กองทุนหุ้นทั่วโลกมีเงินไหลออก 4 สัปดาห์ติด นักลงทุนหมดหวังเฟดลดดอกเบี้ย

กองทุนหุ้นทั่วโลกมีเงินไหลออก 4 สัปดาห์ติด นักลงทุนหมดหวังเฟดลดดอกเบี้ย

กองทุนหุ้นทั่วโลกมีเงินไหลออก 4 สัปดาห์ติดต่อกัน นักลงทุนลดความเสี่ยง - หมดหวังเฟดลดดอกเบี้ย หลังตัวเลขเงินเฟ้อสูงกว่าคาด พร้อมกับตัวเลข PCE สหรัฐเดือนมีนาคมปรับตัวสูงขึ้น จนอาจเข้าสู่ "เดือนที่เลวร้ายที่สุด"

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า "กองทุนหุ้นทั่วโลก" เผชิญกับการไหลออกของเงินสุทธิเป็นสัปดาห์ที่สี่ติดต่อกัน ณ วันที่ 24 เมษายน 2567 เนื่องจากความหวังในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)อย่างรวดเร็วในปีนี้ชะลอตัวลง ท่ามกลางข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐ ที่ออกมาสูงกว่าคาดการณ์

 

กองทุนหุ้นทั่วโลกมีเงินไหลออก 4 สัปดาห์ติด นักลงทุนหมดหวังเฟดลดดอกเบี้ย

โดยนักลงทุนเทขายกองทุนหุ้นทั่วโลกมูลค่า 2.7 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งน้อยกว่าการไหลออกของ 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ในสัปดาห์ก่อนมาก

กองทุนหุ้นสหรัฐเผชิญกับการไหลออกของเงินลงทุน 1.2 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่กองทุนหุ้นยุโรปมีการไหลออก 6.3 พันล้านดอลลาร์ ในระหว่างสัปดาห์ ในทางกลับกันตลาดเอเชียมีการเคลื่อนไหวที่เพิ่มขึ้น นำโดยกองทุนหุ้นญี่ปุ่นมีเงินลงทุนไหลเข้า 5.1 พันล้านดอลลาร์

รายงานเงินเฟ้อล่าสุดสูงกว่าคาดการณ์ ทำตลาดหุ้นผันผวน

รายงานเงินเฟ้อล่าสุดสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ส่งผลกระทบต่อความคาดหวังของตลาดเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve)

ขณะนี้ตลาดมีความมั่นใจว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 70% ในเดือนกันยายน ซึ่งลดลงจากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 6 ครั้งในปีนี้

ตลาดหุ้นโลกมุ่งสู่ "เดือนเลวร้ายที่สุด" 

ตลาดหุ้นทั่วโลกเตรียมเผชิญกับเดือนที่เลวร้ายที่สุด นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 นักลงทุนทั่วโลกจับจ้องไปที่การเปิดเผยข้อมูล ดัชนีราคาสินค้าและบริการ (PCE) ประจำเดือนมีนาคม ในวันศุกร์นี้ (29 เมษายน 2567)

ข้อมูลดัชนี PCE นี้เปรียบเสมือนตัวชี้วัดสำคัญที่บ่งบอกถึง แรงกดดันเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลต่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของเฟดในอนาคต ทำให้นักลงทุนต่างรอคอยสัญญาณจากดัชนี PCE ว่าเฟดจะตัดสินใจอย่างไรเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ย

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหาร และพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.7% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากปรับตัวขึ้น 2.5% ในเดือนก.พ.และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ คาดการณ์ที่ระดับ 2.6% และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนมี.ค. หลังจากปรับตัวขึ้น 0.3% เช่นกันในเดือนก.พ. และสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

รายละเอียดการไหลออก และไหลเข้าของกองทุนประเภทต่างๆ ภายในกองทุนหุ้นทั่วโลก จำแนกตามกองทุนหุ้นในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม

กองทุนหุ้นทั่วโลกมีเงินไหลออก 4 สัปดาห์ติด นักลงทุนหมดหวังเฟดลดดอกเบี้ย

  • กองทุนหุ้นเทคโนโลยี มีเงินทุนไหลออกราว 770 ล้านดอลลาร์ตลอดทั้งสัปดาห์
  • กองทุนหุ้นสินค้าอุปโภคบริโภค มีเงินทุนไหลออกราว 339 ล้านดอลลาร์
  • กองทุนหุ้นกลุ่มสุขภาพ มีเงินทุนไหลออกราว 275 ล้านดอลลาร์
  • กองทุนหุ้นพลังงาน มีกระแสเงินทุนไหลเข้าราว 544 ล้านดอลลาร์
  • กองทุนหุ้นอุตสาหกรรม มีกระแสเงินทุนไหลเข้าราว 588 ล้านดอลลาร์
  • กองทุนตราสารหนี้ทั่วโลก กวาดทุนไหลเข้าสุทธิ 2.17 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 820 ล้านดอลลาร์ ในสัปดาห์ก่อนหน้า

กองทุนตราสารหนี้

กองทุนหุ้นทั่วโลกมีเงินไหลออก 4 สัปดาห์ติด นักลงทุนหมดหวังเฟดลดดอกเบี้ย

  • กองทุนพันธบัตรรัฐบาลได้รับเงินทุนไหลเข้าสุทธิ 781 ล้านดอลลาร์
  • กองทุนตราสารหนี้ผลตอบแทนสูงได้รับเงินทุนไหลเข้าสุทธิ 647 ล้านดอลลาร์
  • กองทุนตราสารหนี้ภาคองค์กรได้รับเงินทุนไหลเข้าสุทธิ 2.3 พันล้านดอลลาร์

กองทุนสินค้าโภคภัณฑ์

  • กองทุนโลหะมีค่า มีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ 205 ล้านดอลลาร์ ซึ่งกลับทิศทางจากการไหลออกในสองสัปดาห์ก่อนหน้า
  • กองทุนพลังงาน มีเงินทุนไหลออกสุทธิเพียง 35 ล้านดอลลาร์ซึ่งถือว่าน้อย

กองทุนตลาดเกิดใหม่ (EM)

กองทุนหุ้นทั่วโลกมีเงินไหลออก 4 สัปดาห์ติด นักลงทุนหมดหวังเฟดลดดอกเบี้ย

ข้อมูลจากกองทุนตลาดเกิดใหม่ 29,598 กองทุน แสดงให้เห็นว่า

  • กองทุนตราสารหนี้ มีการไหลออกสุทธิเป็นสัปดาห์ที่สองติดต่อกัน มูลค่ารวม 782 ล้านดอลลาร์
  • กองทุนหุ้น มีการไหลออกสุทธิ 1.6 พันล้านดอลลาร์ ตลอดทั้งสัปดาห์

 

อ้างอิง reuters

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์