สุขใจที่ อัยเยอร์เวง

จากทะเลหมอกสุดสายตา สู่การผจญภัยในสายน้ำ ประตูเปิดสู่เบตงที่พิสูจน์ถึงพลังของชุมชนเล็กๆ ที่แข็งแกร่ง


รถยนต์ 2 คันวิ่งไล่ตามกันมาบนถนนลาดยางสาย410 (ยะลา-เบตง) มุ่งหน้าสู่หลักกม.ที่33 จากจุดสตาร์ทเริ่มต้นขึ้นที่อำเภอเบตง จ.ยะลา รวมระยะทาง 32 กิโลเมตร ก่อนตัดสินใจหักเลี้ยวซ้ายขึ้นเขาและลงเขา ท่ามกลางความมืดสลัวยามใกล้รุ่ง

เหลือบมองแสงจากหน้าปัดนาฬิกาแจ้งบอกเวลาตี 5 ครึ่ง ยิ่งทำให้ทุกสายตาจ้องมองไปข้างหน้า ณ ตำแหน่งที่แสงไฟส่องทางสว่างวาบๆ สะท้อนให้เห็นเส้นขอบถนนไหวๆ ในจังหวะที่ยางล้อรถวิ่งบดหน้าดินลูกรังปลุกให้ฝุ่นแดงพุ่งโขมงรับการมาเยือน

ผ่านไป 30 นาทีที่เสียงเครื่องยนต์ดังสั่นรัวไปพร้อมกับการโยกตัวไปมาของผู้โดยสารขณะที่รถแล่นลัดเลาะตามแนวป่าใหญ่สลับไปกับสวนยางพารามุ่งหน้าไปตามสันเขาที่สัมผัสรับรู้ได้ถึงความสูงที่เริ่มไต่ระดับสูงขึ้นและสูงขึ้นเพื่อพุ่งไปสู่จุดหมายการตามล่าหาแสงตะวันแรกบนยอดเขาที่สูงเหนือระดับน้ำทะเล 2,000 ฟุต

สู่เป้าหมายเช็คอินที่ดินแดน “ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง”

ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง

แสงแรกงามจับใจ ท้าทายให้กล้าพอที่จะลุกขึ้นมาเอาชนะความกลัวบนพื้นที่ปลายด้ามขวานทองที่ถูกมองว่าไม่ปลอดภัย แต่ไม่จริ๊ง ไม่จริง การฝ่าฟันเส้นทางที่หลายคนบอกว่าอันตราย ดูเหมือน “อันตราย” ที่ว่าเป็นเพียงการมโนไปเองทั้งสิ้น

เหตุผลแบบนี้ เป็นมุมมองของนักถ่ายภาพที่พูดปากต่อปาก เมื่อได้สัมผัสคุณค่าการมาเยือนบทพิสูจน์ทฤษฎีเห็นกับตา

ภาพถ่ายหนึ่งใบได้บอกเล่าเรื่องราวมากมายที่ต้องการสื่อ ทะเลหมอกอัยเยอร์เวงที่นี่มีความงาม และความสำเร็จที่เบ่งบานในใจของเหล่าผู้บุกเบิกแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่ใช้ทั้งความ “กล้า" และ "บ้า" ห่างกันแค่เส้นใยบางๆ กั้นกลาง

อารี หนูชูสุข ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลอัยเยอร์เวง (อบต.อัยเยอร์เวง) หรือ “ปลัดอารี” เอ่ยชื่อนี้จะรู้จักกันดีในพื้นที่ตำบลอัยเยอร์เวง หนุ่มใหญ่วัยกลางคนผู้มีใจรักการบันทึกภาพถ่ายเป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่มชายหนุ่มฉกรรจ์อีก 3-4 ชีวิตที่ในมือถนัดถือกล้องและแบกเลนส์ตระเวนหาจุดขายฝันให้เป็นจริง

“สุดยอดทะเลหมอกที่สวยที่สุดในภาคใต้คือทะเลหมอกอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา” ปลัดอารี กล่าวย้ำข้อความสะท้อนความปลื้มปริ่มดีใจของชายผู้หลงรักการถ่ายภาพ

เขาบอกด้วยว่า ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง สามารถมองเห็นและสัมผัสได้บนยอดเขาไมโครเวฟ หรือ ยอดเขากุนุงซิลิปัต ซึ่งตั้งอยู่ในเขตตำบลอัยเยอร์เวง ผู้คนที่มาจึงนิยมเรียกติดปาก “ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง”

โดยทะเลหมอกยามเช้าที่นี่สามารถมองเห็นได้เฉลี่ยปีละ 8 เดือนไม่เว้นแม้ช่วงหน้าร้อน ขณะที่ช่วงเวลาสวยที่สุดอยู่ที่ประมาณ 06.00 - 08.00 น. ยามที่แสงแรกโผล่พ้นขอบฟ้าแตะสลับเวิ้งทะเลหมอกส่องประกายลอดช่องแสงงามดุจดั่งสวรรค์บนดิน

จุดเด่นทะเลหมอกอัยเยอร์เวงที่นี่ยังสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ได้รอบด้าน 360 องศาแบบไร้การบดบังทุกภาพถ่ายจึงสามารถเลือกมุมได้แบบตามใจฉัน

เมืองแห่งสายน้ำ

เสียงตอบรับที่ดีทำให้ตลอด 365 วันบนยอดเขามีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง จากที่มีเพียงพื้นที่ขนาดเล็กติดกับใกล้ฐานเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ขยับขยายสู่พื้นที่ชมวิวที่มีการปรับภูมิทัศน์สถานที่ให้มีความสวยงามพร้อมปักป้ายข้อความบ่งบอกสถานที่

จุดเริ่มต้นจากคนกลุ่มหนึ่งที่พยายามบอกต่อเรื่องราวความสวยงามผ่านภาพถ่าย และข้อความเชิญชวนสั้นๆ ให้ร่วมพิสูจน์ความงามผ่านโลกยุคใหม่ที่ใช้พลังโซเชียลขับเคลื่อน ทำให้ “อัยเยอร์เวง” เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น

กระทั่งจังหวัดเริ่มให้การสนับสนุนโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทะเลหมอกอัยเยอร์เวงงบประมาณ 5 ล้านบาท วันนี้บนยอดเขาจึงมีพื้นที่ชมวิวที่สะดวกสบายเอาใจนักท่องเที่ยวได้อีกขั้น

บทบาทหน้าที่ปลัดตำบลอัยเยอร์เวงยังคงเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ เมื่อถูกตั้งคำถามที่มาที่ไปของตำบลถิ่นอาศัย “อัยเยอร์เวง” เป็น 1 ใน 5 ตำบลของอำเภอเบตง จังหวัดยะลา โดยคำว่า “อัยเยอร์” เป็นภาษายาวี แปลว่า สายน้ำ ส่วน “เวง” เป็นแซ่สกุลของชาวจีนที่ตั้งถิ่นฐานที่นี่เพียงครอบครัวเดียวเมื่อนับย้อนกลับไปประมาณ 100 ปี ก่อเกิดชื่อเรียกขานนามว่า “อัยเยอร์เวง” ตำบลที่มีการก่อตั้งตั้งแต่ พ.ศ.2447 รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยผู้คนอพยพจากมณฑลปัตตานีมาตั้งรกรากอยู่ใจกลางป่าฮาลา ซึ่งเป็นป่าลึกกว้างใหญ่ จึงแทบจะตัดขาดจากโลกภายนอก
จากนั้นปีพ.ศ.2493 เมื่อขบวนการโจรคอมมิวนิสต์มลายาเข้ามายึดพื้นที่ซ่องสุมกำลังก่อกวนทางการมาเลเซีย ทั้งก่อกวนชุมชนชาวฮาลาด้วย ดังนั้นเพื่อมิให้ชาวบ้านเดือดร้อน และป้องกันการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ รัฐบาลไทยในขณะนั้นได้อพยพชาวฮาลามาตั้งถิ่นฐานใหม่ ณ บริเวณที่ราบริมตลิ่งแม่น้ำปัตตานี

“ตำบลอัยเยอร์เวงอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเบตง 32 กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดยะลา 100 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 476,875 ไร่ หรือ 818.72 ตารางกิโลเมตร สภาพพื้นที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบสูงเนินเขา ลุ่มน้ำ สูงกว่าระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ย 1,900 ฟุต พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน ชาวบ้านส่วนใหญ่ร้อยละ 70 นับถือศาสนาอิสลามพูดภาษามลายูมีมัสยิด 11 แห่ง วัด 2 แห่ง” ปลัดอารี บอกถึงข้อมูลพื้นฐานของตำบลอันเยอร์เวงที่ไม่ต้องมีเอกสารประกอบ

ล่องแก่งอัยเยอร์เวง

“อัยเยอร์เวง” วันนี้ไม่ได้มีดีแค่บนยอดเขา แต่ชุมชนย่านแถบนี้มีของดีที่อยากอวดอีกเพียบ กิจกรรมใหม่ถอดด้ามต้องยกนิ้วให้กับความสนุกและความสุขของเยาวชนในพื้นที่ ที่ฝันเป็นจริงจากการหารายได้ด้วยการทำการท่องเที่ยว

ซูไฮมี มีนา เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนองค์การบริหารส่วนตำบลอัยเยอร์เวง (อบต.) ผู้สวมบทบาทนักสำรวจพื้นที่มืออาชีพที่ถนัดงานด้านเจียระไนให้เห็นแก่นแท้ของความสุขสู่วิถีชุมชน หนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้กลไกการท่องเที่ยวตำบลอัยเยอร์เวงขับเคลื่อนอย่างมีรูปธรรมอย่างไม่หยุดยั้ง

"นี่ถ้าไม่ใช่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้น่าจะพัฒนาไปได้กว่านี้ ประโยคซ้ำๆ ที่ฟังแล้วเจ็บจี๊ดๆ เมื่อเลี่ยงไม่ได้ ก็แค่ต้องยอมรับเพราะที่นี่คือชายแดนใต้ปลายด้ามขวานทองที่รอการเจียระไน” ข้อความที่ผุดขึ้นในใจชายผู้รักบ้านเกิดตั้งมั่นนำมาเป็นดั่งคำท้าทายให้มีใจลุกสู้ต่อปัญหาและข้อจำกัดที่บั่นทอนการพัฒนาทั้งในเชิงหลักการทฤษฎีและวิธีการปฎิบัติ

ซูไฮมี บอกว่า หลังจากได้ร่วมบุกเบิกเปิดทางการท่องเที่ยวบนยอดเขาสูง “ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง”ให้กลายเป็นที่รู้จัก คือภารกิจก้าวแรกที่นำไปสู่การเรียนรู้ใหม่ให้รู้จักการต่อยอดไปสู่การค้นหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่สร้างรายได้เข้าถึงชุมชนและชุมชนมีรายได้จากการท่องเที่ยวที่ครบวงจรและทั่วถึง
เป้าหมายต่อไปจึงมุ่งขยายเส้นทางการท่องเที่ยวใหม่ให้หลุดจากกวิถีท่องเที่ยวกรอบเดิม...จากทะเลหมอกบนยอดเขา หันเหสู่วิถีความท้าทายใหม่ผ่านกระแสสายน้ำสู่กิจกรรมการล่องแก่งแม่น้ำปัตตานีที่ไหลผ่านพื้นที่อัยเยอร์เวง

แนวคิดนี้มีจุดเริ่มต้นจากเสียงสนับสนุนจากกลุ่มวัยรุ่นสายเลือดใหม่ในพื้นที่ผู้ที่ต้องการความท้าทาย หลังจากที่หลายคนเคยมีประสบการณ์ชิมลางการล่องแก่งมาแล้วทั้งสิ้น หากแต่ค้างคาใจทำไมไม่ทำและเที่ยวในบ้านเรา

เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนคนเดิม เล่าย้อนความหลัง จำได้ว่าครั้งแรกของการสำรวจเส้นทางล่องแก่งไม่ง่ายอย่างที่คิด ทุกจังหวะความคิดติดขัดในทุกเส้นทาง มองไปยังพื้นดินไร้ซึ่งเส้นทางเดินรถเพื่อลำเลียงเรือและอุปกรณ์ไปยังต้นน้ำ อีกทั้งทางน้ำไม่มีแม้แต่เรือจะนำมาทดสอบหาพื้นที่ล่องแก่งจุดใดเหมาะสม

แม้นอุปสรรคมากมาย แต่กลับไม่มีใครบ่นยอมแพ้และย่อท้อต่อปัญหา แสงแดดแผดเผาผิวกายตอกย้ำให้รับรู้ถึงภูมิลำเนาชัดเจนทุกๆ วัน ยังคงมีตัวแทนวนเวียนมาร่วมสำรวจพื้นที่ไม่ขาดสาย ความร่วมไม้ร่วมมือ ช่วยคิด ช่วยทำตามกำลังความสามารถของแต่ละคน

ก่อเกิดเรื่องราวดีๆที่สร้างความประทับใจชนิดมิรู้ลืม

“วัยรุ่นกลุ่มใหญ่รวมตัวเดินสายทั้งขุด ทั้งเจาะตามแนวไหล่เขาเลียบแม่น้ำปัตตานี เป้าหมายคือเปิดทางให้รถยนต์วิ่งผ่านเพื่อเชื่อมไปยังจุดพื้นที่เตรียมลงเรือที่เล็งไว้ ทุกหยาดหยดเหงื่อไคลคือความทรงจำล้ำค่าที่มาพร้อมกับคำปรามาสชวนขำขันของชาวบ้านบ่นไปเย้ยไปว่าคนบ้าที่ไหนจะมาเที่ยว” ซูไฮมี เล่าพรางหัวเราะเมื่อนึงถึงอดีตที่ผ่านมา

ย้อนรอยเส้นทางความสำเร็จ จากวันนั้นมาถึงวันนี้..วันที่อัยเยอร์เวงมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และมาเลเซียมาใช้บริการล่องแก่งเฉลี่ยวันละ1,000คน ก็ปรากฏให้เห็นมาแล้ว

ฮาบิ๊บ คอแด๊ะ เด็กหนุ่มมุสลิมผู้รั้งตำแหน่งผู้จัดการอัยเยอร์เวงแลนด์ หนึ่งในกลุ่มผู้ให้บริการล่องแก่ง ขะมักเขม้นอยู่กับการให้บริการนักท่องเที่ยวที่มาล่องแก่งด้วยเรือคายัคอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

ความคล่องแคล่ว บวกกับท่วงท่า ลีลาการให้ความรู้นักท่องเที่ยวในการล่องแก่ง ตั้งแต่การแนะนำแต่งกายด้วยเสื้อชูชีพ การนั่งเรือ พายเรือ รวมไปถึงขั้นตอนการปฏิบัติทำได้เทียบเท่ามืออาชีพ

“การล่องแก่งที่นี่จะล่องไปตามแก่งหินน้อยใหญ่ในระดับที่ต่างกัน สามารถเลือกได้จะล่องแก่งแบบไหน ทั้งแพไม่ไผ่ เรือคายัค หรือห่วงยาง ตลอดเส้นทางนอกจากความสวยงาม และความตื่นตาตื่นใจแล้ว ยังมั่นใจได้ว่าความสุขที่นี่มีความปลอดภัยให้ได้อุ่นใจอย่างแน่นอน" ผจก.อัยเยอร์เวงแลนด์ กล่าวย้ำก่อนปล่อยนักท่องเที่ยวลงเรือท่องธรรมชาติไปตามสายน้ำ

จากนั้นไม่นานทั้งเสียงกรี๊ดปนด้วยเสียงหัวเราะก็ดังลั่นไพร ..นั่นแหละคือความสุข

ฮาบิ๊บ บอกว่า การล่องแก่งที่อัยเยอร์เวงมีผู้ประกอบการประมาณ 3-4 รายส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ลงทุนทำกันเอง โดยให้โอกาสเยาวชนในพื้นที่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรในฐานะเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการล่องแก่ง

ส่วนหนึ่งเพราะต้องการสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน และส่งเสริมให้เยาวชนในพื้นที่ได้มีงานทำ มีรายได้และสร้างชื่อเสียงให้กับอัยเยอร์เวงบ้านเกิดสมดั่งตั้งใจ

“ผู้ให้บริการท่องเที่ยวทุกคนจะผ่านการฝึกอบรมและฝึกฝนการให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยวในการล่องแก่งมาแล้วทั้งสิ้น โดยข้อตกลงนี้ถือเป็นนโยบายด้านความปลอดภัยร่วมกันเพื่อสร้างมาตรฐานด้านการท่องเที่ยวไปด้วยในตัว” ฮาบิ๊บ รีบอธิบายทันทีที่มีโอกาส

การล่องแก่งที่อัยเยอร์เวงถือเป็นเส้นทางล่องแก่งเกรดเอเลยทีเดียว เพราะแม่น้ำปัตตานีสายนี้มีความสมบูรณ์มาอย่างยาวนาน จึงผุดเป็นแก่งหินน้อยใหญ่ต่างระดับสลับกันไปตลอดสายน้ำ บางช่วงสามารถล่องผ่านช่องแคบระยะทาง 200 เมตร ทำให้การล่องแก่งระยะทาง 5 กิโลเมตรใช้เวลาอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ทุกนาทีจึงมีความตื่นตา ตื่นใจ สนุกครบรส ความสุขนี้จึงทำให้นักท่องเที่ยวชื่นชอบ

ล่องแก่งอัยเยอร์เวงครั้งเดียวจึงไม่เคยพอ.. “อัยเยอร์เวง” วันนี้ทำหน้าที่เป็นประตูสู่เบตงได้อย่างครบถ้วน จากชุมชนเล็กๆ แต่แข็งแกร่งด้วยความร่วมมือ

มาเยือนเบตงครั้งใด อย่าลืมแวะไปชมทะเลหมอกและล่องแก่งอัยเยอร์เวง แล้วจะรู้ว่าชายแดนภาคใต้ยังมุมดีๆที่รออยู่