ชราชน เคหะสถาน และพื้นที่เพื่อผู้สูงวัยในอนาคต

ชราชน เคหะสถาน และพื้นที่เพื่อผู้สูงวัยในอนาคต

ส่องทิศทางที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงวัย เมื่ออีกเพียง 8 ปี ไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์

ในช่วงปี 4-5 ปีมานี้แนวโน้มอนาคตที่พูดถึงกันมากในประเทศไทยไม่พ้นเรื่อง “สังคมผู้สูงอายุ” เพราะประเทศไทยได้ ‘ก้าว’ เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 แล้ว แต่นั่นอาจยังไม่ทำให้เราตื่นตัวเท่ากับข้อมูลที่ว่าในอีกเพียง 8 ปี ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 20% ของประชากร) ในปี พ.ศ. 2568

และจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (มีผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ของประชากร) ในปี พ.ศ. 2574 ถือเป็นประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วที่สุดเป็นอันดับ 2 ในอาเซียนรองจากสิงคโปร์ ประเทศไทยจึงต้องเร่งปรับตัวรับมือกับโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปในทุกด้าน

ด้านที่อยู่อาศัยและสถานพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันอย่างแยกไม่ออกเพราะ “ที่พัก” สำหรับผู้สูงอายุนั้นแบ่งออกเป็นหลายระดับ ตั้งแต่โรงพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุตามระดับอาการ ไปจนถึงบ้านหลังเกษียณที่เหมาะกับการใช้ชีวิตในบั้นปลาย

เราได้คุยกับนายแพทย์เก่งพงศ์ ตั้งอรุณสันติ แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล Chersery Home ศูนย์ผู้สูงอายุและกายภาพบำบัด ซึ่งเพิ่งกลับจากไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุแบบ Nursing Home ที่ประเทศญี่ปุ่นได้ไม่นาน ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกในโลกที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด จึงเป็นประเทศต้นแบบในการศึกษาเรื่องสังคมผู้สูงอายุในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านการดูแลที่เกี่ยวกับโครงสร้างสถานพยาบาล ที่อยู่อาศัย และพื้นที่การใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ

“Retirement Home หรือบ้านสำหรับผู้สูงอายุบูมมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จริงๆ แล้วมีหลายหน่วยงานที่คิดถึงเรื่องนี้มาก่อน เช่น สวางคนิเวศที่บางปู ก็ทำมาเป็นสิบปีแล้ว เมื่อก่อนไม่ค่อยมีคนรู้จัก แต่ตอนนี้ต้องจองคิวกันแล้ว นอกจากนี้ยังมีการเตรียมความพร้อมในทุกด้าน เริ่มจากปัจจัย 4 ทุกอย่างจะเคลื่อนไปสู่ตลาดผู้สูงวัย ยังไม่รวมผลิตภัณฑ์ที่เป็นแนวลักชัวรี่อีกนะครับ”   

เนิร์สซิ่งโฮมคือตลาดใหญ่

หากตอนนี้ใครที่เข้าไปหาข้อมูลเกี่ยวกับเนิร์สซิ่งโฮมแล้ว จะพบว่ามีบริการเหล่านี้มากมาย นายแพทย์เก่งพงศ์หรือหมอเก่งบอกว่าถึงกระนั้นก็ยังไม่พอ เพราะเตียงในโรงพยาบาลผู้สูงอายุนั้นเป็นตลาดที่ใหญ่มาก

“เมืองไทยมีเนิร์สซิ่งโฮมหลายระดับ เท่าที่จดทะเบียนถูกต้องรวมแล้วมีแค่พันเตียง แต่ถ้านับประชากรผู้สูงอายุในไทย ในอนาคตก็จะไปถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร ถ้าคิดเฉพาะผู้ที่ต้องการการรักษาพยาบาลจริงๆ เพียง 1 เปอร์เซ็นต์ ก็มีถึงหลักแสนคน จำนวนเตียงเท่านี้ไม่มีทางพอ ความต้องการนี้ทำให้เกิดเนิร์สซิ่งโฮมซึ่งมาจากกลุ่มสหวิชาชีพ เช่น พยาบาลและนักกายภาพบำบัดจับมือร่วมกันปรับปรุงบ้าน และให้บริการดูแลผู้สูงอายุขึ้นมามากมาย ถือว่าเป็นตัวเลือกหนึ่งให้สังคม แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะที่หนึ่งรองรับได้ไม่กี่เตียง ในอนาคตผมคิดว่าจะต้องมีการผ่านกฎหมายจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเข้ามาดูแลควบคุมคุณภาพทั้งสถานที่ อุปกรณ์ และการดูแลต่างๆ ให้มีมาตรฐาน ความต้องการด้านนี้ยังมีอีกเยอะมากครับ”

ส่วนประเภทของสถานพยาบาล นอกจากโรงพยาบาลที่ให้การรักษาพยาบาลผู้สูงอายุโดยเฉพาะแล้ว ยังมี ‘เตียง’ สำหรับอาการของผู้ป่วยต่างกลุ่มกัน ได้แก่

ผู้ป่วยสูงวัยที่อยู่ในภาวะพึ่งพา คือ กลุ่มที่ต้องมีการดูแลพิเศษใกล้ชิด เช่น การพักฟื้นหลังการผ่าตัดเข่า ผ่าตัดหลัง หรือกลุ่มที่เพิ่งพ้นจากความเจ็บป่วย เช่น ผ่านการรักษาอาการติดเชื้อ หรือรับเคมีบำบัดมา ซึ่งจะออกจากโรงพยาบาลหลัก มาเข้าพักในเนิร์สซิ่ง โฮมที่มีการดูแลและมีสภาพแวดล้อมอันเหมาะสม และกลุ่มผู้สูงอายุที่สามารถดูแลตัวเองได้ ซึ่งในกรณีนี้ก็จะเข้าสู่เรื่องของบ้านสำหรับวัยหลังเกษียณแล้ว

บ้านวัยหลังเกษียณ (Retirement Home)

ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ยังพอช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งพวกเขามี 2 ทางเลือก คือ ปรับปรุงบ้าน และเลือกซื้อบ้านในโครงการเพื่อผู้สูงวัยโดยเฉพาะ ซึ่งตอนนี้มีหลายธนาคารก็ออกสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุกันหลายแห่ง เช่น ธอส. ที่เปิดให้ผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไปสามารถกู้เพื่อซื้อบ้านหรือปรับปรุงบ้านด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น

การปรับปรุงบ้าน คือทางเลือกของผู้สูงวัยที่อยากใช้ชีวิตหลังเกษียณในบ้านเดิมของตัวเอง ซึ่งต้องมีการปรับปรุงบ้านให้เหมาะกับการใช้ชีวิตในสรีระที่เปลี่ยนไป สถาปนิกและนักออกแบบภายในได้ศึกษาการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design) ไว้แล้ว ปิติ เพชรดำ สถาปนิกและผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบของ Pilaster Design Studio บริษัทรับออกแบบสร้างบ้านบอกว่า “เจ้าของบ้านส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะนึกถึงการออกแบบแบบยูนิเวอร์แซล ดีไซน์ อย่างการออกแบบบ้านเพื่อผู้สูงอายุ เช่น มีทางลาดสำหรับรถเข็น มือจับ ราวจับต่างๆ เพื่อพ่อแม่ และตัวเองในอนาคตด้วย”

บริษัทรับสร้างบ้านซึ่งศึกษาแนวทางนี้โดยเฉพาะจึงเกิดขึ้น พร้อมกับองค์ความรู้ด้านการออกแบบบ้านเพื่อผู้สูงวัย เช่น ระยะทางเดิน ประตูกว้างเพื่อรองรับการเข้าออกของรถเข็น สัดส่วนขนาดความสูงของเฟอร์นิเจอร์ที่เหมาะกับผู้สูงอายุ วัสดุกันลื่นแต่ให้ความรู้สึกอบอุ่น ฯลฯ ก็เริ่มมีรวบรวมไว้ให้สืบค้นกันได้ไม่ยาก การปรับปรุงบ้านเพื่อผู้สูงวัยจะเป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ

โครงการบ้านสำหรับผู้สูงอายุ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ส่วนหนึ่งเริ่มโน้มเอียงมาที่ตลาดนี้แล้ว หมอเก่งบอกว่า “ในอีก 3 - 5 ปีข้างหน้าจะยิ่งชัดเจนขึ้นครับ” โครงการอสังหาริมทรัพย์กำลังมาทั้งในรูปแบบคอนโดมีเนียมและบ้านชานเมือง บางครั้งอาจเป็นโครงการธรรมดา แต่เลือกทำเลอยู่ตรงข้ามหรือติดกับโรงพยาบาล โดยโรงพยาบาลนำเสนอบริการถึงในคอนโด มีรถมารับหากเจ็บป่วยฉุกเฉิน เจาะกลุ่มเป้าหมายหลายระดับ ตั้งแต่ระดับกลางไปจนถึงระดับสูง

“ด้านอสังหาริมทรัพย์ ก็จะจับกลุ่มคอนโดผู้สูงวัยมากขึ้น สังคมเรามีความหลากหลาย ผู้สูงอายุบางท่านอาจต้องการอยู่คนเดียว ตอนนี้และอนาคตก็จะมีเทคโนโลยีรองรับ เช่น เฟซไทม์ หรือไลน์หาคุณหมอเพื่อดูอาการเบื้องต้นก่อนได้ หรือตอนนี้ก็เริ่มมีแอพพลิเคชั่นดูแลผู้สูงวัยแล้ว อีกหน่อยน่าจะมีเปิดบริการด้านนี้อีกเยอะ ทำให้การอยู่คนเดียวไม่อันตรายมาก”

พื้นที่ส่วนกลางของผู้สูงวัย

เท่าที่หมอเก่งมีประสบการณ์มา คนชราใช่ว่าจะอยากอยู่คนเดียวเสมอไป ส่วนใหญ่ (หากเลือกได้หรือมีทางเลือก) นิยมรวมกลุ่มทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ วัยเดียวกันมากกว่า อีกทั้งขึ้นชื่อว่าผู้สูงอายุก็ใช่ว่าจะมีแต่ผู้ป่วยติดเตียง แต่ผู้สูงอายุที่แข็งแรงและชอบเข้าสังคมก็มีมากมาย

การออกแบบภูมิสถาปัตย์ซึ่งหมายถึงพื้นที่ส่วนกลาง พื้นที่สาธารณะเพื่อสร้างเป็นสังคมของผู้สูงอายุ จึงเป็นอีกหนึ่งความสำคัญ อย่างโครงการบ้านเพื่อผู้สูงวัยที่มีรายได้ระดับสูง ก็เน้นความเป็นเวลเนส มีสโมสร ฟิตเนส สวนและพื้นที่สีเขียวสำหรับทำกิจกรรมมากกมาย ควบคู่กับบริการดูแลสุขภาพต่างๆ เป็นสังคมคุณภาพมากกว่าเป็นเพียงบ้านที่อาศัย เช่น โมเดลของเวลเนสซิตี้ (Wellness City) ที่อยุธยา ซึ่งเป็นเหมือนเมืองแห่งสุขภาวะแบบครบวงจรเพื่อผู้สูงวัย ซึ่งบ้านราคาเริ่มต้น 2,700,000 บาท ไม่รวมโปรแกรมสุขภาพอื่นๆ หรือโครงการขนาดย่อมลงมา จับกลุ่มผู้สูงอายุรายได้ระดับกลางค่อนสูงอย่างปัยยิกา ที่ปทุมธานี ซึ่งมีอัตราค่าบริการเบื้องต้นสำหรับผู้สูงอายุที่ดูแลตัวเองได้ที่เดือนละ 25,000 บาท ซึ่งหลังจากนี้จะมีโครงการรูปแบบนี้เพิ่มขึ้นมาอีกมากมาย

นอกจากพื้นที่สำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้สูงพอที่จะซื้อบริการเหล่านั้นแล้ว รัฐก็ควรออกแบบพื้นที่ส่วนกลางเพื่อรองรับผู้สูงวัยที่มีรายได้ระดับกลางและล่างลงมาด้วย โดยอาจจับมือร่วมกับเอกชน (ที่เริ่มเข้ามาจับกลุ่มตลาดระดับกลางมากขึ้น แม้จะมีเงินจับจ่ายไม่มากเท่ากับกลุ่มรายได้สูง แต่ก็ถือว่ามีกำลังและเป็นกลุ่มตลาดใหญ่กว่าด้วย) สร้างพื้นที่สาธารณะ (รวมถึงกิจกรรม) ประจำจังหวัด หรือตำบลกระจายออกไปเพื่อให้ผู้สูงอายุจำนวนมากเข้าถึงได้ด้วย

หมอเก่งยังแนะนำบริการ Day Care แบบไปเช้าเย็นกลับ สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่ได้อยู่ในโครงการบ้านสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะอีกด้วย ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงพยาบาลที่รับดูแลอาการป่วยตามบ้าน แต่หมายถึงการดูแลด้านการจัดกิจกรรมกับผู้สูงอายุแบบไม่ซ้ำวัน เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้สูงอายุและสังคม โดยดึงสมาชิกครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมด้วยในการที่จะทำให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ หมอเก่งบอกว่าบริการนี้ยังไม่เคยมีคนทำ ซึ่งน่าสนใจและมีความจำเป็นไม่แพ้การดูแลรักษาด้านร่างกายเลย

ในอนาคตจะมีแนวโน้มการออกแบบและให้บริการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย ทั้งแนวเนิร์สซิ่งโฮม บ้าน และสังคมสำหรับผู้สูงอายุอีกมากมาย รวมถึงกลุ่มที่เป็นการบำบัดทางเลือกที่ไม่ใช้ยาก็กำลังมาเช่นกัน

“หมอว่าเป็นส่วนเสริมมากกว่า ถ้าป่วยก็ต้องใช้ยา แต่นอกเหนือจากนั้น ความเครียดหรืออาการซึมเศร้าสามารถบำบัดแบบทางเลือกได้ เป็นเทรนด์ที่น่าสนใจ อย่างที่ของหมอก็นำศิลปะบำบัด ดนตรีบำบัดมาใช้ เช่น ตอนเช้าใช้เพลงกระฉับกระเฉง ทำให้สดชื่น ก่อนนอนเพลงผ่อนคลาย หลับสบายไม่ต้องใช้ยานอนหลับเหมาะมากครับ”

ท้ายที่สุดคุณหมอเน้นว่าไม่ว่าจะเป็นการดูแลผู้สูงอายุด้านใด ผู้ที่เข้ามาทำงานต้องมีประสบการณ์ และเข้าใจจิตวิทยาผู้สูงอายุ จึงต้องมีบุคลากรด้านการแพทย์เพื่อผู้สูงอายุเข้าไปให้คำปรึกษา ซึ่งต้องยอมรับว่าปัจจุบันยังค่อนข้างขาดแคลนอยู่ รัฐและเอกชนต้องจับมือร่วมกันสร้างโครงสร้างที่เข้ามาดูแลผู้สูงอายุให้ดีขึ้น ถึงแม้จะเป็นภาระที่หนัก แต่หากมีระบบการดูแลผู้สูงอายุเข้ามา คนรุ่นลูกหลานก็จะทำงานได้อย่างสบายใจ เป็นการรองรับและส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจอีกทางหนึ่งเช่นกัน