ข้อมูล "รถไฟจีน-ลาว" | วรากรณ์ สามโกเศศ

ข้อมูล "รถไฟจีน-ลาว" | วรากรณ์ สามโกเศศ

การเปิดตัวของ “รถไฟจีน-ลาว” เมื่อต้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา สร้างความตื่นเต้นด้านการท่องเที่ยวและขนส่ง ตลอดจนความระแวงว่าจะเป็นประโยชน์หรือโทษแก่ไทย ลาว และจีน มากน้อยเพียงใด ก่อนที่จะด่วนตัดสินลองดูข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้

(1) “รถไฟจีน-ลาว” ไม่ใช่รถไฟความเร็วสูง หากเป็นรถไฟความเร็วมากกว่าปกติ เพราะรถไฟความเร็วสูงนั้นต้องวิ่งได้เร็วกว่านี้อีกมาก ดังเช่นรถไฟความเร็วสูงระหว่างเซี่ยงไฮ้-ปักกิ่ง วิ่งได้สูงสุด 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และชินคันเซ็งของญี่ปุ่นวิ่งได้สูงสุด 320 กิโลเมตรต่อชั่วโมง “รถไฟจีน-ลาว” สูงสุดวิ่งได้ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

(2) โครงการ “รถไฟจีน-ลาว” มีความยาวประมาณ 1,000 กิโลเมตร เชื่อมต่อระหว่างคุนหมิงเมือง หลวงของมณฑลยูนนานกับเวียงจันทน์ โดยมีความยาวในจีนประมาณ 600 กิโลเมตร และในลาว 414 กิโลเมตร รถไฟในส่วนจีนนั้นมีอยู่แล้ว ที่สร้างใหม่ใช้เงิน 200,000 ล้านบาทคือส่วนของลาว

(3) การขยายรถไฟลงมาทางใต้จากสถานีโมฮั่นของจีนที่ติดพรมแดนลาวทางเหนือ เป็นเรื่องเป็นราวในปี 2552 โดยมีท่านสมสะหวาด เล่งสะหวัด อดีตรองนายกรัฐมนตรีของ สปป.ลาว เป็นผู้ผลักดันคนสำคัญ โครงการนี้มีความอื้อฉาวพอควร ในตอนต้นรัฐบาลจีนเสนอสร้างรางรถไฟให้ฟรีโดยแลกกับสัมปทานที่ดินข้างละ 1 กิโลเมตรตามแนวรางรถไฟ 

หลังจากต่อรองกันอยู่นาน เพราะลาวเกรงเรื่องอธิปไตยเพราะอาจมีคนจีนอพยพมาอยู่อาศัยในที่ดินและทำงานในเขตอุตสาหกรรมของจีนเป็นล้านๆ คนก็เป็นได้ ลาวเองก็มีประชากรเพียง 7 ล้านคน มีที่ดินประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศไทย 

สุดท้ายจึงเป็นการกู้เงินจากธนาคารส่งออกนำเข้าของจีน และจัดตั้งบริษัทร่วมลงทุนระหว่างจีน-ลาว ในการก่อสร้างและดำเนินธุรกิจ โดยรัฐบาลลาวถือหุ้นร้อยละ 30 โครงการนี้ทำให้ลาวเป็นหนี้จีนทั้งหมดมีมูลค่าเกือบครึ่งหนึ่งของ GDP

(4) รางรถไฟยาว 414 กิโลเมตรในลาววิ่งผ่าน 75 อุโมงค์และ 167 สะพาน ระยะทางวิ่งลอดอุโมงค์ประมาณ 200 กิโลเมตร และระยะทางข้ามสะพานประมาณ 60 กิโลเมตร เหลือวิ่งบนทางปกติเพียง 150 กิโลเมตรเท่านั้น จีนได้แสดงให้เห็นความสามารถด้านวิศวกรรมรถไฟอย่างเยี่ยมยอด เจาะอุโมงค์ทะลุภูเขาและสร้างสะพานเป็นว่าเล่น ทั้งหมดใช้เวลาเพียง 5 ปี สร้างเสร็จเมื่อต้นเดือน ธ.ค.2564 ตามกำหนดเวลา

(5) “รถไฟจีน-ลาว” ในส่วนของลาวเริ่มที่สถานีบ่อเต็น ซึ่งอยู่ใกล้พรมแดนจีน เส้นทางประกอบด้วย 21 สถานี (สถานีขนส่งผู้โดยสาร 10 สถานี และสถานีขนส่งสินค้า 11 สถานี เมืองท่องเที่ยวสำคัญสองเมืองอยู่บนเส้นทางนี้คือหลวงพระบางและวังเวียง) และเมื่อใกล้ปลายทางก็ผ่านสถานีเวียงจันทน์เหนือ เวียงจันทน์ และสุดทางที่เวียงจันทน์ใต้ ซึ่งเป็นสถานีขนส่งสินค้าขนาดใหญ่

(6) ขบวนรถไฟที่หน้าตาเหมือนรถไฟความเร็วสูงนี้ เริ่มให้บริการแล้วโดยวิ่งออกจากเวียงจันทน์วันละ 2 เที่ยว ใช้เวลาวิ่งถึงคุนหมิงประมาณ 10 ชั่วโมง (เดิมหากนั่งรถจากเวียงจันทน์ไปบ่อเต็น ซึ่งเคยเป็นแหล่งกาสิโน ใช้เวลาทั้งวัน ปัจจุบันใช้เวลา 4 ชั่วโมง) ราคาตั๋วชั้นแพงสุดเวียงจันทน์-บ่อเต็นคือ 1,500 บาท ชั้นสามคือ 650 บาท 

ค่าตั๋วรถไฟในจีนจากบ่อเต็นไปคุนหมิงนั้นยังไม่ปรากฏ แต่ค่ารถโดยสารปัจจุบันระหว่างเวียงจันทน์และคุนหมิงคือ 3,000 บาท ในขณะนี้รถไฟไม่รับผู้โดยสารข้ามพรมแดนไปจีนเนื่องจากสถานการณ์โควิด ดังนั้น จึงให้บริการเฉพาะใน สปป.ลาว เท่านั้น

(7) “รถไฟจีน-ลาว” เป็นรางรถไฟเดี่ยว กว้างขนาดมาตรฐานคือ 1.435 เมตร หัวรถจักรขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ในเรื่องการเชื่อมต่อกับรถไฟไทยซึ่งรางมีความกว้าง 1 เมตรนั้นมีข้อเท็จจริงหลายประการที่น่าสนใจเพื่อการดำเนินนโยบายต่อไปของฝั่งไทย

(8) เมื่อปี 2552 สปป.ลาว เริ่มใช้สถานีรถไฟท่านาแล้งของประเทศที่เชื่อมต่อกับระบบรถไฟไทย โดยห่างจากสถานีหนองคายซึ่งอยู่อีกฝั่งโขงไกลออกไป 3.5 กิโลเมตร อย่างไรก็ดี สถานีท่านาแล้งตั้งอยู่ใกล้พรมแดนไทย-ลาว โดยไม่เชื่อมต่อไปถึงเวียงจันทน์

เมื่อมีข่าวโครงการรถไฟจีน-ลาว องค์การมหาชนของไทยคือสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือ NEDA จึงร่วมมือกับ สปป.ลาว สนับสนุนเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน (ดังที่ได้เคยให้การสนับสนุนในการสร้างถนนหลายสายใน สปป.ลาว) เพื่อสร้างสถานีรถไฟเวียงจันทน์ที่บ้านคำสะหวาดที่อยู่ใกล้ใจกลางเมือง โดยเชื่อมรางต่อกับสถานีท่านาแล้งที่ไกลออกไป 7.5 กิโลเมตร ปัจจุบันสถานีเวียงจันทน์นี้กำลังก่อสร้างใกล้เสร็จแล้ว

อย่างไรก็ดี สถานีเวียงจันทน์ของรถไฟจีน-ลาวนั้น สร้างอยู่อีกแห่งหนึ่งที่บ้านไซ ซึ่งอยู่ไกลออกไปจากสถานีเวียงจันทน์ที่กำลังก่อสร้าง 10 กิโลเมตร ดังนั้น ขณะนี้ สปป.ลาวจึงมีสถานีรถไฟเวียงจันทน์ 2 แห่ง

รถไฟจีน-ลาว วิ่งต่อจากสถานีเวียงจันทน์ไปอีก 17 กิโลเมตร ไปสิ้นสุดที่สถานีเวียงจันทน์ใต้ที่อยู่ใกล้แม่น้ำโขง และห่างจากท่านาแล้ง 2.5 กิโลเมตร โครงการต่อไปที่จีน-ไทย เร่งรัดก็คือการสร้างช่วงที่ขาดไป 2.5 กิโลเมตรนี้เพื่อเชื่อมต่อกับรางรถไฟไทยที่สถานีท่านาแล้ง รวมทั้งสร้างพื้นที่ขนถ่ายสินค้าขนาดใหญ่ตลอดจนสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงที่ขนานกับสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งแรก โดยห่างออกไป 30 เมตร (รางรถไฟที่มีอยู่วิ่งกลางสะพานมิตรภาพจึงไม่สะดวกในการใช้ร่วมกับยานพาหนะ)

(9) หากไทยต้องการได้ประโยชน์จาก “รถไฟจีน-ลาว” ต้องเร่งรัดข้อตกลงในเรื่องการเดินทางของนักท่องเที่ยวการขนส่งและขนถ่ายสินค้าระหว่าง 3 ประเทศนี้ให้ราบรื่นไม่มีรอยต่อ

ในปัจจุบันหากพรมแดนเปิด นักท่องเที่ยวจีนที่มาไทยต้องลงรถไฟที่สถานีเวียงจันทน์ บ้านไซ และนั่งรถมาอีก 10 กิโลเมตร เพื่อมาสถานีเวียงจันทน์บ้านคำสะหวาด เพื่อต่อขึ้นรถไฟไปท่านาแล้งและต่อไปหนองคาย

ไทยต้องเร่งงานที่จะทำให้การเดินทางและการขนส่งสินค้าไปจีนและมาไทยที่ต้องผ่านลาวก่อนนั้นเป็นไปอย่างไร้อุปสรรค พร้อมทั้งเร่งสร้างส่วนของรางรถไฟที่ยังขาดอยู่ท่ามกลางบรรยากาศของความระแวงของลาวว่างานนี้ลาวอาจเป็นทางผ่านโดยไม่ได้รับประโยชน์มากนัก

รถไฟจีน-ลาว มีความสำคัญมากสำหรับภูมิภาคถึงแม้ลาวและไทยจะระแวงอยู่มากก็ตาม ประโยชน์ของโครงการนี้ขึ้นอยู่กับความจริงใจของทุกฝ่าย การได้รับผลประโยชน์ร่วมกันอย่างยุติธรรมคือเงื่อนไขของความสำเร็จของโครงการนี้.