รัสเซียพร้อมทวงบัลลังก์ ‘ท่องเที่ยวอวกาศ’

รัสเซียพร้อมทวงบัลลังก์  ‘ท่องเที่ยวอวกาศ’

หลังจากหายไปนับสิบปี รัสเซียประกาศตัวอีกครั้งกับความฝันอันยิ่งใหญ่ครองความเป็นเจ้าเหนืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวอวกาศที่เพิ่งเริ่มต้น ได้แรงหนุนจากอภิมหาเศรษฐีผู้กระตือรือร้น สหรัฐและจีนกำลังผงาด

รัสเซียกลับมาอีกครั้งในเดือนนี้ด้วยการส่งนักผจญภัยในอวกาศสองคนคือ ยาซากุ มาเอซาวา อภิมหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่นและผู้ช่วย สู่สถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) ซึ่งเป็นการส่งนักท่องเที่ยวครั้งแรกในรอบ 12 ปี

จากความสำเร็จครั้งนี้ ดิมิทรี โรโกซิน หัวหน้าฝ่ายอวกาศผู้กระตือรือร้นเผยกับสำนักข่าวเอเอฟฟี ถึงก้าวต่อไปของรัสเซียเพื่อความเป็นสุดยอด โดยจะมีโมดุลพิเศษที่ไอเอสเอสรองรับผู้มาเยือนของรัสเซีย การเดินท่องอวกาศนอกตัวสถานี และที่จะตามมาคือทริปทัวร์รอบดวงจันทร์

“เราไม่ยอมเสียตลาดเฉพาะกลุ่มนี้ให้กับคนอเมริกันหรอก เราพร้อมจะสู้” โรโกซินกล่าวในงานแถลงข่าวตอนปล่อยมาเอซาวาขึ้นสู่ไอเอสเอสเป็นเวลา 12 วัน

อย่างไรก็ตาม เส้นทางสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอวกาศของรัสเซียยังไม่ราบรื่นจากอุปสรรคใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องจากรัสเซียคือผู้มาหลังสุดในเกมที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ 10 ปีก่อน ย้อนกลับไปตอนนั้น สำนักงานอวกาศรัสเซีย “รอสคอสมอส” ผูกขาดการส่งนักบินขึ้นสู่อวกาศ

สถานการณ์เปลี่ยนเมื่อองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ (นาซา) ปลดระวางกระสวยอวกาศของตนในปี 2554 แล้วหันมาใช้บริการของรอสคอสมอสในการส่งนักบินอวกาศไปยังไอเอสเอสในช่วง 10 ปีถัดไประหว่างรอภาคเอกชนพัฒนาขีดความสามารถด้านนี้

จากนั้นในปี 2563 ที่ผ่านมา สเปซเอ็กซ์ของอภิมหาเศรษฐีอีลอน มัสก์ ประสบความสำเร็จในภารกิจแรกนำนักบินอวกาศขึ้นสู่ไอเอสเอส แล้วนาซาก็เลิกใช้บริการรอสคอสมอส

ด้วยค่าใช้จ่าย 90 ล้านดอลลาร์ต่อที่นั่ง นี่เป็นมรสุมทางการเงินก้อนโตสำหรับหน่วยงานอวกาศรัสเซียที่ขาดแคลนเงินอย่างหนัก หลังจากเสียหายต่อเนื่องจากการถูกตัดงบประมาณและทุจริตฉาว

วิตาลี เยโกรอฟ นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมอวกาศ กล่าวกับเอเอฟพีว่า รอสคอสมอสไม่มีทางเลือก แต่ต้องหันมาสู่การท่องเที่ยวเพื่อครอบคลุมรายได้ที่หายไป เพราะที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอวกาศรัสเซียพึ่งพาออเดอร์ส่งนักบินมาโดยตลอด หนึ่งที่นั่งราคาประมาณ 50-60 ล้านดอลลาร์ ครอบคลุมต้นทุนสร้างยานโซยุซขนาด 3 ที่นั่งเพื่อส่งลูกเรือ การเดินทางรอบที่ 2 จึงหมายถึงกำไร 

แต่การท่องเที่ยวอวกาศนั้นไม่ใช่แค่เรื่องเงิน

“มันคือเกียรติภูมิของชาติ ทำให้คนหนุ่มสาวสนใจยานอวกาศที่มีนักบิน เหนือสิ่งอื่นใดมันคืออนาคต” ดิมิทรี ลอสคูตอฟ ผู้อำนวยการกลาฟคอสมอส หน่วยงานลูกของรอสคอสมอส ดูแลโครงการเชิงพาณิชย์รวมถึงการท่องเที่ยวให้ความเห็น

แข่งขันร้อนแรง

รัสเซีย จีน และสหรัฐ เป็นเพียงสามประเทศที่มีความสามารถส่งยานมีนักบินขึ้นสู่ห้วงอวกาศ แต่ผู้เล่นหน้าใหม่ๆ ที่ทยอยเข้ามาบีบให้รัสเซียต้องเร่งเกม หนึ่งในนั้นคือสเปซเอ็กซ์

มัสก์ยังไม่นำนักท่องเที่ยวไปไอเอสเอส แต่ปีนี้อินสปายเรชัน4 ของเขาปฏิบัติภารกิจ 3 วันนำนักบินพลเรือนขึ้นสู่วงโคจรโลก

ด้านบลูออริจินของ เจฟฟ์ เบซอส ผู้ก่อตั้งอเมซอนและเวอร์จิน กาแล็กติกของอภิมหาเศรษฐีริชาร์ด แบรนสัน ก็พร้อมลงแข่งเช่นกัน

ยานอวกาศของทั้งสองบริษัทเสร็จสิ้นการเดินทางเที่ยวแรกในปีนี้ ใช้เวลาหลายนาทีในภาวะไร้แรงโน้มถ่วงก่อนกลับสู่โลก

แต่แอนเดร ไอโอนิน จากสถาบันนักบินอวกาศรัสเซีย กล่าวว่า คุณไม่สามารถเปรียบเทียบเที่ยวบินสั้นๆ วงโคจรต่ำของเหล่ามหาเศรษฐี กับภารกิจยาวนานหลายวันในการไปที่ไอเอสเอสได้

 “มันเหมือนกับเปรียบเทียบตลาดเฟอร์รารีกับเรโนลต์นั่นล่ะนะ” นักวิชาการกล่าว ซึ่งลอสกูตอฟเห็นพ้องในจุดนี้ กล่าวว่า การเดินทางดูเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมบันเทิงมากกว่าเป็นการเดินทางไปอวกาศ แต่เยโกรอฟแย้ง “การแข่งขันกำลังร้อนแรง” โดยเฉพาะจากสเปซเอ็กซ์

ลอสกูตอฟสวนทันทีว่า รัสเซียรู้ดี จึงต้องการขยายบริการ เช่น สเปซวอล์คระหว่างภารกิจนักท่องเที่ยวล่าสุด

ไม่เพียงเท่านั้น มอสโกยังเผยแผนตั้งสถานีอวกาศของตนเอง เมื่อไอเอสเอสเตรียมปลดระวางในทศวรรษหน้า และโรโกซินกล่าวว่า บนสถานีอาจจะมีโมดูลสำหรับนักท่องเที่ยวแยกต่างหาก เขายังกล่าวถึงความเป็นไปได้ของเส้นทางใหม่ ตัวอย่างเช่น ตามรอยยูริ กาการิน นักบินอวกาศโซเวียต มนุษย์คนแรกที่ได้ไปอวกาศ

ไม่มีอะไรคุกคามรัสเซีย

โรโกซินกล่าวด้วยว่า หลังปี 2573 รอสคอสมอสหวังให้บริการทริปรอบดวงจันทร์ แต่กรอบเวลายังตามหลังความฝันของสเปซเอ็กซ์ ที่เคยประกาศว่า จะนำประชาชน 8 คนไปโคจรรอบดวงจันทร์เร็วสุดปี 2566

อีกความยุ่งยากที่รอสคอสมอสต้องเผชิญในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอวกาศคือการประเมินและตอบสนองความต้องการ ตัวอย่างเช่น ยานอวกาศโซยุซราคาแพง และการจัดการภารกิจต้องใช้เวลาอย่างน้อยสองปี

ลอสกูตอฟกล่าวเสริมว่า รัสเซียพรีออเดอร์จรวดหนึ่งลำสำหรับการส่งนักบินอวกาศครั้งหน้า ส่วนโรโกซินสั่งการหน่วยงานของเขาให้เพิ่มการผลิตยานโซยุซ แต่ความต้องการจริงๆ ที่ไม่ใช่แค่ความสนใจก็ยากจะประเมินเช่นกัน ผู้สมัครต้องยินดีจ่าย ผ่านข้อกำหนดด้านสุขภาพ และต้องฝึกฝนและฟื้นฟูร่างกายหลังกลับสู่โลกแล้วนานหลายเดือน

“ในความเห็นของผมมีคนไม่มากนักหรอก แต่ยังไงซะ คุณก็ไม่ได้ต้องการคนเยอะ” ไอโอนินกล่าวและว่า อย่างน้อยตอนนี้รัสเซียก็นำหน้าด้วยอานิสงส์จากยานโซยุซที่ออกแบบโดยโซเวียตและกาลเวลาได้เป็นเครื่องพิสูจน์แล้ว

“สำหรับ 5-10 ปีข้างหน้า รอสคอสมอสยังไม่มีภัยคุกคามทางธุรกิจ” ไอโอนินเชื่อเช่นนั้น