‘อังกฤษ’ ตั้งเป้าหยุดใช้พลังงานไฟฟ้าถ่านหินปี 67 เร็วขึ้น 1 ปี

‘อังกฤษ’ ตั้งเป้าหยุดใช้พลังงานไฟฟ้าถ่านหินปี 67 เร็วขึ้น 1 ปี

อังกฤษ ประกาศยุติใช้พลังงานไฟฟ้าถ่านหินปี 67 เร็วขึ้น 1 ปี ปูทางผู้นำโลก เปลี่ยนผ่านจากพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระบบพลังงาน ให้ได้ภายในปี 2593

แอน มารี เทร็ฟเวเลียน รัฐมนตรีด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของอังกฤษ  ประกาศว่า อังกฤษจะยุติการใช้ถ่านหิน เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2567  ซึ่งเร็วกว่าที่วางแผนไว้ 1 ปี

การประกาศนี้เป็นส่วนหนึ่งของคำมั่นของรัฐบาลอังกฤษ ในการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และการไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคพลังงาน เพื่อพาอังกฤษออกจากการเป็นต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ได้ภายในปี 2593 

การประกาศในวันนี้ ยืนยันถึงเจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันที่ได้ประกาศไว้เมื่อปีที่แล้วว่า จะเร่งยุติการผลิตกระแสไฟฟ้าจากการเผาถ่านหินให้เร็วยิ่งขึ้น

 การประกาศนี้ ทำให้อังกฤษต้องยุติการใช้พลังงานถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าให้เร็วกว่าเดิม 1 ปี ตอกย้ำให้เห็นความเป็นผู้นำที่จะขับเคลื่อนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้เร็วกว่า และล้ำหน้ากว่าประเทศอื่น ๆ โดยดำเนินการเป็นตัวอย่างในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก่อนถึงการประชุม COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ ในเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งอังกฤษเป็นเจ้าภาพ พร้อมกันนี้ ขอเรียกร้องให้ประเทศอื่น ๆ เร่งการยุติการใช้พลังงานจากถ่านหิน 

พลังงานถ่านหิน เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุดตัวหนึ่ง และเป็นตัวการที่ทำให้เกิดมลพิษในอากาศ หากยุติการใช้พลังงานถ่านหินในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ อังกฤษจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยจำกัดอุณหภูมิโลกให้ไม่เกิน 1. 5องศาเซลเซียส  โดยเมื่อปี 2563 อังกฤษมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินคิดเป็น 1.8% ลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับสัดส่วน 40% เมื่อเกือบสิบปีก่อน

การประกาศนี้ ออกมาก่อนที่รัฐมนตรีด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของอังกฤษ จะขึ้นกล่าวในงานประชุม Powering Past Coal Alliance (PPCA) Europe Roundtable ในวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัปดาห์แห่งการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศลอนดอน (London Climate Action Week) โดยเธอได้กล่าวถึงความสำคัญที่ประเทศต่าง ๆ จะต้องยุติการให้เงินสนับสนุนพลังงานถ่านหิน และแนวทางการดำเนินงานที่บริษัทเอกชนจะสามารถร่วมผลักดันประเด็นนี้ได้

“วันนี้เราส่งสัญญาณชัดเจนไปทั่วโลกว่า อังกฤษเป็นผู้นำในการปิดฉากพลังงานถ่านหินให้อยู่เพียงในหน้าประวัติศาสตร์ และว่าเราจริงจังกับการหยุดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระบบพลังงาน เพื่อเราจะได้บรรลุเป้าด้านสภาพภูมิอากาศที่ยิ่งใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก” เทร็ฟเวเลียนระบุ และกล่าวว่า Net Zero หรืออนาคตแห่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของอังกฤษจะเป็นศูนย์ พร้อมขับเคลื่อนด้วยพลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีนี้ จะหนุนปฏิวัติอุตสาหกรรมสีเขียวและสร้างงานใหม่ ๆ ทั่วประเทศ

อังกฤษ หยุดใช้ถ่านหินผลิตกระแสไฟฟ้าได้เป็นเวลา 5,000ชั่วโมง ในปี2563 และเมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้ทำลายสถิติด้านพลังงานลมด้วยการใช้ผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 1 ใน 3 ของไฟฟ้าในประเทศ การใช้พลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการแข่งขัน ระบบเศรษฐกิจแบบเสรี และการอุดหนุนจากรัฐบาล เพื่อกระตุ้นให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ ๆ ส่งผลให้ต้นทุนพลังงานสีเขียวลดลงจนปัจจุบันพลังงานถ่านหินในประเทศส่วนมากมีราคาแพงกว่าพลังงานอื่น ๆ

อังกฤษ ในฐานะประเทศแรก ๆ ที่ได้ให้คำมั่นที่จะยุติการใช้พลังงานถ่านหินประกอบกับความสำเร็จ ในการขับเคลื่อนนโยบายด้านพลังงานหมุนเวียน อังกฤษจึงเป็นผู้นำโลกในการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระบบพลังงานอย่างมีนัยสำคัญ

ในฐานะประธานการประชุม COP26 อังกฤษขอเชิญชวนให้ประเทศต่าง ๆ ดำเนินการเช่นเดียวกันและไม่กลับมาใช้พลังงานถ่านหินอีกต่อไป ในการประชุมรัฐมนตรีด้านสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ (G7) ซึ่งอังกฤษเป็นประธานเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา รัฐมนตรีจากประเทศต่าง ๆ ได้ตกลงยุติการให้เงินสนับสนุนพลังงานถ่านหินภายในสิ้นปีนี้และได้ตกลงที่จะเร่งการเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานถ่านหินแบบไม่มีการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ที่เพียงพอ (unabated coal) ไปสู่ระบบพลังงานแบบคาร์บอนต่ำในสัดส่วนมากที่สุดในช่วงทศวรรษข้างหน้า

นายอล็อก ชาร์มา ว่าที่ประธานการประชุม COP26 กล่าวว่า ทศวรรษต่อไปจะชี้ชะตาโลกของเรา และวิธีที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากที่สุดก็คือการยุติการพึ่งพาถ่านหิน 

“ก่อนที่จะถึงการประชุมCOP26 ผมหวังว่าก้าวที่เด็ดขาดไปสู่อนาคตที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้นของอังกฤษ จะส่งสัญญาณชัดเจนไปสู่พันธมิตรรอบโลกว่า พลังงานสะอาดคือแนวทางก้าวไปข้างหน้า ก้าวย่างนี้จะยิ่งส่งผลทวีคูณหากเรานำโลกทั้งใบไปด้วยกัน ดังนั้นประเด็นการเจรจาหลักของผมบนเส้นทางสู่การประชุม COP26 จึงเกี่ยวกับการที่เราต้องการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดอย่างเป็นธรรมจึงเป็น” นายชาร์มา กล่าว

อย่างไรก็ตาม วาระหลักของการเป็นประธานการประชุมCOP26ของสหราชอาณาจักรคือ การเร่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในระดับโลกจากการใช้พลังงานถ่านหินไปสู่พลังงานสะอาด รัฐบาลสหราชอาณาจักรกำลังเจรจาขอให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ กำหนดวันที่จะยุติการใช้พลังงานถ่านหินและยุติการลงทุนด้านพลังงานถ่านหินในต่างประเทศ และเราได้จัดตั้งสภาการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน(Energy Transition Council) รวมตัวพันธมิตรเพื่อทำให้พลังงานสะอาดเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากที่สุดสำหรับประเทศกำลังพัฒนาและเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านนี้