จากมหากาพย์ ‘โกงเงิน’ เฉียด 4% ของจีดีพี สู่ ‘วิกฤติเชื่อมั่น’ ระบบการเงินเวียดนาม

จากมหากาพย์ ‘โกงเงิน’ เฉียด 4% ของจีดีพี สู่ ‘วิกฤติเชื่อมั่น’ ระบบการเงินเวียดนาม

จากมหากาพย์ ‘โกงเงิน’ กว่า 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์ (1.6 ล้านล้านบาท) หรือ เฉียด 4% ของจีดีพี สู่ ‘วิกฤติเชื่อมั่น’ ที่อาจนำไปสู่การล่มสลายของระบบการเงินเวียดนาม ประเทศที่ว่ากันว่า "เนื้อหอมที่สุด" ในเอเชีย

“การฉ้อโกง” เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ฉุดรั้งความเจริญของเศรษฐกิจเวียดนามมาอย่างนานถึงขนาดที่ว่าพรรคคอมมิวนิสต์ออกแคมเปญปราบปรามการทุจริตเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2016

แต่ท้ายที่สุด “คดีฉ้อโกง” ที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์จากธนาคารไซ่ง่อน คอมเมอร์เชียล (SCB) เวียดนามก็เกิดขึ้นด้วยมูลค่าความเสียหายกว่า 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์ (1.6 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็นประมาณ 4-5% ของจีดีพี

จุดเริ่มต้น ‘คดีฉ้อโกง’ ครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นจากตัวละครที่ชื่อว่า “เจือง มาย หลั่น” นักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์จากเวียดนามที่เริ่มต้นการทำงานในฐานะแม่ค้าแผงลอยขายเครื่องสำอางในตลาดแห่งหนึ่ง

ก่อนที่จะผันตัวเข้ามาในวงการที่ดินและอสังหาริมทรัพย์หลังจากในปี 1986 พรรคคอมมิวนิสต์เริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจด้วยนโยบายโด่ยเหมย (Doi Mei) จากนั้นความมั่งคั่งของเธอก็ขยับสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจนรวมทั้งธุรกิจของเธอก็ขยับขยายมาในแวดวงโรงแรมและภัตตาคารมากขึ้นระหว่างปี 1990 – 2000

นอกจากนี้ ท่ามกลางระบบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ในช่วงนั้นที่ดินส่วนใหญ่ในเวียดนามจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ นั้นหมายความว่าหากผู้ประกอบการต้องการเข้าถึงกรรมสิทธิ์ดังกล่าวจึงจำเป็นต้องอาศัย “ความสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่รัฐ” ซึ่งก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการทุจริตขึ้น

ชื่อเสียงของนักธุรกิจหญิงผู้นี้เป็นที่รู้จักมากขึ้นหลังจากเธอเริ่มเข้ามาในธุรกิจธนาคารและในปี 2011 ทางการอนุญาตให้ควบรวมกิจการของธนาคารย่อยสามแห่งและเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารไซ่ง่อน คอมเมอร์เชียล โดยเธอถือหุ้นธนาคารมากกว่า 90% จากการใช้โนมินีเพื่อถือหุ้นแทนเช่นการใช้บริษัทเปล่า (Shell Company) และบุคคลอื่นอีกหลายราย

ทั้งนี้ สำนักข่าวบีบีซีรายงานข้อมูลว่า หลังจากควบรวมกิจการเธอแต่งตั้งคนใกล้ชิดจำนวนมากให้เข้าไปนั่งในตำแหน่งผู้จัดการในหลายแผนกเพื่ออำนวยความสะดวกให้ตัวเองในการอนุมัติปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มบริษัทเปล่าของเธอซึ่งเม็ดเงินที่ปล่อยออกไปคิดเป็นกว่า 93% ของยอดการปล่อยสินเชื่อทั้งหมดของธนาคารไซ่ง่อน ที่สำคัญการปล่อยสินเชื่อให้บริษัทเปล่าเหล่านั้นคือการยักยอกเงินเพราะเป็นเพียงการปล่อยสินเชื่อให้บริษัทเปล่าที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

รวมทั้งเธอยังใช้บริษัทอสังหาริมทรัพย์ วัน ทินห์ ฟัต กรุ๊ป (Van Thinh Phat Group) ออกหุ้นกู้ซึ่งขายผ่านธนาคารไซ่ง่อนจำนวนเงินกว่า 30 ล้านล้านดอง (4.3 หมื่นล้านบาท) เพื่อขยายกิจการ

ข้อมูลของทางการเปิดเผยว่า อัยการเรียกตัวผู้ที่อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้มากกว่า 2,700 ราย โดยมีจำเลยร่วมกับเจือง มาย หลั่นอีก 85 ราย และตลอดช่วงเวลาที่เธอเริ่มฉ้อโกงในเดือนก.พ. 2019 เธอสั่งให้คนขับรถถอนเงินสดออกจากธนาคารไซ่งอนกว่า 1.46 แสนล้านบาท แต่สิ่งที่ทำให้ตำรวจทราบเรื่องนี้คือ คนขับรถคนดังกล่าวจดรายละเอียดทั้งหมดไว้ทำให้ตำรวจสามารถขยายวงการจับกุมได้ดียิ่งขึ้น

ที่สำคัญเธอยังถูกกล่าวหาว่าติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งคนที่ถูกดำเนินคดีไปแล้วคืออดีตหัวหน้าผู้ตรวจการจากธนาคารกลางของเวียดนามที่ถูกกล่าวหาว่ารับสินบนประมาณ 183 ล้านบาทเพื่อปกปิดการกระทำของเธอ

ท้ายที่สุดบทสรุปของคดีนี้คือเมื่อวันที่ 11 เม.ย. ศาลในนครโฮจิมินห์ซิตี้ พิพากษาประหารชีวิต เจือง มาย ลาน ด้วยความผิดหลายกระทง คือติดสินบนเจ้าพนักงาน การฝ่าฝืนระเบียบการกู้ยืมของธนาคาร

แต่ความผิดที่เป็นหัวใจสำคัญที่สุดในคดีนี้ก็คือ การยักยอกทรัพย์จากธนาคารไซ่ง่อน ระหว่างปี 2018 – 2022 แม้หนึ่งในทนายความ ระบุว่า เธอจะยื่นอุทธรณ์คําตัดสินของศาลประชาชนนครนครโฮจิมินห์ซิตี้

‘แบงก์ชาติ’ เข้าอุ้ม หวั่นทำประชาชนแห่ถอนเงิน

หลังจากความเสียหายทั้งหมดเริ่มคลี่คลาย เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา รอยเตอร์ส รายงานว่า รัฐบาลเวียดนามปล่อยสินเชื่อกรณีพิเศษให้ธนาคารไซ่ง่อนกว่า 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 8.88 แสนล้านบาท) ซึ่งคิดเป็นกว่า 5.6% ของจีดีพีและมีขนาดเทียบเท่ากับหนึ่งในสี่ของเงินสำรองระหว่างประเทศ

ขณะที่หนี้สาธารณะต่อจีดีพีของเวียดนามเคลื่อนไหวอยู่ที่ 30-45% ของจีดีพีเมื่อปีที่แล้ว และรัฐบาลดำเนินนโยบายแบบขาดดุลงบประมาณที่ 4.4% ของจีดีพี รวมทั้ง ณ สิ้นปี 2023 ธนาคารกลางมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่า ณ สิ้นเดือนต.ค.ที่ 9 หมื่นล้านดอลลาร์ ทั้งหมดหมายความว่าสถานะทางการเงินของรัฐบาลเวียดนามนั้นก็ไม่ได้สู้ดี

บทวิเคราะห์ฉบับพิเศษของรอยเตอร์ส เผยว่า การเข้าอุ้มธนาคารเช่นนี้เป็นสิ่งที่ "ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน" และขนาดของความเสียหายของเหตุการณ์ครั้งนี้มีความเป็นไปได้ที่จะทำลาย “ระบบการเงินโดยภาพรวมของเวียดนาม”

โดยตั้งแต่เกิดประเด็นการฉ้อโกงดังกล่าว ธนาคารกลางจัดให้ธนาคารไซ่ง่อนอยู่ในรายชื่อธนาคารต้องจับตาตั้งแต่เดือน ต.ค. 2022 ตั้งแต่นั้นมา ข้อมูลซึ่งเปิดเผยโดยรอยเตอร์สระบุว่า ธนาคารไซ่ง่อนใช้เงินที่ธนาคารกลางค่อยๆ อัดฉีดให้เพื่อจ่ายให้กับประชาชนที่เข้ามาถอนเงิน 

นับตั้งแต่ธนาคารกลางเวียดนามเข้ามาดูแล เงินฝากของธนาคารไซ่ง่อนลดลงมากกว่า 80% ไปอยู่ที่ประมาณ 6 พันล้านดอลลาร์ ณ เดือนธ.ค. 2023 ที่สำคัญหากประชาชนเข้ามาถอนเงินด้วยอัตราเร็วเช่นนี้ต่อไป นักวิเคราะห์ประเมินว่า เงินฝากในธนาคารไซ่งอนจะหมดลงภายในกลางปี 2024 ท่ามกลางสินเชื่อด้อยคุณภาพที่พุ่งสูงขึ้นแตะ 97.08% ยอดการปล่อยสินเชื่อทั้งหมดของธนาคารซึ่งล้วนมากจากการยักยอกของนางเจืองทั้งหมด

นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งมองว่า เหตุการณ์ครั้งอาจส่งผลกระทบร้ายแรงในสองประเด็นคือหากความเชื่อมั่นในระบบการเงินของเวียดนามเสื่อมถอยลงก็จะทำให้ประชาชนเเห่ไปถอนเงินออกจากธนาคารพาณิชย์ทั่วประเทศเพราะพวกเขาไม่ทราบว่าเหตุการณ์คล้ายกับกรณีธนาคารไซ่ง่อนจะเกิดกับเงินฝากของตัวเองหรือไม่ ซึ่งหากความเชื่อมั่นหมดลงแล้วเศรษฐกิจเวียดนามซึ่งส่วนหนึ่งพึ่งพาการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศก็จะหมดความน่าสนใจลงเช่นเดียวกัน

ด้านนายรัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ ผู้อำนวยการ (ผอ.) อาวุโส ฝ่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศและฟิวเจอร์ส บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง จำกัด (มหาชน) มองว่า สถานการณ์ทั้งหมดน่ากังวลจริงเพราะภาคธนาคารของเวียดนามมีผลต่อจีดีพีจำนวนมาก

จากมหากาพย์ ‘โกงเงิน’ เฉียด 4% ของจีดีพี สู่ ‘วิกฤติเชื่อมั่น’ ระบบการเงินเวียดนาม

ธนาคารท้องถิ่นในเวียดนามมีทั้งหมด 38 แห่ง 27 แห่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มูลค่าตลาดของทั้ง 27 แห่งอยู่ที่ 18% ของจีดีพีเวียดนาม ส่วนไทยมีธนาคาร 18 แห่ง จดทะบียนในตลาด 12 แห่ง ซึ่ง 12 แห่งนี้คิดเป็นประมาณ 9% ของจีดีพี ดังนั้นหากเกิดปัญหาขึ้นก็จะกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจอย่างแน่นอน”

ทว่าหนึ่งสิ่งที่อาจสบายใจได้เล็กน้อยจากกรณีนี้คือถึงแม้ธนาคารไซ่ง่อนจะใหญ่เป็นอันดับ 8 ของเวียดนามแต่ก็ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้นหมายความว่ายังพอที่จะไว้วางใจมาตรฐานบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เวียดนามได้บ้าง

รวมทั้งรัฐบาลเวียดนามก็เข้ามาจัดการเรื่องนี้อย่างทันท่วงทีซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาและป้องกันสถานการณ์ที่ประชาชนแห่ถอนเงินหรือแบงก์รัน