รู้จัก ‘AI Act’ ของ EU กฎหมายควบคุม AI ‘ฉบับแรกของโลก’

รู้จัก ‘AI Act’ ของ EU กฎหมายควบคุม AI ‘ฉบับแรกของโลก’

ทำความรู้จักกฎหมายที่มาควบคุม AI เป็นฉบับแรกของโลก ซึ่งผ่านความเห็นชอบโดยรัฐสภายุโรปแล้ว แต่ด้านเยอรมนีและฝรั่งเศสกลับกังวลกฎหมายนี้ที่อาจเป็นอุปสรรคพัฒนา AI

KEY

POINTS

  • กฎหมายดังกล่าวแบนการใช้ AI ในการตรวจจับ “อารมณ์พนักงาน” ในที่ทำงานและโรงเรียน จำกัดขอบเขตการใช้คัดเลือกผู้สมัครงาน
  • AI Act จะมีผลบังคับใช้ในช่วงเดือน พ.ค. และเมื่อนำมาปรับใช้ในกฎหมายของแต่ละประเทศใน EU เป็นไปได้ว่าจะสามารถใช้ได้จริงนับตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป
  • บางประเทศใน EU อย่างฝรั่งเศสและเยอรมนีรู้สึกไม่สบายใจ ด้วยระเบียบเข้มงวดที่ออกมา อาจกระทบต่อความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนา AI จนอาจทำให้ยุโรปไล่ตาม AI ของสหรัฐและจีนไม่ทัน

ทำความรู้จักกฎหมายที่มาควบคุม AI เป็นฉบับแรกของโลก ซึ่งผ่านความเห็นชอบโดยรัฐสภายุโรปแล้ว แต่ด้านเยอรมนีและฝรั่งเศสกลับกังวลกฎหมายนี้ที่อาจเป็นอุปสรรคพัฒนา AI

ก้าวเข้าสู่อีกยุคของมนุษยชาติ เมื่อรัฐสภายุโรปอนุมัติ “กฎหมายควบคุมปัญญาประดิษฐ์” (AI) หรือ “EU AI Act” เป็นฉบับแรกของโลกเมื่อวันพุธ (13 มี.ค. 2567) ที่ผ่านมา ด้วยคะแนนโหวตเห็นชอบที่ 523 เสียง ไม่เห็นชอบ 46 เสียง และงดลงคะแนน 49 เสียง

สำหรับเนื้อหากฎหมายคุม AI ของสหภาพยุโรป (EU) นี้ได้จัดประเภทเทคโนโลยี AI ตามความเสี่ยง 4 ขั้นดังนี้

1. ความเสี่ยงขั้นยอมรับไม่ได้ และต้องถูกแบน

2. ความเสี่ยงระดับสูง

3. ความเสี่ยงปานกลาง

4. ความเสี่ยงระดับต่ำ

ยกตัวอย่างเทคโนโลยี AI ที่ถูกใช้งานในระดับความเสี่ยงสูง เช่น การใช้งานในด้านการก่อสร้างอาคารและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ หุ่นยนต์ผ่าตัด การคัดกรองผู้ข้ามพรมแดน ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้โดย AI ควรแทบไม่มีข้อผิดพลาด และมีระเบียบควบคุมอย่างเข้มงวด

นอกจากนี้ กฎหมาย AI ดังกล่าวยังได้แบนการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการตรวจจับ “อารมณ์พนักงาน” ในที่ทำงานและโรงเรียน จำกัดขอบเขตการใช้คัดเลือกผู้สมัครงาน ซึ่งเรียกได้ว่า ในอนาคตผู้ได้งานอาจถูกคัดด้วยอัลกอริทึมของ AI แทนการใช้มนุษย์ก็เป็นได้ ฯลฯ

กฎหมาย AI ช่วยเพิ่มอำนาจควบคุมเทคโนโลยี

หลังจากกฎหมายนี้ผ่านสภาเป็นที่เรียบร้อย เธียร์รี เบรอตง กรรมาธิการยุโรปแสดงความยินดีว่า ยุโรปได้เป็นมาตรฐานด้าน AI ให้กับทั่วโลกแล้ว   

ส่วนโรแบร์ตา เมตโซลา ประธานรัฐสภายุโรปได้เปรียบ EU AI Act ดั่งผู้บุกเบิก ที่เปิดประตูด้านนวัตกรรมและปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ด้วย  

สำหรับกฎหมายฉบับนี้ จะมีผลบังคับใช้ในช่วงเดือน พ.ค. และเมื่อนำมาปรับใช้ในกฎหมายของแต่ละประเทศใน EU ที่มีเศรษฐกิจ กฎหมาย และระบอบการปกครองที่แตกต่างกัน เป็นไปได้ว่าจะสามารถใช้ได้จริงนับตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป

ดรากอส ตูโดราเค สมาชิกรัฐสภายุโรป กล่าวว่า AI Act จะผลักดันการพัฒนา AI ไปสู่ทิศทางที่มนุษย์ควบคุมได้ และเทคโนโลยีนี้จะช่วยมนุษย์เพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจ เสริมความก้าวหน้าทางสังคม และปลดล็อกศักยภาพของมนุษย์  

ฝรั่งเศสกับเยอรมนี “กังวล” กฎหมายฉบับนี้

ท่ามกลางบรรยากาศความยินดีที่กฎหมาย AI ออกมา ก็มีบางประเทศใน EU อย่างฝรั่งเศสและเยอรมนีรู้สึกไม่สบายใจ โดยมองว่า ด้วยระเบียบเข้มงวดที่ออกมา อาจกระทบต่อความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนา AI จนอาจทำให้ยุโรปไล่ตาม AI ของ “สหรัฐ” และ “จีน” ไม่ทัน

รัฐบาลของทั้งสองประเทศยังกังวลว่า กฎหมายปัญญาประดิษฐ์จะกระทบสตาร์ตอัป AI ของฝรั่งเศสที่ชื่อว่า Mistral AI และของเยอรมนีที่ชื่อว่า Aleph Alpha GmbH เพราะมีข้อกำหนดด้านการเก็บข้อมูล ลิขสิทธิ์ และการรักษาความเป็นส่วนตัวที่เข้มงวดขึ้น ซึ่ง AI จำเป็นต้องใช้ข้อมูลจำนวนมหาศาลในการฝึกฝนตัวเองให้เก่ง

ไม่เพียงเท่านั้น หลายฝ่ายมองว่า ระเบียบ AI ที่ออกมา อาจมีผลต่อการเติบโตของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่าง Google บริษัทเสิร์ชเอนจินระดับโลก, Amazon บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซ, Microsoft บริษัทเทคโนโลยี และ Nvidia บริษัทผู้ผลิตชิป AI ด้วย เพราะต้องควบคุมผู้ใช้งานไม่ให้นำ AI ไปใช้ในทางที่ผิด อย่าง Deepfake ที่เป็นการใช้ AI สร้างวิดีโอปลอมขึ้นมาใหม่ ที่คล้ายภาพและเสียงของบุคคลท่านนั้นอย่างมาก, การสร้างเนื้อหาปลอม หรือแม้แต่การใช้ AI ช่วยแฮกระบบผู้อื่น

หากเกิดอาชญากรรมจาก AI ขึ้นมา บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้อาจมีส่วนเข้ารับผิดชอบด้วย แม้จะไม่ได้เป็นผู้กระทำก็ตาม เปรียบเหมือนกรณีปัจจุบันที่บริษัทโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook และ TikTok ต้องรีบจัดการโพสต์ข่าวปลอมและเนื้อหารุนแรงในแพลตฟอร์ม แม้จะไม่ได้สร้างเนื้อหาเหล่านี้ก็ตาม ซึ่งการที่ปัญญาประดิษฐ์มีกฎหมายเข้ามาควบคุมเหมือนมนุษย์นั้น สะท้อนว่า AI อาจก้าวเข้ามาเป็น “ปัจจัยที่ 6” ของมนุษย์ก็ได้ นอกเหนือจากปัจจัย 4 และมือถือ

อ้างอิง: europacnbcbloomberg