มารู้จัก "ซื่อชวน โคลเวอร์" วัคซีนสัญชาติจีน ต้านเดลตา 79%

มารู้จัก "ซื่อชวน โคลเวอร์" วัคซีนสัญชาติจีน ต้านเดลตา 79%

"ซื่อชวน โคลเวอร์" วัคซีนโควิด-19 ของจีน ชนิดแรก เผยประสิทธิภาพป้องกันสายพันธุ์เดลตา ยืนยันประสิทธิภาพสูง 79%

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า บริษัท "ซื่อชวน โคลเวอร์" (Sichuan Clover) ผู้พัฒนาวัคซีนโควิด-19 สัญชาติจีนเปิดเผยผลการทดลองวัคซีนระบุว่า วัคซีนของบริษัทมีประสิทธิภาพ 79% ในการป้องกันการติดเชื้อแบบแสดงอาการรุนแรงทุกระดับที่เกิดจากไวรัส สายพันธุ์เดลตา 

วัคซีนนี้เป็นวัคซีนของจีนชนิดแรกที่เปิดเผยข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพ ในการป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดลตาอย่างชัดเจน หลังจากที่สายพันธุ์เดลตาได้ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดไวรัสระลอกใหม่ทั่วโลก

วัคซีนซื่อชวน โคลเวอร์ ใช้โปรตีนที่จับตัวกับเชื้อไวรัสเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกันกับวัคซีนของบริษัทโนวาแวกซ์

ในรายงานผลการทดลองยังพบว่า วัคซีนของซื่อชวน โคลเวอร์ มีประสิทธิภาพเต็ม 100% ในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 แบบแสดงอาการหนักจากสายพันธุ์ที่มีการตรวจพบระหว่างการทดลองวัคซีนโควิด-19 อันได้แก่ เดลตา, แกมมา และมิว ซึ่งตรวจพบครั้งแรกในอินเดีย, บราซิล และโคลอมเบีย ตามลำดับ และสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 แบบแสดงอาการทุกระดับจากทุกสายพันธุ์ได้ 67%

ซื่อชวน โคลเวอร์ เปิดเผยว่า ข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนนี้ มาจากการติดตามผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบแสดงอาการจำนวน 207 ราย เมื่อผ่านไป 2 สัปดาห์หลังจากได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัทและวัคซีนหลอก โดยการทดลองครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมทั้งหมดกว่า 3 หมื่นราย ซึ่งเป็นประชากรวัยผู้ใหญ่และวัยสูงอายุในฟิลิปปินส์, บราซิล, โคลอมเบีย, แอฟริกาใต้ และเบลเยียม

อ่านข่าว : 'โฆษกสถานทูตจีน' ออกโรงค้าน ข้อกล่าวหาวัคซีน 'ซิโนแวค' คุณภาพต่ำ!

วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของซื่อชวน โคลเวอร์ พัฒนาขึ้นด้วยเงินทุน 328 ล้านดอลลาร์จากกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (CEPI) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ให้เงินทุนสนับสนุนการพัฒนาวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า และของโมเดอร์นา

นอกจากนี้ ซื่อชวน โคลเวอร์ยังได้ลงนามในข้อตกลงกับองค์กรกาวี (GAVI) ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรด้านวัคซีน เพื่อบริจาควัคซีนจำนวน 414 ล้านโดสให้กับโครงการ COVAX ที่เป็นความริเริ่มระดับโลกเพื่อจัดสรรวัคซีนโควิด-19 อย่างเท่าเทียม โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก (WHO)