กระแสนิยมซีรีส์เกาหลีหนุนยอดขายสินค้าในอินเดีย

กระแสนิยมซีรีส์เกาหลีหนุนยอดขายสินค้าในอินเดีย

กระแสนิยมซีรีส์เกาหลีหนุนยอดขายสินค้าในอินเดีย โดยการส่งออกวัฒนธรรมเกาหลีครอบงำสังคมอินเดียตั้งแต่ประเทศนี้ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดที่สุดเมื่อปีที่แล้ว

เมื่อปีที่แล้ว ทางการอินเดียประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ชาวอินเดียจำนวนมากหันไปพึ่งซีรีส์เกาหลีคลายเหงาและคลายเครียดส่งผลให้ยอดขายสินค้าเกาหลีไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องสำอางค์ หรือแม้แต่เพลงหรือคอนเสิร์ตพลอยขายดิบขายดีไปด้วย       

“ซีเอส มานิ” ชาวอินเดียวัย 67 ปีซึ่งไม่มีใครคาดคิดว่าเขาจะเป็นแฟนคลับซีรีส์เกาหลี กลับเสียน้ำตามากมายให้กับภาพยนต์ซีรีส์ตอนอวสานเรื่อง “Crash Landing on You” หรือ“ปักหมุดรักฉุกเฉิน”

  “ตอนอวสานของซีรีส์เรื่องนี้เศร้ามาก คุณไม่เสียน้ำตาเลยหรือ ผมกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่เลย ภริยาผมยังหาว่าผมบ้า”มานิ  กล่าวแก่สำนักข่าวอัลจาซีราห์ พร้อมทั้งเล่าถึงเรื่องราวรักปนเศร้าระหว่างทายาทสาวตระกูลร่ำรวยกับทหารฝีมือฉมังของกองทัพเกาหลีเหนือ

มานิ ไม่ได้บ้า เขาเพียงแค่หลงเข้าไปติดอยู่ในวังวนวิวัฒนนาการกระแสนิยมเกาหลี เปรียบเหมือนม้าโทรจันที่บั่นทอนกำลังของข้าศึกโดยใช้อำนาจอ่อน โดยการส่งออกวัฒนธรรมเกาหลีและวัฒนธรรมป็อปครอบงำสังคมอินเดียตั้งแต่ประเทศนี้ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดที่สุดเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว

การโดดเดี่ยวตัวเองและการปฏิบัติตามข้อบังคับของทางการเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ ทำให้ชาวอินเดียจำนวนมากหันไปพึ่งพาความบันเทิงทางออนไลน์แล้วก็ตกหลุมรักซีรีส์เกาหลีแบบถอนตัวไม่ขึ้น 
 

 แต่ไม่ได้มีแค่ซีรีส์เรื่องปักหมุดรักฉุกเฉินเท่านั้น ชาวอินเดียแทบทุกครัวเรือนต่างชื่นชอบซีรีส์อื่นๆแทบทุกเรื่องที่ฉายทางเน็ตฟลิกซ์ รวมทั้ง Descendants of the Sun หรือ "ชีวิตเพื่อชาติ รักนี้เพื่อเธอ" Boys Over Flowers หรือ "รักฉบับใหม่หัวใจ 4 ดวง"  Reply 1988 หรือ "Replyวันวาน1988"  Kingdom หรือ “ผีดิบคลั่ง บัลลังก์เลือด” Sky Castle หรือ “วิมานวาดฝัน”

กระแสนิยมซีรีส์เกาหลีในอินเดียไม่ได้จบลงที่ความดรามาของละครชุดเท่านั้นแต่ความนิยมนี้ครอบคลุมไปถึงสิ่งอื่นๆที่ปรากฏในละครแต่ละฉาก เช่น อาหารที่ดารารับประทาน เสื้อผ้าที่ดาราใส่ เครื่องประดับตลอดจนอัญมณีที่ดาราสวม เหล้าที่นักแสดงในเรื่องนั้นๆดื่ม ภาษาที่พวกเขาใช้สื่อสารกันและผลิตภัณฑ์ความงามที่เหล่าดาราเกาหลีใช้

ความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์ของเกาหลีที่เพิ่มขึ้นเพราะความนิยมวัฒนธรรมเค-ป็อปในอินเดียกระตุ้นให้บริษัทอินเดียหันมาลงทุนมากขึ้นเพื่อโหนกระแสนี้ทั้งในการเข้าซื้อกิจการและการทำแผนการตลาด

ยูโรมอนิเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทวิจัยด้านการตลาดระบุว่า ในปี 2563 น็องชิม แบรนด์บะหมี่เกาหลีใต้มียอดขายเฉพาะปีเดียวสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 1 ล้านดอลลาร์และในปี 2564  ชาวอินเดียบริโภคแรมยุน บะหมี่สำเร็จรูปของเกาหลีเพิ่มขึ้น 178% เมื่อเทียบกับปี 2563 

ขณะที่ความสนใจเรียนรู้ภาษาเกาหลีก็เพิ่มขึ้นจากอานิสงส์ความนิยมดูซีรีส์เกาหลีด้วย 

“ก่อนหน้านี้ คนที่มาเรียนภาษาเพื่อเสริมสร้างความรู้จะเลือกเรียนโดยมีปัจจัยอยู่ที่ว่าภาษานั้นเพิ่มโอกาสในการทำงานหรือไม่ แต่ตอนนี้ กลายเป็นว่าคนที่เข้ามาเรียนภาษาเพราะอยากเข้าใจในสิ่งที่ดารา หรือนักร้องคนโปรดพูด หรือสื่อสารออกมา พวกเขาต้องการเชื่อมต่อโดยตรงกับเกาหลีผ่านทางภาษา”ราธิ จาเฟอร์ หัวหน้าศูนย์ข้อมูลและวัฒนธรรมอินโด-เกาหลีในรัฐทมิฬนาดูทางตอนใต้ของอินเดีย กล่าว

ยูโรมอนิเตอร์ ระบุว่า ด้วยกระแสความนิยมชมซีรีส์เกาหลีในแดนภารตะ ทำให้เน็ตฟลิกซ์มีผู้ชมละครดรามาเกาหลีในปี 2563 เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 370% เมื่อเทียบกับปี 2562 ขณะที่บริษัทอื่นๆที่เกี่ยวข้องก็พลอยได้อานิสงส์ไปด้วย อย่างซี กรุ๊ป บริษัทให้บริการดิช ทีวี จานรับสัญญาณดาวเทียมที่คิดค่าบริการลูกค้า 1.3 รูปีต่อวัน(ไม่ถึง2 เซนต์)และลูกค้าสามารถชมละครเกาหลีได้ในภาษาฮินดู ส่วนแพลทฟอร์มสตรีมมิงยอดนิยมอย่าง เอ็มเอ็กซ์ เพลเยอร์ เสนอละครเกาหลีภาคภาษาฮินดูและภาษาท้องถิ่นอีก2ภาษาคือ ทมิฬและเตลูกู

"มาร์ติน โรลล์"นักเขียนชาวเดนมาร์ก นักวางกลยุทธ์ด้านแบรนด์และเป็นที่ปรึกษาให้กลุ่มบริษัทเกาหลีหลายแห่ง ให้สัมภาษณ์อัลจาซีราห์ว่า การตระหนักรู้เป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนหลักที่ทำให้เกิดกระแสนิยมวัฒนธรรมเกาหลีผ่านการสอดแทรกเนื้อหาด้วยความระมัดระวังและมุ่งหวังประสิทธิผล

ในละครเกาหลีเรื่อง“ปักหมุดรักฉุกเฉิน”ผู้ชมอาจจินตนาการและเปรียบเทียบว่าเกิดขึ้นในอินเดีย หรือปากีสถาน ซึ่งอาจจะอธิบายได้ว่าเพราะเหตุใดชาวอินเดียหลายคนจึงติดละครเรื่องนี้ เหมือนอย่างมานิ ที่ถึงกับกลั้นน้ำตาไม่อยู่ และผลักดันให้ชาวอินเดียแห่ไปซื้อแผ่นมาสก์หน้าและเซรั่มหอยทากจากแบรนด์ดังเกาหลี อย่าง Innisfree, Laneige, Etude, Sulwhasoo and The Face Shop จากร้านออนไลน์อย่างอเมซอน อินเดีย และ Nykaa

อเมซอน อินเดีย เปิดเผยว่า ยอดขายผลิตภัณฑ์เสริมความงามจากเกาหลีขยายตัวกว่า 3.5 เท่า เพราะความต้องการของผู้บริโภคอินเดียที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ผู้ประกอบการบางคนในอินเดียฉวยโอกาสโหนกระแสนี้เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ เช่นชินมาอี้ ศรีปาดา นักร้องในภาคใต้ของอินเดียที่มีผู้ติดตามในทวิตเตอร์1ล้านคนเปิดตัวผลิตภัณฑ์ความงามของเกาหลีในชื่อ"Isle of Skin"

ส่วนแบรนด์ความงามเกาหลีอย่าง“พิลกริม” เปิดตัวในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อปีที่แล้วและได้รับความนิยมอย่างมาก และบรรดาครีเอทีฟวัยหนุ่มสาวก็ค้นพบว่ากระแสนิยมวัฒนธรรมเค-ป็อปไม่ได้แค่ช่วยเพิ่มการรับรู้ในแบรนด์ทางออนไลน์อย่างเดียวแต่ยังช่วยเพิ่มรายได้ให้แบรนด์ด้วย