‘AI’ ดูดไฟฟ้ามหาศาล ChatGPT กินไฟกว่า Google 10 เท่า ตัวเร่งวิกฤติขาดพลังงาน?

‘AI’ ดูดไฟฟ้ามหาศาล ChatGPT กินไฟกว่า Google 10 เท่า ตัวเร่งวิกฤติขาดพลังงาน?

“AI” กลายเป็นตัวเร่ง “วิกฤติขาดแคลนพลังงาน” หรือไม่ เมื่อกินพลังงานไฟฟ้าสูง อีกทั้งอนาคตการเป็นที่ตั้ง “ดาต้าเซ็นเตอร์” ของไทยถูกท้าทาย เมื่อก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่เป็นแหล่งไฟฟ้าหลักกำลังหมดไป

KEY

POINTS

  • การใช้แชตบอต AI ChatGPT 1 ครั้งกินพลังงานไฟฟ้า “มากกว่า” Google ถึง 10 เท่า
  • ก่อนยุค AI บูม ดาต้าเซ็นเตอร์ (Data Center) ใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 10-15 กิโลวัตต์ แต่พอมาถึงยุค AI การใช้พลังงานไฟฟ้าได้พุ่งเป็น 40-60 กิโลวัตต์
  • ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยกำลังหมดลงไปเรื่อย ๆ โดยกระทรวงพลังงานระบุว่า หากไทยไม่สามารถหาแหล่งใหม่เพิ่มได้ ก็อาจหมดจากอ่าวไทยภายใน 6-7 ปีข้างหน้า

ทุกวันนี้ หลายคนคงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันมนุษย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แม้ว่าทำให้ชีวิตพวกเราสะดวกสบายขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับสร้างความวิตกว่า จะเป็นตัวเร่งให้เกิด “วิกฤติขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า” หรือไม่ เพราะยิ่ง AI มีความซับซ้อนและถูกใช้เป็นวงกว้างมากขึ้นเท่าไร การใช้พลังงานไฟฟ้าก็สูงขึ้นตามไปด้วย และที่น่าตกใจ คือ การใช้แชตบอต AI ChatGPT 1 ครั้งกินพลังงานไฟฟ้า “มากกว่า” Google ถึง 10 เท่า

ในเหตุการณ์ขาดแคลนไฟฟ้า ถ้าหากเคยดูภาพยนตร์ The Cloverfield Paradox จะเห็นช่วงที่โลกเผชิญวิกฤติพลังงานขึ้น ไฟฟ้าที่มีอยู่ก็ติด ๆ ดับ ๆ เกิดความลำบากไปทั่วทุกหย่อมหญ้า จนมนุษย์ต้องไปหาแหล่งพลังงานใหม่จากอวกาศ ซึ่งในปัจจุบัน เรายังคงสามารถใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า และอินเทอร์เน็ตอย่างสะดวกจนไม่รู้สึกถึงภัยนี้

แต่ในอนาคต ด้วยการบริโภคพลังงานที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการใช้ AI ที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ โลกอาจเสี่ยงประสบวิกฤติพลังงานดังภาพยนตร์นี้ก็เป็นได้

ยิ่งไทยมี “ศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์” (Data Center) ของต่างชาติเพิ่มขึ้น อย่างล่าสุดที่ Microsoft บริษัทเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่ประกาศลงทุน เพื่อรองรับการขยายตัวของผู้ใช้งาน AI ทั่วโลก แม้ว่าช่วยดึงเม็ดเงินลงทุนต่างชาติเข้ามา แต่ในอีกด้าน การจะหาแหล่งพลังงานเสริมจากที่ใด ยังเป็นเรื่องน่าครุ่นคิด เพราะไฟฟ้าในไทยผลิตจาก “ก๊าซธรรมชาติ” เป็นหลัก โดยข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานปี 2566 ระบุว่า ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าในไทยได้มาจาก

- ก๊าซอ่าวไทย 2,793 ล้านลูกบาศก์ฟุต หรือคิดเป็นสัดส่วน 61%

- ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นำเข้าจากต่างประเทศ 1,125 ล้านลูกบาศก์ฟุต หรือคิดเป็นสัดส่วน 25%

- ก๊าซนำเข้าจากเมียนมา 650 ล้านลูกบาศก์ฟุต หรือคิดเป็นสัดส่วน 14%

ความเสี่ยง คือ ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยกำลังหมดลงไปเรื่อย ๆ กระทรวงพลังงานระบุว่า หากไทยไม่สามารถหาแหล่งใหม่เพิ่มได้ ก็อาจหมดจากอ่าวไทยภายใน 6-7 ปีข้างหน้า ยังไม่นับรวมปัจจัยการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นและเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่เมียนมาอาจลดการส่งออกก๊าซให้ไทย

‘AI’ ดูดไฟฟ้ามหาศาล ChatGPT กินไฟกว่า Google 10 เท่า ตัวเร่งวิกฤติขาดพลังงาน?

- อุปทานก๊าซในการผลิตไฟฟ้าของไทย (เครดิต: สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน/ TDRI) -

AI ตัวดูดพลังงานไฟฟ้ามหาศาล

คริสโตเฟอร์ เวลลีซ์ (Christopher Wellise) แห่ง Equinix บริษัทข้ามชาติอเมริกันที่เป็นผู้นำด้านดาต้าเซ็นเตอร์ กล่าวว่า ก่อนยุค AI บูม ดาต้าเซ็นเตอร์ระดับไฮเปอร์สเกล หรือศูนย์ข้อมูลที่อาศัยพลังการประมวลผลอย่างมหาศาล ใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 10-15 กิโลวัตต์ แต่พอมาถึงยุค AI การใช้พลังงานไฟฟ้าได้พุ่งเป็น 40-60 กิโลวัตต์ ยิ่งไปกว่านั้น การรักษาอุณหภูมิศูนย์ข้อมูลเหล่านี้ให้เย็นลง ก็เป็นตัวเร่งการสูบพลังงานไฟฟ้าอีกด้วย

‘AI’ ดูดไฟฟ้ามหาศาล ChatGPT กินไฟกว่า Google 10 เท่า ตัวเร่งวิกฤติขาดพลังงาน? - ศูนย์ Data Center (เครดิต: Shutterstock) -

นอกจากนี้ องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) ได้คาดการณ์ว่า ภายในปี 2569 ศูนย์ Data Center มีแนวโน้มใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น “2 เท่า” จากในปัจจุบัน และคิดเป็นสัดส่วนที่สูงขึ้นเป็น 1 ใน 3 ของความต้องการพลังงานไฟฟ้าในสหรัฐในอีก 2 ปีข้างหน้า สะท้อนว่าอุปทานไฟฟ้าของโลกกำลังถูกแบ่งให้กับ AI สูงขึ้นเรื่อย ๆ

แหล่งพลังงานสะอาดให้ AI ยังคงเป็นคำถาม

ยิ่งไปกว่านั้น การหาแหล่งพลังงานไฟฟ้าก็ท้าทายมากขึ้น เพราะควรเป็น “แหล่งพลังงานสะอาด” ที่ไม่ทำให้ภาวะโลกร้อนรุนแรงไปกว่าเดิม โดยเฉพาะเดือน เม.ย. ปีนี้ โลกเผชิญอุณหภูมิร้อนทุบสถิติในประวัติศาสตร์

หากใช้พลังงานถ่านหินและน้ำมัน ถือเป็นพลังงานสกปรก ส่วนก๊าซธรรมชาติ ก็เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ปล่อยสารมีเทน และคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำลายบรรยากาศโลกได้เช่นกัน กลายเป็นว่าเหลือทางเลือกไม่กี่อย่าง ซึ่งก็หนีไม่พ้นพลังงานลม แสงแดดที่ไม่แน่นอน และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซึ่งกำลังเป็นข้อถกเถียงถึงความปลอดภัย

อีกหนึ่งความกังวล คือ เมื่อ AI ใช้พลังงานหนักเข้า ประกอบกับ “ช่วงหน้าร้อน” ที่การใช้ไฟฟ้าพุ่งสูง ก็อาจเกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับกะทันหัน จนกระทบชีวิตผู้คนและเศรษฐกิจอย่างมหาศาล

แอรอน เดนแมน (Aaron Denman) แห่งบริษัท Bain & Company ที่ดูแลด้านที่ปรึกษาด้านพลังงานหมุนเวียน จึงเสนอแนวคิดว่า แต่ละบ้านควรติดตั้งโรงไฟฟ้าขนาดเล็กด้วย เพื่อเตรียมรับมือเหตุการณ์ไม่คาดฝันดังกล่าว

ต้นทุนไฟแพง ตัวฉุดกำไรบริษัทเทคฯร่วง

ในปัจจุบัน บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกต่างพากันโดดเข้ากระแส AI ไม่ว่า Google, Meta, Amazon, Tencent รวมถึง Apple พวกเขาลงทุนเงินกับเทคโนโลยีนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งภาพที่ว่าจะทำกำไรจาก AI อย่างไรนั้น อาจยังไม่ค่อยชัดนัก แต่ที่แน่ ๆ ผู้ที่ได้ประโยชน์เต็ม คือ Nvidia ผู้ผลิตชิปประมวลผลกราฟิก (GPU) สำหรับ AI

ตัวอย่างบริษัทที่กระโจนลง AI คือ Meta แม้ว่าผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2567 ออกมาเติบโต โดยรายได้เพิ่มขึ้น 27% ส่วนกำไรเพิ่มขึ้น 117% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่ราคาหุ้นหลังประกาศผลประกอบการกลับร่วงราว 16%  นั่นเพราะงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในการรองรับ AI บานขึ้น

จากเดิมคาดว่าอยู่ที่ราว 30,000-37,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.1-1.3 ล้านล้านบาท แต่ปรากฏว่าในปีนี้ Meta ประเมินว่า งบลงทุนดังกล่าวอาจเพิ่มขึ้นเป็น 35,000-40,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.2-1.4 ล้านล้านบาทแทน และอาจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ไม่เพียงเท่านั้น มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ยังกังวลใจว่า การต้องใช้พลังงานไฟฟ้าจำนวนมากในการฝึก AI อาจทำให้บริษัทต้องสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่ม ซึ่งก็ไม่ง่ายนัก เนื่องจากอาจเกิดข้อพิพาทกับชุมชนที่ไม่ต้องการมีโรงไฟฟ้าในพื้นที่

‘AI’ ดูดไฟฟ้ามหาศาล ChatGPT กินไฟกว่า Google 10 เท่า ตัวเร่งวิกฤติขาดพลังงาน? - โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (เครดิต: Shutterstock) -

จะเห็นได้ว่า แม้ AI จะพลิกโฉมชีวิตผู้คนให้สะดวกสบาย แต่เบื้องหลังความล้ำหน้าเหล่านี้ เต็มไปด้วย "ไฟฟ้า" อันมหาศาลที่หล่อเลี้ยง ภาพอนาคตจึงยังคงท้าทายว่า ไทยและทั่วโลกจะหาพลังงานจากที่ใด เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งาน AI ที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ  โดยเป็นพลังงานสะอาดที่ไม่ทำให้โลกร้อนขึ้น

อ้างอิง: cnbctdrieppoeconomistdata