‘ไมโครพลาสติก’ ปะปนในอาหารทุกชนิด ตั้งแต่ผัก-เนื้อสัตว์ ยันอาหารแปรรูป

‘ไมโครพลาสติก’ ปะปนในอาหารทุกชนิด ตั้งแต่ผัก-เนื้อสัตว์ ยันอาหารแปรรูป

วิจัยเผย “ไมโครพลาสติก” ปะปนอยู่ใน “อาหาร” ที่พวกเรากินอยู่ทุกวัน ทำให้ไมโครพลาสติกเข้าไปสู่ในร่างกาย เมื่อสะสมอยู่นาน ๆ ผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ในระยะยาว

KEY

POINTS

  • ไมโครพลาสติก” ปะปนอยู่ในสิ่งแวดล้อมทุกที่ในโลก หากมีขนาดเล็กมากผักและผลไม้สามารถดูดซับผ่านระบบราก เช่นเดียวกับสัตว์ต่าง ๆ ที่เผลอกินไมโครพลาสติกเข้าไปโดยที่ไม่รู้ตัว เมื่อพืชและสัตว์เหล่านี้กลายเป็นอาหาร ก็จะส่งมอบไมโครพลาสติกมาให้มนุษย์ด้วยเช่นกัน
  • งานวิจัยระบุว่า มีไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่ในอาหารเกือบทุกชนิด ต้นแต่เนื้อสัตว์ ผักผลไม้ เครื่องปรุง ตลอดจนผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป และ ฟาสต์ฟู้ด
  • ผู้เชี่ยวชาญแนะนำพยายามหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่เก็บไว้ในภาชนะพลาสติก รวมถึงไม่ควรนำผลิตภัณฑ์พลาสติกเข้าไมโครเวฟ หากเป็นไปได้ควรกินอาหารปรุงสดใหม่ให้มากที่สุด

ไมโครพลาสติก” เศษพลาสติกขนาดจิ๋วที่มีขนาดไม่เกิน 5 มิลลิเมตร ที่เกิดจากการแตกตัวของ “พลาสติก” ชนิดต่าง ๆ แพร่กระจายอยู่ในทุกที่ทั่วโลก ทั้งในอากาศ แหล่งน้ำ รวมถึง “อาหาร” ที่พวกเรากินอยู่ทุกวัน ทำให้ไมโครพลาสติกเข้าไปสู่ในร่างกายของเรา ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ในระยะยาว

 

“ฟาสต์ฟู้ด-อาหารแปรรูป” มีไมโครพลาสติกปะปนอยู่

รายงานจาก Consumer Report องค์กรพิทักษ์ผู้บริโภค ที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนมกราคม 2567 พบ “พลาสติก” ปนเปื้อนอยู่ในอาหารเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ “พทาเลท” (Phthalates) สารเคมีที่ทำให้พลาสติกมีความยืดหยุ่นและอ่อนตัว มีความทนทาน ปนเปื้อนอยู่ในอาหารจากซูเปอร์มาร์เก็ตและอาหารฟาสต์ฟู้ด 84 รายการ จากการตรวจอาหาร 85 รายการ

นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า 79% ของตัวอย่างอาหาร มีสารประกอบ “บิสฟีนอล เอ” (bisphenol A) ซึ่งเป็นสารเคมีอีกชนิดหนึ่งที่พบในพลาสติก และบิสฟีนอลอื่น ๆ แม้ว่าระดับจะต่ำกว่าการทดสอบในปี 2552 ก็ตาม

รายงานกล่าวว่าปริมาณพทาเลทที่พบในอาหารยังไม่ได้อยู่ในระดับที่ “เป็นอันตราย” ตามที่หน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐและยุโรปกำหนด แต่ไม่ได้หมายความว่าอาหารที่เรากินอยู่ทุกวันจะปลอดภัย เพราะสารเหล่านี้ไม่ควรอยู่ในอาหารตั้งแต่แรก

โดยเฉลี่ยผู้ใหญ่ชาวอเมริกันสัมผัสไมโครพลาสติกปีละประมาณ 11,000-29,000 ชิ้นต่อปี แต่สามารถสัมผัสไมโครพลาสติกได้มากที่สุดถึง 3.8 ล้านชิ้นต่อปี

“พืชผัก-เนื้อสัตว์” มีไมโครพลาสติกปะปนอยู่

เนื่องด้วยพลาสติกปะปนอยู่ในสิ่งแวดล้อมทุกที่ในโลก หากพลาสติกแตกตัวเป็นชิ้นเล็ก ๆ มากพอ ผักและผลไม้สามารถดูดซับไมโครพลาสติกผ่านระบบรากของมัน และถ่ายโอนสารเคมีเหล่านั้นไปยังลำต้น ใบ เมล็ดพืช และผลไม้ของพืช เช่นเดียวกับสัตว์ต่าง ๆ ที่เผลอกินไมโครพลาสติกเข้าไปโดยที่ไม่รู้ตัว เมื่อพืชและสัตว์เหล่านี้กลายเป็นอาหารของมนุษย์ ก็จะส่งมอบไมโครพลาสติกมาให้มนุษย์ด้วยเช่นกัน

การศึกษาของมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ของออสเตรเลีย พบว่า ข้าว 100 กรัม จะมีไมโครพลาสติกปะปนอยู่ ประมาณ 3-4 มิลลิกรัม และจะเพิ่มขึ้นเป็น 13 มิลลิกรัม หากเป็นข้าวหุงกึ่งสำเร็จรูป โดยนักวิจัยแนะนำว่าการซาวข้าวก่อนหุงจะช่วยลดการปนเปื้อนพลาสติกได้มากถึง 40% 

ขณะที่ การศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม พบว่า มีอนุภาคพลาสติกขนาด 10 ไมโครเมตรจำนวน 52,050-233,000 ชิ้น อยู่ในผักและผลไม้หลายชนิด โดยแอปเปิลและแคร์รอตเป็นผักและผลไม้ที่มีการปนเปื้อนมากที่สุด ส่วนผักกาดหอมเป็นผักที่มีการปนเปื้อนน้อยที่สุด

ส่วนการศึกษาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม ที่ทำการศึกษาโปรตีนที่บริโภคมากกว่า 12 ชนิด พบว่า กุ้งชุบเกล็ดขนมปังมีพลาสติกที่มีขนาดเล็กที่สุด ประมาณ 300 ชิ้นต่อมื้อ ตามมาด้วยนักเก็ตจากพืช นักเก็ตไก่ ปลาพอลล็อค ส่วนโปรตีนที่มีการปนเปื้อนน้อยที่สุดคืออกไก่

เครื่องปรุงเองก็มีไมโครพลาสติกปะปนอยู่เช่นกัน การศึกษาในปี 2023 พบว่าเกลือสีชมพูหิมาลัยหยาบที่ขุดจากพื้นดินมีไมโครพลาสติกปนเปื้อนมากที่สุด รองลงมาคือเกลือดำและเกลือทะเล ส่วนการศึกษาในปี 2022 ระบุว่า น้ำตาลเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษย์ได้รับไมโครพลาสติก

บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ทำจากพลาสติกเป็นอีกช่องทางที่ทำให้ไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแม็กกิล ในควิเบกแคนาดา พบว่าการต้มถุงชาพลาสติกหนึ่งถุงจะปล่อยไมโครพลาสติกประมาณ 11,600 ล้านอนุภาค และนาโนพลาสติก 3,100 ล้านอนุภาคลงในน้ำ ขณะที่ขวดน้ำพลาสติกขนาด 1 ลิตร มีอนุภาคพลาสติกประมาณ 240,000 ชิ้น จากพลาสติก 7 ประเภท รวมทั้งนาโนพลาสติกด้วย

 

“ไมโครพลาสติก” อันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์

ไมโครพลาสติกถูกพบในปอดของมนุษย์ เนื้อเยื่อรกของมารดาและทารกในครรภ์ นมแม่ และเลือดของมนุษย์ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่านาโนพลาสติกเป็นมลพิษจากพลาสติกประเภทที่น่าเป็นห่วงที่สุดต่อสุขภาพของมนุษย์

การศึกษาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 พบว่าผู้ที่มีไมโครพลาสติกหรือนาโนพลาสติกในหลอดเลือดแดงที่คอ มีโอกาสเป็นโรคหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง หรือเสียชีวิตภายใน 3 ปี มากกว่าผู้ที่ไม่มีพลาสติกในร่างกายถึง 2 เท่า เนื่องจากอนุภาคขนาดจิ๋วสามารถบุกรุกเซลล์และเนื้อเยื่อแต่ละส่วนในอวัยวะสำคัญได้ ซึ่งอาจขัดขวางกระบวนการของเซลล์ และสะสมสารเคมีที่รบกวนต่อมไร้ท่อ เช่น บิสฟีนอล พทาเลท สารหน่วงไฟ โพลีฟลูออริเนต (PFAS) และโลหะหนัก

“สารเคมีเหล่านี้ทั้งหมดถูกใช้ในการผลิตพลาสติก ดังนั้นหากร่างกายของเราได้รับไมโครพลาสติก เราก็ต้องย่อมได้สารเหล่านี้ด้วย โดยสารเหล่านี้แพร่กระจายไปทั่วร่างกาย ทั้งตับ ไต และสมองของคุณ รวมถึงรกและเด็กในครรภ์อีกด้วย” เชอร์รี “แซม” เมสัน ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืนของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียสเตตกล่าว

ทั้งนี้ พทาเลทและบิสฟีนอลสามารถขัดขวางการผลิตและการควบคุมฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนอื่น ๆ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เป็นโรคมะเร็ง เบาหวาน โรคอ้วน ความผิดปกติของพัฒนาการทางระบบประสาท ตลอดจนเพิ่มความเสี่ยงภาวะมีบุตรยาก และส่งผลต่อความพิการแต่กำเนิด รวมถึงปัญหาสุขภาพอื่น ๆ 

อย่างไรก็ตาม โฆษกสมาคมน้ำดื่มบรรจุขวดนานาชาติ กล่าวกับสำนักข่าว CNN ว่า ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากอนุภาคนาโนและไมโครพลาสติก ข้อมูลที่ออกมาเป็นเพียงสมมติฐานและการคาดเดาไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าการทำให้ประชาชนหวาดกลัวโดยไม่จำเป็น

เชอร์รี “แซม” เมสัน แนะนำว่า พยายามหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารใด ๆ ก็ตามที่เก็บไว้ในภาชนะพลาสติก รวมถึงไม่ควรนำผลิตภัณฑ์พลาสติกเข้าไมโครเวฟ หากเป็นไปได้ควรกินอาหารปรุงสดใหม่ให้มากที่สุด และจำกัดการซื้ออาหารแปรรูปและอาหารแปรรูปพิเศษที่ห่อด้วยพลาสติก ตลอดจนสวมเสื้อผ้าที่ทำจากผ้าธรรมชาติและซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เพราะพลาสติกก็เหมือนกับผิวของมนุษย์ที่มีการผลัดเซลล์ผิวอยู่ตลอดเวลา ในทำนองเดียวกันพลาสติกก็แตกตัวออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ โดยที่เรามองไม่เห็น

 

ที่มา: CNNReutersWashington Post