อัยการอาชญากรรมสงครามจี้‘ไอซีซี’ออกหมายจับ‘ปูติน’

อัยการอาชญากรรมสงครามจี้‘ไอซีซี’ออกหมายจับ‘ปูติน’

อดีตอัยการอาชญากรรมสงครามเรียกร้องให้ศาลอาญาระหว่างประเทศ เร่งออกหมายจับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน นางคาร์ลา เดล ปองเต อดีตอัยการอาชญากรรมสงครามมากฝีมือ ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์รายวัน Le Temps ตีพิมพ์วันนี้ (2 เม.ย.) เรียกร้องให้ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) รีบออกหมายจับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียจากการกระทำในยูเครน 

“ปูตินคืออาชญากรสงคราม” เดล ปองเตกล่าว ชาวสวิสวัย 75 ปีผู้นี้โด่งดังจากการสอบสวนอาชญากรรมสงครามในรวันดาและอดีตยูโกสลาเวีย 

เธอกล่าวว่าจำเป็นต้องออกหมายจับระหว่างประเทศสำหรับปูตินและเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นๆ ของรัสเซียเพื่อให้พวกเขารับผิดชอบต่ออาชญากรรมสงครามที่ก่อขึ้น นับตั้งแต่รัฐบาลมอสโกรุกรานยูเครนเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 24 ก.พ.

เพียงแค่ห้าสัปดาห์เศษของการรุกราน ประชาชนถูกสังหารหลายพันคน พลัดถิ่นอีกหลายล้านคนเนื่องจากหลายพื้นที่ของยูเครนถูกถล่มกลายเป็นซากปรักหักพัง

เดล ปองเต ผู้เคยเป็นคณะกรรมการสหประชาชาติสอบสวนการละเมิดสิทธิในสงครามซีเรียย้ำว่า การออกหมายจับเป็นสัญญาณสำคัญว่า “งานสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว”

“นี่คือเครื่องมือเดียวที่มีในการทำให้การจับกุมผู้ก่ออาชญากรรมสงครามเป็นจริงขึ้นมาได้ แล้วนำตัวพวกเขามาขึ้นศาลไอซีซี”

อย่างไรก็ตาม เดล ปองเตยอมรับ หมายจับไม่จำเป็นต้องหมายความว่า ปูตินจะถูกดำเนินคดี

“ถ้าเขายังอยู่ในรัสเซียก็ไม่ถูกดำเนินคดี แต่เขาจะออกนอกประเทศไม่ได้อีกเลย และนั่นคือสัญญาณอันแข็งแกร่งว่า มีหลายรัฐไม่เอาเขา”

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 มี.ค. หัวหน้าอัยการไอซีซีในกรุงเฮกเปิดสอบสวนเชิงรุกเกี่ยวกับอาชญากรรมสงครามที่อาจเกิดขึ้นในยูเครน หลังได้รับการสนับสนุนจากกว่า 40 ประเทศที่เป็นภาคีไอซีซี ซึ่งเดล ปองเต กล่าวว่า จากประสบการณ์ในฐานะหัวหน้าอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศคดีอดีตยูโกสลาเวียเธอหวังว่า วันหนึ่งปูตินจะต้องถูกจับและถูกดำเนินคดีอาชญากรสงครามเหมือนอดีตประธานาธิบดีสโลโบดัน มิโลเชวิค ของยูโกสลาเวีย

“และต้องหาหลักฐานมาดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายการเมืองและการทหารด้วย ความยากอยู่ที่การเข้าถึงระดับสูงสุดของสายการบังคับบัญชาเพื่อระบุว่าใครวางแผน สั่งการ และใครก่ออาชญากรรมสงคราม”

ยูเครนนั้นไม่ได้ลงนามในธรรมนูญกรุงโรมก่อตั้งไอซีซี แต่ในปี 2557 ได้ยอมรับอำนาจศาลอย่างเป็นทางการสำหรับอาชญากรรมที่กระทำขึ้นบนแผ่นดินยูเครน ส่วนรัสเซียถอนตัวออกจากธรรมนูญกรุงโรมในปี 2559