกกฎหมายพิเศษในพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน โดยนำความเห็นของประชาชนมาพิจารณา ทั้งนี้ความเปลี่ยนแปลงจะนำไปสู่สิ่งที่ดีเสมอ” นางมนพร ชี้แจง

  • เผย ศึกษาแลนด์บริดจ์ มีความคืบหน้า

รมช.คมนาคม กล่าวตอบคำถามถึงการศึกษาโครงการและระยะเวลาสิ้นสุด หลังจากที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องระบุว่าจะใช้เวลาถึงปี 2573 ว่า ในการศึกษาแบ่งเป็น  3 ส่วน โดย

1.  ศึกษาความเหมาะสมโครงการ การออกแบบท่าเรือ  รูปแบบการลงทุน ซึ่งรับผิดชอบโดย สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)  กระทรวงคมนาคม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)  โดยใช้เวลา 1 ปี

2. งานก่อสร้างรถไฟขนส่ง ที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย รับผิดชอบ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจ้างที่ปรึกษา วางหมุดเส้นทางและ เวนคืน พร้อมกับรับฟังความเห็นของประชาชน 

และ 3. การทำอีไอเอ ในส่วนของการกก่อสร้างมอเตอร์เวย์ ที่กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ทั้งนี้อยู่ระหว่างการเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณ ปี2567 เพื่อจ้างที่ปรึกษาออกแบบเบื้องต้น

 

  • สส.ก้าวไกล ฉะ รัฐบาลฝันใหญ่ ไร้ข้อมูลจริง

ขณะที่การตั้งกระทู้ถามของ สส.พรรคก้าวไกล โดย นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ซักถามถึงรายละเอียดของผลการศึกษาบนข้อเท็จจริง เช่น สายการเดินเรือ การลดค่าใช้จ่ายในสายการเดินเรือที่มีความคุ้มค่าต่อการลงทุนระหว่าง แลนด์บริดจ์เมื่อเทียบกับช่องแคบมะละกา รวมถึงประมาณการเรือขนส่งที่จะใช้เส้นทางแลนด์บริดจ์ตามผลการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ตนฐานะฝ่ายค้าน ไม่ได้ค้านไปเรื่อย แต่จากการรับฟังข้อมูลไม่พบรายละเอียดที่เป็นข้อเท็จจริง แต่พบเป็นข้อมูลเพื่ออวยเท่านั้น  และฝันใหญ่เท่านั้น

  • อ้าง สภาพัฒน์ ชี้แลนด์บริดจ์ไม่คุ้มค่า

“จากผลการศึกษาพบว่ากการขนส่งจะเสียเวลา 7-10 วัน ที่จะขนย้ายสินค้าขึ้นลง และสายการเดินเรือต้องเพิ่มจำนวนเรือ 7-10 ลำ ถือว่ามีค่าใช้จ่ายและเสียเวลาที่มากกว่า ช่องแคบมะละกา และช่องทางเดินเรืออื่นๆ ดังนั้นรัฐบาลต้องมีข้อมูลที่มีนัยสำคัญที่จะบอกในความคุ้มค่าของการลงทุน ทั้งนี้เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา สภาพัฒน์ฯ บอกว่าโครงการดังกล่าวไม่คุ้มค่า และเสนอให้ลดขนาดของโครงการและลงทุน รวมถึงผลระทบชุมชน ผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ขณะนี้รัฐบาลต้องการเพิ่มขนาด ข้อมูลทางธุรกิจไม่ชัดเจน แต่ไปเร่ขาย ซึ่งจะขายของหรือขายหน้าต้องรอดู” นายสุรเชษฐ์ ตั้งกระทู้

  • ดัน แลนด์บริดจ์ เป็นเส้นทางขนส่งสินค้า จากจีนใต้

โดย นางมนพร ชี้แจงว่าตนจะผลักดันความฝันแลนด์บริดจ์นั้นให้เป็นจริงและลงมือทำ ทั้งนี้โครงการช่องทางแลนด์บริดจ์เพื่อลดการเสียเวลาและระยะทางขนส่ง จากที่ช่องแคบมะละกามีความแออัด และมีปัญหาปล้นเรือสินค้าเพิ่มมากขึ้น ขณะที่การขนส่งสินค้าจากประเทศจีนไป ออสเตรเลีย ทางเรือมีเพิ่มมากขึ้น แต่ประเทศจีนตอนใต้หลายพื้นที่ไม่ติดทะเล หากมีโครงการแลนด์บริดจ์จะทำให้มีเรือตู้สินค้ามาที่แลนด์บริดจ์เพิ่มมากขึ้น เพราะประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย แม้ไม่ใช่ทุกเส้นทางการเดินเรือ แต่จากการศึกษาพบว่า เส้นทางที่ขนส่งเส้นทางเรือฟีดเดอร์ที่จะประหยัด แต่ระยะยาวหากจำนวนตู้สินค้าเพิ่มมากขึ้น เรือใหญ่จะเข้ามารับตู้สินค้าจากท่าเรือระนอง จะมีเพิ่มมากขึ้น

  • ย้ำหากผลศึกษา ชี้เป็นไปไม่ได้ จะทบทวน

“อย่างสินค้าเทกอง ปูนซีเมนต์ หรือไม้ ที่ขนส่งโดยตู้สินค้า หากเข้ามาที่ท่าเรือระนองจะลดต้นทุนสินค้า และเมื่อมีเรือมากขึ้นจะทำให้เกิดการตอบโต ขณะที่ความคุ้มค่าของการทำโครงการขนาดใหญ่ นั้น ยืนยันว่าบริษัทที่ปรึกษาจะศึกษาทุกมิติ และบริษัทที่จะลงทุนต้องเข้ามาศึกษาในการศึกษาของประเทศไทยในแง่ความเป็นไปได้ หากไม่คุ้มค่าเขาไม่มาลงทุน แต่เมื่อศึกษาแล้วประเด็นที่เป็นไปไม่ได้ต้องกลับมาทบทวน” นางมนพร ชี้แจง

นางมนพร กล่าวตอบคำถามถึงการขนส่งสินค้าเทกอง และการขนส่งน้ำมัน โรงกลั่นน้ำมันที่อยู่ในผลการศึกษาหรือไม่ ว่า เป็นการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการไม่ได้บอกว่า จะนำสินค้าประเภทใดที่จะเข้าสู่เส้นทาง  ซึ่งประเด็นการสร้างโรงกลั่นหรือท่อน้ำมัน ทางสนข.เคยตอบคำถามในกรรมาธิการฯ แล้วหากจะมีต้องมีการศึกษา ทั้งนี้ในรายละเอียดของสินค้านั้น ขอชี้แจงว่าเป็นเพียงผลการศึกษาที่ยังไม่เสร็จสิ้น หากศึกษาแล้วเสร็จจะรายงานในทุกมิติ

  • ก้าวไกล สงสัย ผลศึกษาไม่ชัดเจน ทำไปไปเร่ขายต่างประเทศ

นายสุรเชษฐ์ ตั้งกระทู้ถามย้ำว่า เมื่อผลศึกษายังไม่ชัดเจน ทำไมถึงไปเร่ขายต่างประเทศแล้ว ขณะที่การศึกษาอื่นๆ เช่น มอเตอร์เวย์ ได้ดำเนินการไปแล้ว ซึ่งการดำเนินการในโครงการที่จะเกิดขึ้น รัฐบาลจะยกที่ให้นายทุนกี่ไร่ และนานเท่าไร นอกจากนั้นยังมีประเด็นการชักศึกเข้าบ้านในแง่นโยบายทางการเมืองด้วย ทั้งนี้ควรคำนึงถึงมิติเชิงพื้นที่มากกว่าการขายฝันโครงการใหญ่ที่พบว่าหลายโครงการไม่ประสบความสำเร็จ ประชาชนเดือดร้อน แต่ผู้รับเหมารวย ทั้งนี้ขอให้ไตร่ตรองให้ดีว่าควรทำหรือไม่ควรทำ มีความคุ้มค่าและโปร่งใส มากกว่าอยากทำหรือไม่

\'มนพร\'สวน\'ก้าวไกล\'รัฐบาลศึกษาแลนด์บริดจ์ทุกมิติ-หากไม่คุ้มค่าจะทบทวน

  • ชี้แลนด์บริดจ์ ก่อนคิกออฟ สภาฯ ที่ต้องเห็นชอบ

โดยนางมนพร ชี้แจงว่า ยอมรับว่าทุกโครงการมีผลกระทบ จึงใช้กลไกของสภาฯ ผ่านกรรมาธิการฯ ที่ประกอบด้วยทุกพรรคการเมืองเพื่อพิจารณาศึกษา ประชุมกว่า 10 ครั้ง และลงพื้นที่รับฟังความเห็นของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จากนั้นเมื่อศึกษาแล้วจะนำมาให้สภาฯ พิจารณาและสส.สามารถให้ความเห็นได้ หากส่วนใหญ่เห็นชอบให้รัฐบาลจะพิจารณาว่ามีสาระทำโครงการหรือไม่ หากตั้งโครงการและจะทำ ต้องมาขอความเห็นชอบจากสภาฯ ซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ หากพบว่าของบสูงเกินไป สามารถอภิปรายปรับลดได้

“ทั้งนี้ก่อนทำโครงการได้มีการศึกษารายละเอียดใน 10 ส่วน ยืนยยันว่าไม่มีการหมกเม็ด ทั้งระบบโลจิสติกส์ การออกแบบ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม วิเคราะห์รูปแบบการลงทุน การออกแบบท่าเรือ 84% สถานะประเมินผลเกี่ยวข้องสิ่งแวดล้อม ข้อกังวลของประชาชน ชาวประมง การขับเคลื่อนและการร่วมทุน ซึ่งกระบวนการแต่ละส่วนอยู่ระหว่างการศึกษา ทั้งนี้ในข้อห่วงใยของฝ่ายค้านจะนำไปพิจารณาประกอบการศึกษาด้วย” นางมนพร กล่าว.