ดาวโจนส์ร่วง 240 จุดหลังตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งสูงสุดในรอบกว่า30ปี

ดาวโจนส์ร่วง 240 จุดหลังตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งสูงสุดในรอบกว่า30ปี

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันพุธ(10พ.ย.)ปรับตัวลง 240 จุด โดยถูกกดดันจากการที่เงินเฟ้อสหรัฐพุ่งสูงสุดในรอบกว่า 30 ปี แต่ตลาดปรับตัวลงไม่มาก เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากตัวเลขว่างงานที่ต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดโควิด-19 ในสหรัฐ

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปรับตัวร่วงลง  240.04 จุด หรือ 0.66% ปิดที่ 36,079.94 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ร่วงลง 38.54 จุด หรือ 0.82% ปิดที่ 4,646.71 จุด และดัชนีแนสแด็ก ลดลง 263.84 จุด หรือ 1.66% ปิดที่ 15,622.70 จุด

วันพฤหัสบดี(11 พ.ย.)เป็นวันทหารผ่านศึกของสหรัฐ ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ โดยตลาดพันธบัตรสหรัฐจะปิดทำการ แต่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทยังคงเปิดทำการซื้อขายตามปกติ

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 6.2% ในเดือนต.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2533 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.9% จากระดับ 5.4% ในเดือนก.ย.

นอกจากนี้ ดัชนีซีพีไอเพิ่มขึ้น 0.9% ในเดือนต.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.6% จากระดับ 0.4% ในเดือนก.ย.

ขณะเดียวกัน ดัชนีซีพีไอพื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนต.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.4% จากระดับ 0.2% ในเดือนก.ย. และพุ่งขึ้น 6.2% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2533 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.0% จากระดับ 4.0% ในเดือนก.ย.

เมื่อวานนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (พีพีไอ) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ดีดตัวขึ้น 0.6% ในเดือนต.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากปรับตัวขึ้น 0.5% ในเดือนก.ย.

เมื่อเทียบรายปี ดัชนีพีพีไอพุ่งขึ้น 8.6% ในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในเดือนพ.ย.2553 หลังจากดีดตัวขึ้น 8.6% เช่นกันในเดือนก.ย.

ส่วนดัชนีพีพีไอพื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนต.ค. เมื่อเทียบรายเดือน และพุ่งขึ้น 6.2% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2553

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 4,000 ราย สู่ระดับ 267,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2563 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ จากระดับ 271,000 รายในสัปดาห์ก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ดี ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 265,000 ราย แต่ปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ 6 ติดต่อกัน

ส่วนตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากขจัดความผันผวนรายสัปดาห์ ลดลงสู่ระดับ 278,000 ราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค.2563

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกยังคงสูงกว่าระดับ 230,000 ราย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ

ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องเพิ่มขึ้น 59,000 ราย สู่ระดับ 2.16 ล้านราย

ส่วนตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง ลดลง 110,750 ราย สู่ระดับ 2,245,000 ราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค.2563