เปิดความหมาย-ที่มา "Kangaroo Court" ที่ไม่ใช่ "ศาลจิงโจ้"

เปิดความหมาย-ที่มา "Kangaroo Court" ที่ไม่ใช่ "ศาลจิงโจ้"

รู้จักความหมายและที่มาของคำว่า “Kangaroo Court” จากกรณีเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญถูกแฮก และเปลี่ยนชื่อเว็บเป็น Kangaroo Court แล้วในความเป็นจริง คำนี้เกี่ยวข้องกับ “จิงโจ้” อย่างไรและมีที่มาจากอะไร

คำว่า “Kangaroo Court” (ศาลจิงโจ้) กลายเป็นที่สนใจในสังคมไทย หลังจากช่วงประมาณเที่ยงวันที่ 11 พ.ย. 64 เว็บไซต์ “ศาลรัฐธรรมนูญ” https://www.constitutionalcourt.or.th ถูกมือดีแฮกและปรากฏคลิป MV ของศิลปินผิวสีคนหนึ่ง ขณะที่ชื่อเว็บไซต์ที่เดิมใช้ว่า “สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ” ก็กลายเป็น “Kangaroo Court”

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้สืบค้นเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำนี้ พบว่า เว็บไซต์ดิกชันนารี Merriam-Webster นิยามความหมายของ kangaroo court ไว้ 2 แบบดังนี้

1. ศาลจำลอง (mock court) ที่พิพากษาโดยไม่ต้องอิงตามหลักกฎหมายและความยุติธรรม หรือตีความหลักกฎหมายอย่างไรก็ได้

2. ศาลจริงที่ถูกนิยามจากคำพิพากษาที่ไร้ความรับผิดชอบ ตัดสินโดยพลการ หรือมีสถานะหรือกระบวนการพิจารณาที่ไม่อยู่ในกรอบกฎหมาย

อ่านข่าว : ด่วน! เว็บไซต์ "ศาลรัฐธรรมนูญ" โดนแฮก

นอกจากนี้ Merriam-Webster ระบุด้วยว่า kangaroo court เป็นวลีที่ไม่ได้หมายถึงศาลที่ตัดสินโดยจิงโจ้หรือพิพากษาจิงโจ้

ข้อมูลจากเว็บไซต์ scholarship.in.th ระบุว่า kangaroo court หมายถึง ศาลที่ผิดกฎหมาย ที่จัดตั้งขึ้นโดยกลุ่มคนที่ยึดกฎหมายไว้ในมือของพวกเขาเอง และทำการพิจารณาคดีที่แก้ปัญหากันเองโดยใช้อำนาจส่วนบุคคลจัดการ เช่น

“Calm down please! Is this a meeting or a kangaroo court?” (ใจเย็น ๆ ! นี่คือการประชุมหรือศาลเตี้ยกันแน่?)

  • มีที่มาจากอะไร

อย่างไรก็ตาม แม้มีทฤษฎีมากมายเกี่ยวกับต้นกำเนิดของวลี kangaroo court แต่ Merriam-Webster คาดว่าคำนี้เชื่อมโยงกับจิงโจ้ตรงที่สื่อถึงการตัดสินแบบเร็ว ๆ ลวก ๆ และคาดเดาไม่ได้ เหมือนกับการเคลื่อนไหวของจิงโจ้ที่กระโดดไปมาอย่างรวดเร็ว

เปิดความหมาย-ที่มา \"Kangaroo Court\" ที่ไม่ใช่ \"ศาลจิงโจ้\" - ที่มารูป: AFP -

ขณะที่เว็บไซต์ The Guardian ระบุว่า คำว่า kangaroo court มีต้นกำเนิดในสหรัฐ ตั้งแต่ราว ๆ ยุค “การตื่นทองที่แคลิฟอร์เนีย” (California Gold Rush) ในปี 2392 และถูกใช้ที่แรก ๆ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย

จนกระทั่งปี 2396 คำว่า kangaroo court ปรากฏบนสื่อสิ่งพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือเล่มหนึ่งที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับรัฐเทกซัส

  • บุคคลระดับโลกที่เคยใช้คำนี้

เมื่อปี 2562 ช่วงที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” ยังเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ เขาเคยใช้คำว่า kangaroo court ประณามสภาคองเกรสที่พยายามเดินเรื่องถอดถอนจากตำแหน่งผู้นำประเทศ

ต้นสายปลายเหตุมาจากความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ระหว่างสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมาก กับฝ่ายบริหารอย่างทำเนียบขาวที่สมัยนั้น ทรัมป์เป็นผู้บริหารสูงสุด

ก่อนหน้านั้น ทรัมป์ส่งจดหมายไปยังแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ไม่อนุญาตให้ กอร์ดอน ซอนด์แลนด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสหภาพยุโรป ขึ้นให้การต่อรัฐสภาในประเด็นที่คองเกรสพบหลักฐานว่า ทรัมป์กดดันประธานาธิบดียูเครน ให้ดำเนินการทางกฎหมายกับบุตรชายของ โจ ไบเดน ซึ่งขณะนั้นเป็นคู่ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในศึกเลือกตั้ง 2563