เปิดสงครามแร่หายาก 'Rare Earth' ไพ่หลักที่จีนใช้ต่อรองสหรัฐ

“ตะวันออกกลางมีน้ำมัน จีนก็มีแร่หายาก” เป็นคำกล่าวของอดีตผู้นำจีน “เติ้ง เสี่ยวผิง” ในปี 2535 ก่อนที่จีนจะใช้เวลาเพียง 3 ทศวรรษ ขึ้นเป็นมหาอำนาจผู้ผูกขาดอุตสาหกรรม Rare Earth ทั่วโลกในวันนี้
บริษัทน้ำมันใช้เวลานานกว่า “ศตวรรษ” ในการพัฒนาเครือข่ายอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพื่อขุดเจาะ กลั่น และส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าทั่วโลก การจะหาแหล่งวัตถุดิบที่จำเป็นในการสร้างเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ที่ปล่อยคาร์บอนน้อยลงนั้น ถือเป็นความท้าทายใหม่ทั้งหมด
ทว่า “จีน” ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหานี้มานานกว่าทศวรรษแล้ว กลายเป็นผู้นำที่ไม่มีใครเทียบได้ในด้าน “แร่ที่สำคัญ” (critical minerals) ที่ใช้ในการผลิตอุปกรณ์ต่างๆ ของภาคพลังงานใหม่ทั่วโลกในวันนี้ตั้งแต่แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า แผงโซลาร์เซลล์ ไปจนถึงแม่เหล็กกังหันลม ทำให้จีนครองความเป็นเบอร์ 1 ทั้งในด้านปริมาณการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ไปจนถึงการใช้พลังแสงอาทิตย์และพลังงานลม
บลูมเบิร์กระบุว่า หากประเทศอื่นๆ ต้องการขึ้นมาท้าทายในเทคโนโลยีสะอาดเหล่านี้ พวกเขาจำเป็นต้องไล่ตามให้ทันโดยเร็วที่สุด แต่การแข่งขันกำลังยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในขณะนี้ เนื่องจากจีนใช้เรื่องแร่สำคัญเป็นไพ่ในมือ ตอบโต้สงครามการค้ากับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน โดยจีนจำกัดการส่งออกแร่ที่สำคัญหลายชนิด โดยเฉพาะกลุ่ม "แร่หายาก" (rare earth) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศและพลังงาน
แร่ที่สำคัญคืออะไร ทำไมจึงเป็นเรื่องใหญ่
ที่ผ่านมาประเทศต่างๆ พยายามหาแหล่งวัตถุดิบที่จำเป็นต่อการพัฒนาศักยภาพด้านอุตสาหกรรมและการทหารของชาติมานานแล้ว สหรัฐและสหภาพยุโรป (อียู) มีการจัดเกณฑ์แร่โลหะและแร่ธาตุประมาณ 50 ชนิด ว่าเป็นกลุ่มแร่ที่สำคัญ ซึ่งรวมถึงลิเทียม กราไฟต์ โคบอลต์ แมงกานีส และ "แร่หายาก" (แรร์เอิร์ธ) ซึ่งเป็นแร่โลหะ 17 ชนิดที่ทีคุณสมบัติทางเคมีเฉพาะตัวและเป็นวัตถุดิบที่ขาดไม่ได้ในการผลิตสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ แม่เหล็ก และผลิตภัณฑ์ออปติคัลบางชนิด
แม้ว่าแร่ที่สำคัญหลายชนิดจะพบได้ทั่วโลก แต่การทำเหมืองสกัดและกลั่นหรือแปรรูปแร่ออกมาให้สามารถใช้งานได้นั้นมีความซับซ้อนทางเทคนิค ใช้พลังงานมาก และก่อให้เกิดมลพิษ ซึ่งในเรื่องนี้ “จีน” ได้ยึดหัวหาดไปแล้ว หรือแทบจะเรียกได้ว่าผูกขาดห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมแร่ที่สำคัญหลายตัวเอาไว้ชนิดที่ไม่มีใครเทียบได้
แม้แต่ในกรณีของโลหะที่มีอยู่มากมาย เช่น “ทองแดง” แต่ความต้องการใช้ที่มหาศาลก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะมีเพียงพอเช่นกัน ทำให้ในปี 2566 ที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้จัดหมวดหมู่ “ทองแดงและนิกเกิล” เป็นแร่สำคัญครั้งแรก แม้ว่าจะเป็นแร่โลหะที่มีมากมายทั่วโลกก็ตาม
เหตุใดตะวันตกจึงมองว่าการพึ่งจีนเป็นปัญหา
ผู้ผลิตพยายามหลีกเลี่ยงการพึ่งพาแหล่งวัตถุดิบจากประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป เนื่องจากเสี่ยงต่อปัญหาต่างๆและสำหรับจีนนั้น ประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดขึ้นกับสหรัฐก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลด้วย
รัฐบาลปักกิ่งเริ่มดำเนินมาตรการห้ามส่งออกแร่บางรายการ อาทิ “พลวง (antimony) แกลเลียม และเจอร์เมเนียม” ไปยังสหรัฐตั้งแต่เดือนธ.ค. 2567 โดยอ้างความกังวลด้านความมั่นคงของชาติ หลังจากที่รัฐบาลวอชิงตันได้จำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ละเอียดอ่อนบางอย่างของจีนและปักกิ่งยังได้กำหนดเงื่อนไขที่เข้มงวดยิ่งขึ้นสำหรับการขาย “กราไฟต์” ซึ่งเป็นส่วนผสมของแบตเตอรี่รถอีวี
เมื่อความตึงเครียดเพิ่มขึ้นจากภาษีจีนล็อตแรก 10% กระทรวงพาณิชย์จีนได้ตอบโต้เมื่อต้นเดือนก.พ. 2568 โดยออกมาตรการควบคุมการส่งออกโลหะ 5 ชนิด ได้แก่ ทังสเตน เทลลูเรียม บิสมัท อินเดียม และโมลิบดีนัม รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ พลังงานสะอาด และอุตสาหกรรมอื่นๆ
รอยเตอร์สระบุว่านับเป็นความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของจีนนับตั้งแต่ปี 2566 ที่จีนใช้จุดแข็งจากการมีอำนาจเหนือตลาดการทำเหมืองแร่และการแปรรูปแร่สำคัญมาเป็นอาวุธต่อรอง แร่เหล่านี้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตตั้งแต่สมาร์ตโฟน แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ไปจนถึงขีปนาวุธและอาวุธยุทธภัณฑ์ต่าง ๆ
ล่าสุดในเดือนเม.ย. นี้ ที่ภาษีตอบโต้จีนพุ่งขึ้นไปสูงถึง 145% จีนจึงขึ้นบัญชีแร่หายาก 7 ชนิด ลงในรายการควบคุมการส่งออกเพิ่ม ได้แก่
- ซาแมเรียม (samarium)
- แกโดลิเนียม (gadolinium)
- เทอร์เบียม (terbium)
- ดิสโพรเซียม (dysprosium)
- ลูทีเชียม (lutetium)
- อิตเทรียม (yttrium)
- สแกนเดียม (scandium)
จีนมีอำนาจเหนือแร่ที่สำคัญได้อย่างไร
ในช่วงต้นปี 2535 “เติ้ง เสี่ยวผิง” ผู้นำจีนในขณะนั้นได้เน้นย้ำถึงศักยภาพของประเทศในการเป็นผู้นำโลกด้านแร่สำคัญ โดยกล่าวว่า “ตะวันออกกลางมีน้ำมัน จีนก็มีแร่หายาก” และเมื่อเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมก็เริ่มสูงเกินกว่าปริมาณสำรองในประเทศ
จีนตอบสนองด้วยการลงทุนอย่างหนักด้านอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในต่างประเทศ และค่อยๆ เข้าครอบงำการกลั่นและแปรรูปสินค้าโภคภัณฑ์เหล่านี้รวมถึงผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง ซึ่งเมื่อจีนเข้ามา บริษัทตะวันตกก็ถอนตัวออกไปโดยยินดีที่จะจ้างบุคคลภายนอกเพื่อดำเนินการผลิต
ปัจจุบัน จีนเป็นผู้ผลิตชั้นนำของแร่สำคัญ 20 ชนิด เมื่อวัดจากส่วนแบ่งการผลิตที่ขุดหรือแปรรูปทั่วโลก ในกรณีของ “ดิสโพรเซียม” ซึ่งเป็นกลุ่มแรร์เอิร์ธที่ใช้ในการทำไฟส่องสว่างและเลเซอร์ จีนครองตลาดถึง 84% ของอุปทานที่ขุดได้และ 100% ของการผลิตที่กลั่นแล้วตามข้อมูลการวิเคราะห์ของอียู
นอกจากนี้ จีนยังเป็นผู้ผลิตโคบอลต์และนิกเกิลบริสุทธิ์รายใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย และบริษัทจีนได้ลงทุนอย่างหนักในเหมืองโคบอลต์และนิกเกิลในประเทศต่างๆ เช่น คองโกและอินโดนีเซีย
คู่แข่งของจีนแก้เกมอย่างไร
“สหรัฐ” พยายามแก้ปัญหาเรื่องการพึ่งพิงซัพพลายเออร์ต่างประเทศที่ไม่น่าเชื่อถือหรือเป็นศัตรู ผ่านทางกฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อปี 2565 (IRA) ซึ่งรัฐบาลทรัมป์ก็ยังคงสานต่อบางส่วนในปัจจุบันโดยเฉพาะเรื่องแร่สำคัญ
ในเดือนมี.ค.ปีนี้ ทรัมป์ได้ใช้อำนาจฉุกเฉินเพื่อกระตุ้นการผลิตและแปรรูปแร่สำคัญในประเทศ และทรัมป์ได้ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารให้ฮาวเวิร์ด ลัตนิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เริ่มดำเนินการสอบสวนตามมาตรา 232 ของกฎหมาย Trade Expansion Act 1962 เพื่อเพื่อพิจารณาว่าการพึ่งพาการนำเข้าแร่สำคัญจากต่างประเทศ เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติหรือไม่และจำเป็นต้องเก็บภาษีนำเข้าแร่สำคัญหรือไม่
ตามข้อมูลของทำเนียบขาวนั้น สหรัฐ “พึ่งพาการนำเข้า 100%” สำหรับแร่ที่สำคัญอย่างน้อย 15 ชนิด และ 70% ของการขนส่งแร่หายากมาจากจีน
ส่วนใน “สหภาพยุโรป” มีการออก “กกฎหมายว่าด้วยวัตถุดิบที่สำคัญ” (Critical Raw Materials Act) โดยมีเป้าหมายเพื่อผ่อนปรนการจัดหาเงินทุนและการอนุญาตสำหรับโครงการขุดและกลั่นแร่ใหม่ๆ ในประเทศ และหาพันธมิตรทางการค้าเพื่อลดการพึ่งพาซัพพลายเออร์ของจีน นอกจากนี้ อียูยังผลักดันข้อตกลงอุตสาหกรรมที่สะอาด ซึ่งจะรวมถึงกลไกที่ช่วยให้บริษัทต่างๆ ในยุโรปสามารถผนึกรวมความต้องการวัตถุดิบที่สำคัญเข้าด้วยกันได้
คู่แข่งของจีนพยายามหาข้อตกลงด้านการจัดหาและหุ้นส่วนการลงทุนกับประเทศที่ผลิตแร่ที่สำคัญรายอื่นๆ ทว่าสถานะที่มั่นคงของจีนในหลายประเทศเหล่านี้ทำให้จีนยังมีข้อได้เปรียบในช่วงแรกๆ เช่น เหมืองโคบอลต์มากกว่าครึ่งหนึ่งในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เป็นของบริษัทจีนหรือจีนมีส่วนในการควบคุม โดยจีนกำลังเสริมสร้างความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ในแอฟริกา ซึ่งคาดว่าจะเป็นผู้ผลิตแร่โลหะรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกภายในสิ้นทศวรรษนี้