‘BRI - Multilateralism’ เครื่องมือสุดท้ายของจีนเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
"สี จิ้นผิง" เร่งฟื้นโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ (BRI) หวังใช้เป็นเครื่องมือขยายความมั่งคั่งท่ามกลางสงครามการค้ากับสหรัฐที่ขยายตัว
เส้นทางสายไหมใหม่ของจีน หรือโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ถือเป็นโปรเจคสำคัญที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง คิดค้นขึ้นมาเพื่อเป็นเหมือน “เครื่องจักรสำคัญทางเศรษฐกิจ” ให้จีน หลังจากที่ตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมาการเติบโตของเศรษฐกิจจีนถึง “จุดอิ่มตัว” จากจีดีพีขยายตัวได้แบบเลขสองหลักกลับกลายมาเป็นเลขหลักเดียวในปัจจุบัน
การเติบโตของจีดีพีจีนหดตัวลงจากทศวรรษก่อนหน้า
กลไกสำคัญของโครงการเส้นทางสายไหมคือการที่จีนใช้ข้อได้เปรียบของตัวเองจากการเป็น “โรงงานของโลก” ในการส่งสินค้าและบริการที่ตัวเองผลิตออกไปตามเส้นทางสายไหมใหม่ที่สร้างขึ้นไม่ว่าจะเป็นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง หรือยุโรป
อย่างไรก็ตาม ในช่วงการแพรระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา สร้างบาดแผลที่ทั้งลึกและสาหัสให้เศรษฐกิจของมหาอำนาจอันดับสองของโลกแห่งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากมาตรการโควิดเป็นศูนย์ (Zero Covid) ของประธานาธิบดีสีที่ต้องการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสทว่ากลับสร้างวิกฤตเศรษฐกิจแทนหลังจากนั้น
ซึ่งปัญหาทั้งหมดยังถูกซ้ำเติบกับวิกฤตฟองสบู่อสังหาฯ ภายในประเทศที่ทำให้หลายบริษัทต้องประกาศล้มละลายจนรัฐบาลต้องเร่งออกมาตรการมาเพื่อแกปัญหาอยู่ในปัจจุบัน
ดังนั้นช่วงที่ผ่านมา นักวิชาการส่วนหนึ่งจึงประเมินเป็นเสียงเดียวกันว่า โครงการเส้นทางสายไหมใหม่ของประธานาธิบดีสีนั้นดูเหมือนจะ “ไปไม่รอด” เพราะไม่มีเม็ดเงินลงทุนเพื่อขยายโครงการดังกล่าวหลังจากเศรษฐกิจในประเทศเผชิญความท้าทาย
ประกอบกับโครงการดังกล่าวยังได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบว่าเป็นการ “ล่าอาณาณิคมรูปแบบใหม่” ของประธานาธิบดีสี ที่เร่งปล่อยกู้ให้ประเทศที่ยากจนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมภายใต้โครงการเส้นทางสายไหมใหม่ และเมื่อประเทศยากจนเหล่านั้นไม่มีเงินจ่ายหนี้ก็ให้จีนเข้าไปสัมปทานหารายได้จากโครงการดังกล่าวได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างรถไฟความเร็วสูงในลาว ท่าเรือในศรีลังกา หรือว่าโครงการโครงสร้างพื้นฐานประเทศในทวีปแอฟริกาอย่างแซมเบียร์และจีบูดี เป็นต้น
นอกจากนี้ การถอนตัวของกลุ่มประเทศในแถบยุโรปถือเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งบอกถึงความท้าทายของโครงการดังกล่าวอย่างชัดเจน อิตาลี ซึ่งเคยเป็นประเทศแรกในกลุ่ม G7 ที่เข้าร่วมโครงการ ได้ประกาศถอนตัวในปี 2566 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อความน่าเชื่อถือของโครงการอย่างมาก
ขอบคุณภาพจาก AFP
เส้นทางสายไหมในฐานะเครื่องมือ ‘รอด’ ของจีน
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีความท้าทายทั้งสามที่อธิบายไป ทว่า สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้เชี่ยวชาญประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า สถานการณ์ทั้งหมดอาจกำลังเปลี่ยนไปและโครงการเส้นทางสายไหมใหม่อาจมีความสำคัญเพิ่มขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการเข้ามาของ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 47 เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากมาตการกีดกันทางการค้าผ่านการขึ้นภาษีศุลกากรที่ล่าสุดเมื่อช่วงกลางเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีแม็กซิโกและแคนาดา 25% ในขณะที่จีนอยู่ที่ 10% รวมทั้งการแบนการนำเข้าและส่งออกสินค้าในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของจีนโดยสหรัฐเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ที่ผ่านมา
ดังนั้นถ้าพิจารณาตามความเป็นไปได้แล้ว เมื่อจีนถูกกดดันเช่นนี้ เศรษฐกิจของจีนซึ่งแต่เดิมมีรายได้หลักมาจากการซื้อขายกับสหรัฐและพันธมิตรตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ก็ได้รับผลกระทบจนเกิด “ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ” ขึ้น
มูลค่ารวมของสหรัฐอเมริกา การค้าสินค้า (ส่งออกและนำเข้า) กับจีนตั้งแต่ปี 2557 ถึง 2566 (หน่วยพันล้านดอลลาร์)
หนทางเดี๋ยวที่จีนจะสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กลับคืนมาได้คือการลดการพึ่งพาสหรัฐและพันธมิตรตะวันตก โดยคำตอบของประธานาธิบดีสีในครั้งนี้คือการกลับมาฟื้นฟูโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง
หนึ่งสัญญาณสำคัญข้อสมมุติฐานข้างต้นคือ เมื่อวันที่ 14 พ.ย. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสี เป็นประธานเปิดท่าเรือน้ำลึกชานเคย์มูลค่ากว่า 1,300 ล้านดอลลาร์ หรือราว 45,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความคืบหน้าล่าสุดในโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ที่เชื่อมจีนกับลาตินอเมริกา โดยสินค้าสำคัญที่จีนส่งออกไปภูมิภาคดังกล่าวคือชิปเซมิคอนดักเตอร์และเครื่องจักรจำนวนมากเพื่อก่อสร้างถนนและทำเหมือนแร่
เล่นบทนำเจรจา ‘พหุภาคี’ แทนสหรัฐ
นอกจากนี้ ท่ามกลางแนวโน้มการเจรจาแบบพหุภาคีนิยม หรือ Multilateralism ภายใต้ทรัมป์มีแนวโนมอ่อนตัวลง เพราะนักวิชาการส่วนหนึ่งมองว่าทรัมป์จะชอบเจรจาแบบตัวต่อตัวหรือ เอกภาคีนิยม (Unilateralism) โดยยึดผลประโยชน์ของสหรัฐเป็นหลักตามนโยบาย America First
แต่น่าสนใจว่า ท่าทีของประธานาธิบดีสี เริ่มชัดเจนมากขึ้นว่า เขาต้องให้ความสำคัญกับการเจรจาแบบพหุภาคีมากขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มประเทศที่ต้องการลดความสำคัญของสหรัฐและพันธมิตรตะวันตกลง
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือในช่วงปีนี้ยาวไปอีก 2-3 ปีข้างหน้า “ปฏิทินทางการทูต” ของประธานาธิบดีสี ค่อนข้างแน่น ไม่ว่าจะเป็นการประชุมผู้นำ BRICS ในช่วงที่ผ่านมา
หรือในปี 2025 ปักกิ่งจะเป็นประธานการประชุมสุดยอดองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organisation: SCO) และเข้าร่วมการประชุมสุดยอดจีน-เอเชียกลาง (China-Central Asia Summit) ครั้งที่สองซึ่งจะจัดขึ้นในคาซัคสถาน
โดยการประชุมทั้งสองเน้นย้ำถึงอิทธิพลของจีนในยูเรเชียที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นภูมิภาคสำคัญซึ่งมีผลต่อความสำเร็จของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) และความมั่นคงชายแดนในประเทศ
ผู้นำจีน (สี จิ้นผิง) และผู้นำอิหร่าน (อายะตุลลอฮ์ อะลี คอเมเนอี) จากขวาไปซ้าย: ของคุณภาพจาก AFP
นอกจากนี้ ยังมีการประชุมแบบพหุภาคีอื่นๆ อีกจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ครั้งล่าสุดว่าจะเป็นเจ้าภาพการประชุมในปี 2026 รวมทั้ง จัดการประชุมสุดยอดจีน-รัฐอาหรับครั้งที่สอง เพื่อสร้างความเข้มแข็งกับหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในตะวันออกกลาง
ส่วนในปี 2027 ยังมีการประชุมสุดยอดจีน-แอฟริกา ที่สาธารณรัฐคองโก โดยจีนจะเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของตัวเองต่อการพัฒนาความสัมพันธ์กับแอฟริกา ซึ่งเป็นหัวใจหลักของความพยายามในการส่งเสริมโกลบอลเซาท์เพื่อถ่วงดุลสถาบันที่นำโดยตะวันตก
ผลกระทบต่อไทยและอาเซียน
มาถึงตรงนี้ หากสมมุติฐานที่ว่าบทบาทของโครงการเส้นทางสายไหมใหม่จะมีมากขึ้นเป็นจริง สุภลักษณ์ ประเมินว่าก็มีความเป็นไปได้ว่าทั้ง “เม็ดเงินลงทุน” และ “สินค้า” จากประเทศจีนจะไหลเข้ามาผ่านโครงการดังกล่าวมาขึ้นซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย
ในส่วนของข้อดีคือก็จะมีเม็ดเงินลงทุนเพิ่มเติมเข้ามาในหลายภูมิภาคที่เป็นพันธมิตรกับจีนซึ่งหนึ่งในนั้นคืออาเซียนและประเทศไทย ทว่าในจุดนี้นักวิชาการส่วนหนึ่งต่างมองว่าไทยก็ยังไม่ใช่ประเทศแรกๆ ที่มีความน่าสนใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงเศรษฐกิจและแรงงานเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อบ้านอย่างเวียดนาม
ขณะที่ข้อที่ต้องระวังคือเมื่อโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ได้รับการโปรโมตมากขึ้น ก็มีแนวโน้มสูงที่สินค้าราคาถูกจากจีนอาจกลับมาทะลักเข้ามาในประเทศไทยจนทำให้ศักยภาพการผลิตและผู้ประกอบการไทยได้รับผลกระทบตามไป