โอลิมปิกฤดูหนาว‘ระบบปิด’ ผลงานจีนอวดโลก

โอลิมปิกฤดูหนาว‘ระบบปิด’   ผลงานจีนอวดโลก

โอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่งระหว่างวันที่ 4-20 ก.พ. ถือเป็นโอลิมปิกที่ไม่เหมือนใคร เมื่อจีนสร้างฟองสบู่ยักษ์ (บับเบิล) หรือระบบปิดปกป้องประชาชนหลายพันคนไว้ภายใน ฟองสบู่นี้ยาวถึงเกือบ 200 กิโลเมตรเพื่อป้องกันไม่ให้โควิด-19 เข้ามารุกราน

สำนักข่าวเอเอฟพีผ่าบับเบิลเข้าชมระบบปิดตลอดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว

ระบบปิดคืออะไร

จีน ประเทศที่โควิด-19 ปรากฏขึ้นเมื่อปลายปี 2562 หวังทำโอลิมปิกฤดูหนาวปักกิ่งให้เป็นการแข่งขันที่เรียบง่าย ปลอดภัย และเยี่ยมยอด จึงเดินหน้ายุทธศาสตร์โควิดเป็นศูนย์อย่างเข้มงวดมาโดยตลอด ดังนั้นเพื่อจำกัดการติดเชื้อ ทัพนักกีฬา ทีมงานฝ่ายสนับสนุน อาสาสมัคร และสื่อมวลชนจำต้องอยู่ใน “ระบบปิด” หรือ “บับเบิล” ตลอดการแข่งขัน บับเบิลนี้เปิดทำการแล้วตั้งแต่สัปดาห์ก่อน

แทนที่จะปิดพื้นที่ใหญ่พื้นที่เดียวในกรุงปักกิ่ง บับเบิลจะเป็นการปิดพื้นที่เล็กๆ หลายพื้นที่ เช่น ปิดโรงแรมบนถนนเส้นที่ชาวปักกิ่งสัญจรกันทุกวัน

คนที่นั่งเครื่องบินมาจีนจะต้องเข้าสู่ระบบปิดทันทีเมื่อเครื่องลงจอดในกรุงปักกิ่งจนถึงเวลาที่ต้องเดินทางกลับ

หากเทียบกับโอลิมปิกฤดูร้อน “โตเกียวเกมส์” เมื่อฤดูร้อนปีที่แล้วที่ต้องเลื่อนมาจากปี 2563 ปักกิ่งเกมส์ถือว่าแตกต่าง ตัวอย่างเช่น สื่อมวลชนที่ไปทำข่าวโตเกียวเกมส์สามารถออกจากบับเบิลไปอยู่กับผู้คนทั่วไปได้ แต่ในปักกิ่งเกมส์ไม่มีใครสามารถออกจาก “ระบบปิด” ได้เลยระหว่างการแข่งขัน นั่นหมายความว่าระหว่างสนามแข่งทั้ง 3 แห่ง แต่ละแห่งห่างกัน 180 กิโลเมตร ผู้ร่วมงานต้องนอน รับประทานอาหาร และเดินทางในระบบปิดเท่านั้น

ตัวอย่างเช่น ทีมงานสำนักข่าวเอเอฟพีไปถึงสนามบินก็ต้องอยู่ในชุดป้องกันอันตราย สวมหน้ากากและเฟซชิลด์ ตรวจโควิดรอบแรก จากนั้นมีรถบัสพิเศษส่งไปโรงแรม ที่ว่าพิเศษคือมีรถตำรวจคอยประกบ

จำนวนคนในระบบปิด

ไม่มีตัวเลขยืนยันแน่ชัด คาดกันว่าน่าจะมีนักกีฬาราว 3,000 คน สื่อทางการจีนประเมินว่า มีสื่อมวลชนราว 10,000 คน นอกจากนี้ยังมีกองทัพทีมงานในสนามแข่งขันตั้งแต่ล่ามไปจนถึงพนักงานทำความสะอาด เจ้าหน้าที่โรงแรมและคนขับรถ รวมทั้งอาสาสมัครอีก 19,000 คน แต่ใช่ว่าทุกคนจะอยู่ในบับเบิล

ผู้จัดงานเผยด้วยว่า โรงแรมที่อยู่ในบับเบิลมี 72 แห่ง ยานพาหนะรับส่งผู้เกี่ยวข้องกว่า 4,000 คัน

ชีวิตในบับเบิลจะเป็นอย่างไร

ทุกคนในบับเบิลต้องฉีดวัคซีนครบแล้วหรือกักตัว 21 วันก่อนเข้าไปภายใน แต่ผู้จัดงานไม่ได้ยืนยันเรื่องการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ไม่เพียงเท่านั้นอยู่ในบับเบิลแล้วก็ต้องตรวจโควิดทุกวัน ทุกคนต้องสวมหน้ากากคุณภาพสูงตลอดเวลา ภายในบับเบิลมีโรงแรม ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ และปั๊มน้ำมันไว้พร้อม

เด็กปั๊มคนหนึ่งที่ต้องอยู่ในบับเบิลกล่าวในบทความประชาสัมพันธ์ของรัฐวิสาหกิจปิโตรไชนาว่า หลังเลิกงาน“พวกเขาเล่นบอลหรือไม่ก็ไพ่นกกระจอกด้วยกัน บางครั้งก็ปาสโนว์บอลใส่กันด้วย”

สัปดาห์ก่อนตำรวจปักกิ่งเตือนผู้ขี่จักรยานยนต์ไม่ให้ช่วยเหลือหากยานพาหนะโอลิมปิกประสบอุบัติเหตุ เพื่อหลีกเลี่ยงการฝ่าฝืนบับเบิล แม้แต่ขยะจากบับเบิลจะได้รับการจัดเก็บแยกจากขยะอื่นๆ

เป็นแบบนี้นานแค่ไหน

คนบางคนอาจถูกตัดขาดจากโลกภายนอกนานหลายเดือน บนเพจโซเชียลมีเดียสำหรับปักกิ่งเกมส์ อาสาสมัครหลายคนโพสต์ว่า พวกเขาต้องเข้าบับเบิลกลางเดือน ม.ค.

บางคนจะต้องอยู่ในนั้นจนกว่าพาราลิมปิกที่สิ้นสุดวันที่ 13 มี.ค.เสร็จสิ้น กระนั้นก็ใช่ว่าจะมีอิสระ คู่มือป้องกันไวรัสของรัฐบาลจีนกำหนดว่า เมื่อออกจากบับเบิลแล้วผู้ที่อยู่ในจีนจะต้องกักตัว 21 วัน

อาสาสมัครรายหนึ่งโอดครวญว่า การถูกตัวหลังออกจากบับเบิล “ทำให้พวกเขาซึมเศร้ายิ่งขึ้น” เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นต้องเฉลิมฉลองวันตรุษจีนเทศกาลสำคัญที่สุดในจีนแบบห่างไกลครอบครัว

พนักงานร้านสะดวกซื้อคนหนึ่งในเมืองจางเจียโข่ว เมืองท่องเที่ยวนอกกรุงปักกิ่งที่จะจัดการแข่งขันกีฬาหลายรายการ กล่าวกับเอเอฟพีว่า เธออยู่ในพื้นที่มาตั้งแต่เดือน พ.ย.แล้ว

ล่าสุด นอกจากทำระบบปิดคุ้มกันผู้มีส่วนร่วมกับการแข่งขันเอาไว้ จีนยังยกเลิกแผนขายบัตรเข้าชมโอลิมปิกฤดูหนาวด้วย อนุญาตให้เฉพาะผู้ที่ได้รับเชิญเท่านั้น

เดิมทีผู้จัดการแข่งขันเคยกล่าวเมื่อปีก่อนว่า จะไม่อนุญาตให้ผู้ชมต่างประเทศเข้าชมส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเข้าจีนต้องกักตัวหลายสัปดาห์ แต่ให้คำมั่นว่าจะเปิดให้ผู้ชมในจีนเข้าชมการแข่งขันได้ แต่แผนนี้ต้องถูกยกเลิกไปเมื่อวันจันทร์ (17 ม.ค.) เมื่อจีนรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 223 คน สูงสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค.2563 ขณะที่อีกสามสัปดาห์โอลิมปิกฤดูหนาวจะเริ่มขึ้นแล้ว

คณะกรรมการจัดงานปักกิ่งโอลิมปิกแถลงว่า เพื่อปกป้องสุขภาพและความปลอดภัยของบุคลากรที่เกี่ยวข้องและคนดู คณะกรรมการจึงตัดสินใจปรับแผนขายบัตรให้ประชาชน เปลี่ยนเป็นการจัดสรรผู้ชมกลุ่มเป้าหมายเข้ามาชมแทน