จีนรุกตีหลังบ้านสหรัฐ! เปิด ‘ท่าเรือชานเคย์’ ฮับการค้าแห่งลาตินอเมริกา

จีนรุกตีหลังบ้านสหรัฐ! เปิด ‘ท่าเรือชานเคย์’ ฮับการค้าแห่งลาตินอเมริกา

ท่ามกลางสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น จีนขยับหมากเชิงยุทธศาสตร์ครั้งสำคัญ ด้วยการเปิด ‘ท่าเรือชานเคย์’ ในเปรู ซึ่งนับเป็นประตูสู่ตลาดลาตินอเมริกาที่ใหญ่โต การลงทุนครั้งนี้ไม่เพียงแต่ขยายการค้าของจีนเท่านั้น แต่ยังท้าทายอิทธิพลของสหรัฐอย่างตรงไปตรงมา

KEY

POINTS

  • จีนขยับหมากเชิงยุทธศาสตร์ครั้งสำคัญ ด้วยการเปิด ‘ท่าเรือชานเคย์’ ในเปรู การลงทุนครั้งนี้ไม่เพียงแต่ขยายการค้าของจีนเท่านั้น แต่ยังท้าทายอิทธิพลสหรัฐอย่างตรงไปตรงมา
  • ท่าเรือชานเคย์ เป็นท่าเรือน้ำลึก 17.8 เมตร ทำให้รองรับเรือคอนเทนเนอร์ใหญ่พิเศษได้ พร้อมรองรับปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุตได้สูงถึง 1 ล้านตู้ต่อปี
  • ท่าเรือชานเคย์ยังช่วยร่นเวลาขนส่งระหว่างนครเซี่ยงไฮ้กับเปรูลงถึง 10-12 วัน 

ท่ามกลางกระแสกีดกันการค้าที่รุนแรงขึ้นทั่วโลก “สหรัฐ” และ “ยุโรป” ต่างตั้งกำแพงภาษีต่อสินค้าจีนในระดับที่สูงลิ่ว อีกทั้ง “เอเชีย” ก็ขยับตาม โดยเฉพาะอินโดนีเซียตั้งกำแพงภาษีต่อสินค้าจีนบางประเภทสูงสุดถึง 200% เวียดนามและมาเลเซียเข้าสืบสวนสินค้าจีน ส่วนไทยก็หันมาเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท จากแต่เดิมที่ไม่ได้เก็บ

ในเมื่อตลาดหลักของจีนต่างสร้างกำแพงเช่นนี้ พญามังกรจึงต้องแสวงหา “น่านน้ำใหม่” ซึ่งจากความเคลื่อนไหวล่าสุดก็เป็นไปได้ว่าจะเป็น “ลาตินอเมริกา” กลุ่มประเทศที่อยู่ในเขตอเมริกากลางและอเมริกาใต้ด้วยประชากรกว่า 600 ล้านคน และที่สำคัญคือ ฮับการค้าแห่งใหม่ระหว่าง “จีน” กับ “ลาตินอเมริกา” อยู่ที่ “ท่าเรือชานเคย์” (Chancay Port) ที่ประเทศเปรู โดยห่างจากกรุงลิมา เมืองหลวงของประเทศเพียง 78 กิโลเมตรเท่านั้น

สำหรับท่าเรือชานเคย์ เป็นท่าเรือน้ำลึกที่ลึกถึง 17.8 เมตร ทำให้สามารถรองรับเรือตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่พิเศษได้อย่างไม่มีปัญหา อีกทั้งมีท่าเทียบเรืออยู่ 4 ท่า ซึ่งสามารถรองรับปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุตได้สูงถึง 1 ล้านตู้ต่อปี จนทำให้ช่อง CGTN ของจีนขนานนามท่าเรือแห่งนี้ว่าเป็น “ศูนย์กลางหลัก” สำหรับการค้าระหว่างลาตินอเมริกากับเอเชีย 

จีนรุกตีหลังบ้านสหรัฐ! เปิด ‘ท่าเรือชานเคย์’ ฮับการค้าแห่งลาตินอเมริกา - ท่าเรือ Chancay ในเปรู (เครดิต: China COSCO Shipping) -

ไม่นานมานี้เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนเข้าร่วมพิธีเปิดท่าเรือน้ำลึกชานเคย์ โดยท่าเรือแห่งใหม่นี้พัฒนาโดยบริษัท China Cosco Shipping ด้วยความช่วยเหลือจากเงินทุนจำนวน 1,300 ล้านดอลลาร์ หรือราว 45,000 ล้านบาทจากรัฐบาลจีน

ยิ่งไปกว่านั้น ท่าเรือชานเคย์ยังช่วยร่นเวลาขนส่งระหว่างนครเซี่ยงไฮ้กับเปรูลงถึง 10-12 วัน จนทำให้ระยะเวลาโดยรวมเหลือประมาณ 23 วัน อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ระหว่างจีนและเปรูลงอย่างน้อย 20% 

จาง จุน (Zhang Jun) เจ้าของบริษัท Jiangsu Haosanyou Information Technology ซึ่งบริการหาลูกค้าให้ผู้ขนส่งทางทะเลมองว่า ท่าเรือ Chancay มูลค่า 3,500 ล้านดอลลาร์นี้ เป็นสัญญาณอนาคตถึง “ความเฟื่องฟูของอีคอมเมิร์ซจีน” ในลาตินอเมริกา 

“ในอุตสาหกรรมนี้ ทุกคนมีแนวคิดที่จะไปต่างประเทศ" จางกล่าวในงานจัดแสดงสินค้าโลจิสติกส์ที่ฮ่องกงเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน “เรามุ่งที่จะนำการลงทุนที่เติบโตเต็มที่จากภายในจีนไปยังส่วนอื่น ๆ ของโลก บริษัทเอกชนอย่างเรามองการลงทุนเหล่านี้ในเชิงบวก โดยเฉพาะในอเมริกาใต้ ซึ่งเป็นโอกาสครั้งใหญ่สำหรับเรา”

จีนส่งอิเล็กทรอนิกส์ อเมริกาใต้ส่งวัตถุดิบธรรมชาติ 

เมื่อไปดูการค้าขายระหว่างกัน สินค้าที่จีนส่งไปอเมริกาใต้ส่วนใหญ่มักเป็น “อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์” อาทิ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ของเล่น โทรทัศน์ LCD รวมถึงเครื่องจักรก่อสร้าง โดยเติบโตถึง 12.3% เมื่อเทียบปีต่อปี เนื่องจากเหล่าประเทศในอเมริกาใต้ต้องการใช้วางโครงสร้างพื้นฐานที่ยังคงขาดแคลน

ในขณะเดียวกัน จีนนำเข้าเนื้อสัตว์ วัตถุดิบธรรมชาติต่าง ๆ รวมถึงน้ำมันเวเนซุเอลา ทองแดงชิลี และถั่วเหลืองบราซิล

“ประเทศในอเมริกาใต้ต้องการชิปเซมิคอนดักเตอร์และเครื่องจักรมากขึ้นในการก่อสร้างถนนหรือทำเหมืองแร่” แกรี ยิม (Gary Yim) นักยุทธศาสตร์ธุรกิจของ Bollyman Express บริษัทบริการจัดส่งพัสดุในฮ่องกงกล่าว เขาเสริมต่อว่า ตอนนี้จีนสามารถส่งสินค้าเหล่านี้ทางเรือ และในที่สุดก็จะได้รับประโยชน์จากอเมริกาใต้ที่ร่ำรวยมากขึ้น

สำหรับในปีนี้ ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างจีนกับเอกวาดอร์มีผลบังคับใช้ และปักกิ่งได้ลงนามข้อตกลงกับเวเนซุเอลาเกี่ยวกับการคุ้มครองการลงทุนระหว่างกัน อีกทั้งโคลอมเบียตกลงในเดือนตุลาคมที่จะเข้าร่วมโครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ของจีน ซึ่งช่วยทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับลาตินอเมริกาแน่นแฟ้นขึ้นกว่าเดิม และที่สำคัญคือ นี่คือก้าวสำคัญของจีนในการแผ่อิทธิพลผ่าน “การค้า” เข้าไปในลาตินอเมริกา ซึ่งเป็นหลังบ้านของสหรัฐโดยตรง

ทั้งนี้ จีนขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจในลาตินอเมริกาอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าการค้าทวิภาคีทะลุ 480,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 16 ล้านล้านบาทในปี 2566 เมื่อเทียบกับ 14,000 ล้านดอลลาร์หรือราว 4.8 แสนล้านบาทในปี 2543 ตามข้อมูลจากสำนักงานศุลกากรของจีน

ทางเลี่ยงกำแพงภาษีสหรัฐแห่งใหม่?

นอกจากเป้าหมายด้าน “ตลาดแห่งใหม่” ของจีนแล้ว การขยับของพญามังกรครั้งนี้โดยเปิดท่าเรือยักษ์ที่เปรู อาจเพื่อเลี่ยงกำแพงภาษีสหรัฐหรือไม่ เพราะก่อนหน้านั้น จีนใช้ “เม็กซิโก” เป็นฐานผลิตรถ และส่งไปที่ตลาดสหรัฐโดยไม่ต้องเจอภาษีหรือเสียภาษีน้อย เพราะสหรัฐกับเม็กซิโกมีการค้าเสรีระหว่างกัน ซึ่งในปัจจุบัน โรงงานจีนกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วในเม็กซิโก ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ที่เห็นช่องโหว่นี้ก็ขู่ว่า จะเรียกเก็บภาษี 25% กับสินค้าจากเม็กซิโก

หากไปดูที่ทวีปอเมริกาใต้ สหรัฐก็มีข้อตกลงการค้าเสรี 6 ข้อตกลงกับ 11 ประเทศในลาตินอเมริกา ซึ่งรวมถึงสามประเทศในอเมริกาใต้ 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เมาริซิโอ เคลเวอร์-คาโรน (Mauricio Claver-Carone) ที่ปรึกษาของทีมเปลี่ยนผ่านของทรัมป์ เสนอแนะให้สหรัฐคิดภาษีนำเข้าสูงถึง 60% สำหรับสินค้าจากประเทศใดก็ตามที่ผ่านท่าเรือชานเคย์ เพื่อสกัดการหลบเลี่ยงของจีนนี้

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอาจทำให้การค้าปั่นป่วน สินค้าท้องถิ่นของประเทศเหล่านี้ที่ไม่ใช่ของกลุ่มทุนจีน ก็พลอยได้รับผลกระทบด้วย และอาจผลักลาตินอเมริกาให้แน่นแฟ้นกับจีนมากขึ้นกว่าเดิม

ด้านอีวาน เอลลิส (Evan Ellis) ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาลาตินอเมริกา แห่งสถาบันศึกษาเชิงยุทธศาสตร์ ของวิทยาลัยสงครามกองทัพบกสหรัฐมองว่า การเข้ามาของทรัมป์จะทำให้จีนขึ้นมา “มีบทบาทนำ” ในการค้าเสรีแทนสหรัฐ ในขณะที่ทรัมป์อาจหันหลังกับข้อตกลงการค้าเสรีกับหลายประเทศ และหันมาให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ในประเทศแทน

ถึงกระนั้นก็ตาม มาร์โก รูบิโอ (Marco Rubio) วุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันที่เป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการต่างประเทศ และทรัมป์ได้เสนอชื่อเขาให้เป็น รมต.ต่างประเทศ “แสดงความกังวล” ต่อการขยายอิทธิพลของจีน โดยเขากล่าวว่า “สหรัฐไม่สามารถปล่อยให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนแผ่อิทธิพล และรวมเอาลาตินอเมริกาและแคริบเบียนเข้าไปในกลุ่มการเมือง-เศรษฐกิจส่วนตัวได้” 

ขณะที่นายพลลอร่า ริชาร์ดสัน (Laura Richardson) ผู้บัญชาการกองบัญชาการภาคใต้ของสหรัฐกล่าวเมื่อต้นปีนี้ว่า “จีนกำลังเข้าใกล้เขตแดนของเราอย่างน่าเป็นห่วง”

จะเห็นได้ว่า การก้าวของจีนไม่เพียงแต่สะท้อนความพยายามหาตลาดใหม่ แต่ยังเป็นการสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจใหม่ที่ท้าทายอิทธิพลสหรัฐ การเปิดตัวท่าเรือชานเคย์ในเปรูจึงไม่ได้เป็นเพียงโครงสร้างพื้นฐานเชิงพาณิชย์ แต่คือหมากสำคัญในเกมแห่งอำนาจทางการค้าและการเมืองระหว่างประเทศ

ท้ายที่สุดแล้ว การแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐในลาตินอเมริกา อาจไม่ได้วัดผลเพียงมิติของเศรษฐกิจ แต่ยังรวมถึงความสามารถในการสร้างพันธมิตร และการพัฒนาที่ตอบโจทย์ความต้องการของภูมิภาคนี้ ซึ่งในระยะยาว อาจเป็นตัวชี้วัดว่า ใครจะครองพื้นที่ใน “สนามหลังบ้าน” ของอเมริกาได้อย่างแท้จริง

จีนรุกตีหลังบ้านสหรัฐ! เปิด ‘ท่าเรือชานเคย์’ ฮับการค้าแห่งลาตินอเมริกา - ท่าเรือชานเคย์ (กราฟิก: จิรภิญญาน์ พิษถา) -

อ้างอิง: chinascmpeconomiststatistabbc