สหรัฐจ่อติดตั้ง 'ระบบขีปนาวุธใหม่' ในเอเชียแปซิฟิก เพื่อทดสอบ - ฝึกพันธมิตรใช้งาน

สหรัฐจ่อติดตั้ง 'ระบบขีปนาวุธใหม่' ในเอเชียแปซิฟิก เพื่อทดสอบ - ฝึกพันธมิตรใช้งาน

สหรัฐเตรียมติดตั้งระบบยิงขีปนาวุธล้ำสมัยตัวใหม่ในเอเชียแปซิฟิก นักวิเคราะห์คาดเพื่อทดสอบ และฝึกพันธมิตรใช้งานอาวุธดังกล่าว แต่การติดตั้งอาจมีความยุ่งยาก เพราะมีคนคัดค้านว่าอาจละเมิดความตกลงควบคุมอาวุธ

ผู้บังคับบัญชากองทัพบกภาคแปซิฟิกของสหรัฐ เผยว่า สหรัฐเตรียมติดตั้งระบบยิงขีปนาวุธพิสัยกลางระบบใหม่ในเอเชียแปซิฟิกก่อนสิ้นปีนี้ และมีรายงานบ่งชี้ว่าอาจเป็นระบบไทฟอน (Typhon system) ล้ำสมัย ที่สามารถรับมือกับภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ และจีนได้

การ์เรน มัลลอย นักวิเคราะห์ และอาจารย์ สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยไดโตะบุนกะในญี่ปุ่นเผยกับ This Week in Asia ของเซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ว่า การติดตั้งระบบดังกล่าวในเอเชียแปซิฟิกอาจเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทดสอบ และการฝึก

“มีข้อมูลเกี่ยวกับไทฟอนอย่างจำกัด และผมคาดว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาที่ดำเนินอยู่ เพื่อดูว่าระบบทำงานอย่างไร” มัลลอย กล่าว และชี้ว่า ระบบใหม่นี้แสดงผลได้ดีเมื่อทดสอบในทะเลทรายหลายแห่งในสหรัฐ ซึ่งเป็นพื้นที่ ที่ไม่มีภูมิอากาศแบบอบอุ่นชื้นภาคพื้นสมุทร เหมือนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

“กองทัพสหรัฐอยากดูว่าระบบนี้จะแสดงผลอย่างไร เมื่อทดสอบในสภาพแวดล้อมที่อื่น และเพื่อเริ่มฝึกหน่วยงานที่จะใช้ระบบดังกล่าว” มัลลอย เผย                                                                            

หนังสือพิมพ์อาซาฮี อ้างอิงแหล่งข่าวรัฐบาลสหรัฐเผยเมื่อวันพฤหัส (4 เม.ย.67) ยืนยันว่าระบบไทฟอนเตรียมติดตั้งในกวม และเตรียมนำไปฝึกใช้งานในญี่ปุ่น

ทั้งนี้ ระบบไทฟอน ประกอบด้วยศูนย์สั่งการเคลื่อนที่ เครื่องยิงขีปนาวุธอัตโนมัติสูงสุด 4 เครื่อง รถพ่วง และยานพาหนะสนับสนุน

เครื่องยิงขีปนาวุธนี้ออกแบบมาเพื่อทำลายขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน (Standard Missile 6) และมีหน้าที่ต่อต้านอาวุธนำวิถีความเร็วสูง หรือขีปนาวุธร่อนโทมาฮอว์ก โดยขีปนาวุธโทมาฮอว์กมีพิสัย 1,600 กิโลเมตร เป็นขีปนาวุธที่มีพิสัยมากกว่าขีปนาวุธ Precision Strike Missile ของสหรัฐที่มีพิสัยราว 805 กิโลเมตร แต่โทมาฮอว์ก มีพิสัยต่ำกว่าอาวุธไฮเปอร์โซนิกที่มีพิสัยเกือบ 2,800 กิโลเมตร

มัลลอย บอกว่า การติดตั้งระบบอาวุธดังกล่าวเพิ่มเติมในแปซิฟิกตะวันตกไม่อาจพ้นจากสายตาคู่แข่งของรัฐบาลวอชิงตันได้ โดยจีน รัสเซีย และเกาหลีเหนือ อาจแสดงความกังวลเกี่ยวกับการแข่งขันทางอาวุธในภูมิภาคที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น

อาจารย์สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เผยด้วยว่า การติดตั้งระบบอาจมีความยุ่งยากเนื่องจากสนธิสัญญาควบคุมอาวุธ ซึ่งมีความตกลงในช่วงสงครามเย็นมากมายที่ครอบคลุมเกี่ยวกับการติดตั้งระบบขีปนาวุธ และขณะที่บางระบบพังแล้วหรือถูกละทิ้งไป ยังคงมีคนออกมาโต้แย้งว่าการนำระบบไทฟอนเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอาจเป็นการละเมิดสนธิสัญญาเหล่านั้น

มัลลอยย้ำ “ขณะที่ระบบอาจออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้จีนเข้าใกล้พื้นที่ แต่รัสเซียก็ไม่ได้อยู่ไกลมาก และรัฐบาลมอสโกอ่อนไหวต่อเทคโนโลยีทางทหารที่เข้าไปในพื้นที่ของพวกเขาเป็นอย่างมาก ซึ่งรวมถึงญี่ปุ่นด้วย”

อ้างอิง: South China Morning Post

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์