เปิดมหากาพย์สงครามราคาอีวีโลก เทสลาชนค่ายรถจีน

เปิดมหากาพย์สงครามราคาอีวีโลก เทสลาชนค่ายรถจีน

ราคารถอีวีที่ลดลงไม่เว้นแม้กระทั่งอีวีมือสอง ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นปุบปับแต่มีเหตุปัจจัยมาจากสงครามราคาที่ปะทุขึ้นในปี 2566 ส่งผลต่อเนื่องถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งมองว่า ตลาดอีวียังสดใสแม้มีอุปสรรคระยะสั้น

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน การแข่งขันเข้มข้นในตลาดอีวีเริ่มตั้นตั้งแต่เดือน ม.ค.2566 เมื่อเทสลา บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติอเมริกันหั่นราคาสินค้าของตนในจีน ส่งผลให้ผู้ผลิตอีกราว 24 รายต้องลดราคารถอีวีของตนลงบ้างเพื่อให้แข่งขันได้และกระตุ้นความต้องการ

บริษัทจีนที่ร่วมวงลดราคา เช่น เสี่ยวเผิง (Xpeng) จีลี่และแบรนด์ลูกอย่างวอลโว ค่ายรถที่เป็นรัฐวิสาหกิจ อาทิ เชอร์รีออโตโมบาย, นีโอ และเกรทวอลล์มอเตอร์

จากนั้นแบรนด์ระดับโลกก็ตามรอย เช่น ฟอร์ดหั่นราคามัสแตง Mach E EV, โตโยต้าลดราคาbZ4X EV, นิสสันเสนอแรงจูงใจซื้อAriya EVไ ม่เพียงเท่านั้นเจเนอรัลมอเตอร์, ฮอนด้า สเทลแลนทิส, ฟอร์ดและนิสสันต่างลดราคารถยนต์สันดาปลงด้วย หลังจากสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับรถอีวีและไฮบริดปลั๊กอิน

บริษัทที่ปรึกษาเอลิกซ์พาร์ตเนอร์ส คาดการณ์ไว้เมื่อกลางปี 2566 ว่า ตลาดรถยนต์จีนที่ใหญ่สุดในโลกกำลังเดินหน้าทะลุเป้าเกือบ 25 ล้านคัน การเติบโตโดยรวมราว 3% สัดส่วนรถอีวีและปลั๊กอินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คาดว่า ปี 2566 จะเป็นปีแรกที่แบรนด์เมดอินไชนาจะครองสัดส่วนตลาดบ้านเกิดได้เกิน 50%

การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นทำให้เกิดการแข่งขันเข้มข้นทั้งด้านราคาและสมรรถนะซึ่งช่วยดันยอดขายอีวีได้ก็จริง แต่คุกคามความสามารถในการทำกำไรของอุตสาหกรรมในวงกว้างไปพร้อมกัน

เดือน มี.ค. 2566 สมาคมผู้ผลิตรถยนต์จีน (ซีเอเอเอ็ม) เรียกร้องอย่างหนักให้ค่ายรถและทางการท้องถิ่นเพลาการลดราคา “สะบั้นหั่นแหลก” เพื่อให้อุตสาหกรรมพัฒนาการอย่างมีเสถียรภาพ

ด้านผู้บริโภคยังไม่ยอมซื้อรอให้ลดราคามากลงไปกว่านี้ ขณะเดียวกันซัพพลายเออร์บางรายจำใจยอมรับราคาที่ลดลงด้วย

ในช่วงนั้น ณ งานใหญ่งานหนึ่งในเซี่ยงไฮ้ ซีเอเอเอ็มเป็นตัวกลางนำผู้บริหารจาก 16 บริษัทรถยนต์จีนมาทำข้อตกลงกันหลายเรื่อง ผู้นำตลาดรถอีวีอย่างเทสลาและบีวายดี รวมถึงแบรนด์จีนที่เน้นอีวีอย่างนีโอ, หลี่ออโต, เสี่ยวเผิง และจีลี แบรนด์รัฐวิสาหกิจอย่างเชอร์รี ออโตโมบาย, เอสเอไอซีมอเตอร์, จีเอซีกรุ๊ป, ตงเฟิงมอเตอร์, เอฟเอดับเบิลยูกรุ๊ป ได้ร่วมลงนามด้วยโดยมีเจ้าหน้าที่รายหนึ่งจากกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นสักขีพยาน

หนังสือที่ลงนามกันระบุถึงคำมั่น “จะไม่รบกวนการแข่งขันที่เป็นธรรมในตลาดด้วยราคาผิดปกติ” เพื่อสร้างเสถียรภาพให้ตลาดและส่งเสริมการบริโภค การร่วมลงนามครั้งนั้นถูกมองว่าเป็นการพักรบสงครามราคาแต่ไม่กี่วันต่อมาเทสลาเผยว่า กำลังเสนอค่าแนะนำรถโมเดล 3 และโมเดลวายมูลค่าราว 500 ดอลลาร์รวมถึงในจีนด้วย ด้านบริษัทลูกที่โฟล์คสวาเกนร่วมลงทุนกับเอสเอไอซีและเอฟเอดับเบิลยูก็ประกาศลดราคาอีวี ID ซีรีส์ในจีนเช่นกัน วันรุ่งขึ้นซีเอเอเอ็มจึงถอนข้อตกลง 

หลิว ซู่ นักวิจัยจากสถาบันยุทธศาสตร์แห่งชาติ มหาวิทยาลัยชิงหัว กล่าวว่า การบังคบใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาดต่ออุตสาหกรรมยานยนต์จีนนั้นทำอย่างเลือกปฏิบัติ อีกทั้งภาษาที่ใช้ในการให้คำมั่นเรื่องราคาอีวีนั้นคลุมเครือจนยากจะตัดสินได้ว่ามีการผูกขาดราคาหรือไม่

ด้านซุย ตงชู เลขาธิการสมาคมรถยนต์นั่งจีน กล่าวว่า ขณะที่บริษัทยังสามารถหั่นราคาต่อไปได้ จึงควรยกเลิกการอุดหนุนจากทางการท้องถิ่นมากกว่าเพราะนั่นคือการบิดเบือนระบบราคา

กล่าได้ว่า สถานการณ์เมื่อกลางปี 2566 ผู้ผลิตรถยนต์โลกยังคงเจอแรงกดดันอย่างหนักให้ปรับโครงสร้างปฏิบัติการในจีน และมีสัญญาณว่าแรงกดดันต่อราคาส่งผลให้เกิดการเลิกจ้าง ซัพพลายเออร์ได้กำไรน้อยลง แผนการขยายกิจการของผู้ผลิตบางรายไม่คืบหน้า ในขณะนั้นเทสลากำลังรอการอนุมัติแผนเพิ่มกำลังการผลิตที่โรงงานเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นโรงงานใหญ่สุดผลิตได้มากที่สุดของบริษัท

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันคนงานผลิตชุดแบตเตอรีจำนวนหนึ่งของเทสลาได้รับแจ้งเรื่องการเลิกจ้างในโรงงานเซี่ยงไฮ้ แม้แผนการผลิตไม่เปลี่ยนแปลงก็ตาม

ด้านฮุนไดมอเตอร์ บริษัทรถยนต์ใหญ่อันดับสามของโลกวัดจากยอดขาย กล่าวในเดือน มิ.ย.2566 ว่า จะปิดโรงงานในจีนและหาทางขายโรงงานที่ปิดไปก่อนเมื่อปี 2565

เอลิกซ์พาร์ตเนอร์สมองว่า แม้ตลาดอีวีจีนเติบโตรวดเร็วต่อเนื่อง การแข่งขันเข้มข้นและผลผลิตส่วนเกินจะผลักดันให้เกิดการล้มหายตายจากไปด้วย คาดว่าในบรรดา 167 บริษัทที่จดทะเบียนผลิตรถอีวีหรือไฮบริดปลั๊กอินในจีน ภายในปี 2573 จะเหลือรอดมาได้แค่ 25-30 รายเท่านั้น

ขณะเดียวกันแบรนด์จีนกำลังตั้งเป้าเติบโตนอกประเทศ เช่น ในยุโรปและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตัวอย่างเช่น ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ผู้ผลิตรถยนต์จีนลงทุนในประเทศไทยแล้ว 1.4 พันล้านดอลลาร์ จนครองตลาดอีวีไทยแย่งส่วนแบ่งตลาดจากแบรนด์ญี่ปุ่นที่เคยครองความเป็นเจ้ามานาน

ตัดภาพมาที่ปัจจุบันความต้องการอีวีโลกที่กำลังชะลอตัวลงส่งผลสะเทือนไปทั่วทั้งอุตสาหกรรม บริษัทต้องลดการผลิต เลิกจ้าง เปลี่ยนกลยุทธ์ บ่งชี้ว่าความเสียหายในระยะสั้นเหล่านี้จะชะลอแผนการเลิกใช้รถยนต์สันดาป

วันที่ 22 ก.พ. 2567 แบรนด์รถหรูเยอรมนี “เมอร์เซเดซ” เสียงอ่อยเรื่องดีมานด์รถอีวี กล่าวว่า จะปรับปรุงการผลิตรถยนต์ใช้น้ำมันสู่ทศวรรษหน้า รวมถึงชะลอเป้าผลิตรถไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี 2573 โดยเลือกที่จะผลิตรถเครื่องยนต์สันดาปไว้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งภายในช่วงเวลาดังกล่าว บริษัทยังแบ่งรับแบ่งสู้ว่า ความต้องการของผู้บริโภคจะเป็นตัวกำหนดว่าบริษัทจะผลิตอีวีทั้งหมดได้เร็วแค่ไหน

“อัตราดอกเบี้ยสูง ราคาน้ำมันปานกลาง และความวิตกกังวลต่ออนาคตล้วนส่งผลต่อความต้องการอีวี การที่คนตื่นเต้นใช้อีวีในช่วงแรกๆ ไม่ได้สะท้อนถึงความต้องการในวงกว้างและในระยะยาว” ไบรอัน จาค็อบสัน ประธานคณะนักเศรษฐศาสตร์ วาณิชธนกิจแอนเนกซ์เวลธ์แมเนจเมนท์ ซึ่งไม่ได้ถือหุ้นให้บริษัทผลิตรถอีวีใดๆ ให้ความเห็นและว่าความต้องการและความตื่นเต้นกับอีวีจะลดลงต่อไปอีก

 การเปลี่ยนท่าทีของเมอร์เซเดสเกิดขึ้นหนึ่งวันหลังจากริเวียนและลูซิด สตาร์ตอัพอีวี คาดการณ์การผลิตปี 2567 ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดหมายเอาไว้ริเวียนลดคนงาน 10% ข่าวดังกล่าวส่งผลให้หุ้นริเวียนและลูซิดดิ่งลง 27.5% และ 19.5% ตามลำดับในวันที่ 22 ก.พ.

ความเสียหายนี้เป็นผลพวงจากสงครามราคาในปี 2566 ที่บั่นทอนผลกำไรและสร้างแรงกดดันให้กับหลายๆ บริษัทที่สูญเงินกับธุรกิจอีวีไปแล้ว

อาร์เจ สแครินจ์ ซีอีโอริเวียน เผยกับรอยเตอร์ว่า มีความท้าทายระดับมหภาค อัตราดอกเบี้ยสูงและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์สร้างความอ่อนไหวต่อราคา

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่ว่ามา ฟอร์ด, เจนเนอรัลมอเตอร์ และผู้นำตลาดอย่างเทสลาเคยเจอมาก่อนแล้ว เทสลานั้นหลังจากอีลอน มัสก์ ซีอีโอเตือนในเดือน ม.ค.ว่า บริษัทเติบโตลดลงส่งผลมูลค่าตลาดเทสลาหายไป 8 หมื่นล้านดอลลาร์ในวันเดียว

แม้แต่ราคาอีวีมือสองก็หนีไม่พ้นชะตากรรมนี้ เดือน ม.ค.ราคาร่วง 16.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ในจีนตลาดรถยนต์ใหญ่สุดของโลกก็ไม่เว้น ความต้องการรถอีวีเคยแข็งแกร่ง แต่ในเดือน ม.ค.ยอดขายลดลง 38% ครั้งแรกนับตั้งแต่ ส.ค.2566

แหล่งข่าวเผยว่า ข่าวร้ายดังกล่าวยังทำให้รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน เตรียมเสนอลดข้อจำกัดการปล่อยคาร์บอนที่ออกแบบมาเพื่อให้ชาวอเมริกันใช้รถอีวีมากขึ้น

ก่อนหน้านั้นในเดือนเดียวกัน วอลโวคาร์ตัดสินใจระงับการลงทุนในโพลสตาร์ แบรนด์ลูกอีวีหรู หลังขาดทุนส่งมอบปี 2566 พลาดเป้า

อย่างไรก็ตาม นักสังเกตการณ์แวดวงอีวีบางคนโต้ว่า ในระยะยาวการเปลี่ยนผ่านสู่อีวียังสดใสแม้ระยะสั้นจะมีอุปสรรคบ้าง

“อัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลงจาก 45% มาสู่อะไรที่ยั่งยืนมากขึ้นไม่ใช่หายนะจากแรงกดดัน อัตราดอกเบี้ยส่งผลต่อยอดขายรถทุกชนิด ไม่ใช่แค่อีวี”

วิตาลี โกลอมบ์ วาณิชธนกรผู้เน้นเรื่องยานยนต์และลงทุนในริเวียนกล่าวและว่า ผลกระทบเห็นได้ชัดกับรถที่มีราคาแพงกว่า ซึ่งอีวีโดยเฉลี่ยแล้วถือเป็นรถราคาสูง ดังนั้นผู้ผลิตจำต้องเน้นย้ำถึงความแตกต่างชัดเจนของต้นทุนทั้งหมดในการเป็นเจ้าของรถอีวี