2564ปีแห่งการกวาดล้างใหญ่บริษัทชั้นนำจีน

2564ปีแห่งการกวาดล้างใหญ่บริษัทชั้นนำจีน

2564ปีแห่งการกวาดล้างใหญ่บริษัทชั้นนำจีน ขณะที่นักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติต่างตั้งคำถามกันว่ารัฐบาลจีนจะดำเนินการในรูปแบบนี้ไปถึงเมื่อไหร่ และอุตสาหกรรมใดจะเป็นรายถัดไปที่จะถูกรัฐเข้ามาควบคุม

เหลือเวลาอีกไม่กี่วันก็สิ้นสุดปี 2564 ซึ่งเป็นปีแห่งการปราบรามบริษัทที่จีนมองว่ามีอิทธิพลต่อสังคมมากเกินไป เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจบนพื้นฐานที่ได้เปรียบบริษัทอื่นที่มีขนาดเล็กและมีเงินทุนน้อยกว่า

โดยส่วนใหญ่เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ บริษัทเทคโนโลยีและบริษัทให้บริการด้านการศึกษาซึ่งการเคลื่อนไหวของจีนครั้งนี้เป็นการชี้ชัดว่ารัฐบาลจีนต้องการเข้ามากำกับดูแลธุรกิจของเอกชนอย่างใกล้ชิด

เว็บไซต์อัลจาซีราห์นำเสนอรายงานสรุปภาพรวมของจีนตลอดทั้งปีนี้โดยระบุว่า นอกจากจะเป็นปีแห่งการปราบปรามบริษัทที่ทำให้มูลค่าทางการตลาดของบริษัทบางแห่งในกลุ่มบริษัทใหญ่สุดของประเทศหายไปกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ อีกทั้งปีนี้ทั้งปีการดำเนินนโยบายของรัฐบาลยังสะท้อนให้เห็นว่าจีนให้ความสำคัญกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นอันดับแรกส่วนภาคธุรกิจเป็นอันดับสอง

การดำเนินนโยบายคุมเข้มทางเศรษฐกิจของทางการปักกิ่งเกิดขึ้นในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนเน้นย้่ำถึงความสำคัญอันดับต้นๆของการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพสูงเพื่อให้ผลประโยชน์ตกแก่ประชาชนทั่วทั้งประเทศและท้ายที่สุดจะช่วยกระตุ้นการเติบโตแก่ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)มากที่สุด
 

นโยบาย“ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน”ของจีนเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในปีนี้ โดยมุ่งเน้นไปที่การปฏิรูประบบเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เพื่อความเท่าเทียมกันมากขึ้น มีการกระจายรายได้ที่ดีขึ้น

รวมถึงการลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน และแน่นอนว่าส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภาคต่างๆ อาทิ อสังหาริมทรัพย์ การศึกษา เทคโนโลยีและบันเทิง ส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำอย่างอาลีบาบา กรุ๊ป เทนเซนต์ โฮลดิงส์  ตีตี้ชูสิง เทคโนโลยี โค และนิว โอเรียนทอล เอดูเคชัน แอนด์ เทคโนโลยี กรุ๊ป พากันปรับตัวลง

นอกจากนี้ ยังพยายามลดบทบาทและอิทธิพลของบรรดาผู้นำธุรกิจระดับแนวหน้าที่มีชื่อเสียงโด่งดังในตลาดโลกอย่าง“แจ็ค หม่า” และ“โพนี หม่า” 

การปราบปรามบริษัทของรัฐบาลจีนในปีนี้ยังทำให้บรรดานักลงทุนและธุรกิจต่างๆเกิดความกลัวและไม่มั่นใจเกี่ยวกับอนาคตการเติบโตของธุรกิจตัวเองในจีนรวมทั้งไม่มั่นใจเกี่ยวกับนวัตกรรมในจีน

“สำหรับบริษัทต่างๆแล้ว สิ่งนี้หมายถึงธุรกิจที่เขาทำอยู่ไม่สามารถเป็นธุรกิจที่ทำเงินได้อีกต่อไป หากบริษัทไหนต่อต้านหรือขัดขืนก็จะถูกกำกับดูแลอย่างเข้มงวดมากขึ้นจากคณะผู้คุมกฏ”เทรย์ แมคอาร์เวอร์ นักวิเคราะห์จากทริเวียม ไชนา กล่าวกับอัลจาซีราห์
 

 ด้าน“ไคลน์ จารอส” รองศาสตราจารย์ฝ่ายกิจการโลกมหาวิทยาลัยนอร์ทเทรอะดาม กล่าวว่า ตลอดหนึ่งปีมานี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีนแสดงออกอย่างชัดเจนว่าสามารถสั่งการหรือเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขในการดำเนินธุรกิจของบริษัทต่างๆได้  

ซึ่งหมายความว่า ลดบทบาทและอิทธิพลของแจ็ค หม่าให้น้อยลง  บังคับภาคเอกชนให้แสดงการโอบอ้อมอารีอย่างกรณี “โพนี่ หม่า” และ“ไหล่ หยุน”จากเสี่ยวหมี่ พร้อมทั้งแสดงให้เห็นว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีสิทธิที่จะกำหนดมาตรฐานทางเทคนิกและค่านิยมทางศีลธรรมสำหรับกิจกรรมทางธุรกิจได้

บรรดานักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติต่างตั้งคำถามกันว่ารัฐบาลจีนจะดำเนินการในรูปแบบนี้ไปถึงเมื่อไหร่ และอุตสาหกรรมใดจะเป็นรายถัดไปที่จะถูกรัฐเข้ามาควบคุม ซึ่งส่วนใหญ่ผลกระทบต่อธุรกิจในช่วงแรกอาจส่งผลต่อการเติบโต แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ ในระยะยาวกลุ่มอุตสาหกรรมที่ถูกควบคุมต่างถูกคาดหวังว่าจะเติบโตแบบยั่งยืนร่วมกันและการลงทุนในจีนยังคงน่าสนใจอยู่หรือไม่

ในปี 2564 การลงทุนในจีนถือได้ว่าสร้างความผิดหวังให้กับผู้ลงทุนค่อนข้างมากเนื่องจาก จีนถูกคาดหวังให้เป็นตลาดที่น่าสนใจในช่วงต้นปี 2564 เนื่องจากสามารถแก้ไขวิกฤติการระบาดของโควิด-19 ได้ก่อนประเทศอื่น

ก่อนที่ในปีนี้จีนจะเกิดเรื่องราวมากมายที่เข้ามากดดันการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามากำกับอุตสาหกรรมต่างๆจากทางภาครัฐ ผลกระทบจากความกังวลการผิดนัดชำระจากกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ภาวะขาดแคลนพลังงาน รวมถึงความตึงเครียด ระหว่างสหรัฐ-จีน ล้วนแต่ส่งผลเชิงลบต่อตลาดหุ้นจีนทั้งสิ้น

แต่เมื่อมองย้อนไปในอดีต การปรับฐานลงของตลาดหุ้นจีนในระดับกว่า 30%  ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง นับตั้งแต่วิกฤติซับไพร์มปี 2551 ดัชนี MSCI China ปรับตัวลงกว่า 70% 

ในปี 2558 เกิดฟองสบู่ในตลาดหุ้นจีน จนส่งผลให้ทางการจีนต้องลดค่าเงินเพื่อเพิ่มความสามารถในการส่งออก ซึ่งในปีนั้นตลาดหุ้นจีนปรับฐานไปเกือบ 35%

ขณะที่ปี 2561 เกิดสงครามการค้าขึ้นระหว่างสหรัฐและจีน ส่งผลให้ดัชนีปรับฐานลงมาเกือบ 33% และในปี 2564 ตลาดหุ้นจีนปรับฐานลงมาเกือบ 33% แต่ที่น่าสนใจคือ หากไม่นับวิกฤติซับไพรม์การปรับฐานที่ลงลึกแต่ละครั้งจะอยู่ที่ประมาณ 30% - 35% ก่อนจะเริ่มปรับตัวเป็นขาขึ้น

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด วานนี้ (27ธ.ค.)สำนักงานรับฝากและหักบัญชีหลักทรัพย์ของจีน (ซีเอสดีซี) เปิดเผยว่า นักลงทุนรายใหม่เกือบ 1.34 ล้านรายในจีนเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้นในเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 36.38% จากเดือนต.ค.

ข้อมูลจากซีเอสดีซีบ่งชี้ว่า นับจนถึงช่วงสิ้นเดือนพ.ย. ตัวเลขนักลงทุนที่ใช้บัญชีตลาดหุ้น A-share อยู่ที่ 196 ล้านราย

ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ มีนักลงทุนรายใหม่ประมาณ 18.26 ล้านรายเข้าลงทุนในตลาดหุ้นจีน สูงกว่าตัวเลขของปี 2563 และแตะระดับสูงเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 2560