‘สีหนุวิลล์’ พัฒนาแบบพึ่งพาทุนจีน | กันต์ เอี่ยมอินทรา

‘สีหนุวิลล์’ พัฒนาแบบพึ่งพาทุนจีน | กันต์ เอี่ยมอินทรา

ปฎิเสธไม่ได้ว่า ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่าง “สมเด็จฯ ฮุนเซน” อดีตนายกฯ กัมพูชา กับ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ไทย นั้น น่าจับตามองอย่างยิ่ง

นอกจากไทยและกัมพูชาจะมีความใกล้ชิดกันทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และประชาชนแล้ว ความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการของนักการเมืองและรัฐบาลนั้น ย่อมนำมาซึ่งข้อดีในเชิงผลประโยชน์ร่วมกัน และอาจนำมาซึ่งข้อเสียในเชิงผลประโยชน์ทับซ้อนหรือแม้กระทั่งเกิดคำถามถึงความโปร่งใสในนโยบาย และการตัดสินใจต่าง ๆ ของรัฐ

ไม่นานมานี้ นายกฯ คนใหม่ของกัมพูชาได้เดินทางเยือนไทย และหนึ่งในหมุดหมายสำคัญในการเยือนครั้งนี้คือ เรื่องของการแบ่งผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ซึ่งเชื่อว่ามีทรัพยากรก๊าซธรรมชาติอยู่มหาศาลเพียงพอที่อาจจะทำให้นโยบายลดค่าครองชีพเรื่องค่าไฟแพง ซึ่งเป็นนโยบายที่ตรงกันของทั้งสองประเทศสามารถทำได้จริง

หากดีลนี้สำเร็จเป็นรูปธรรมขึ้นได้ อาจจะสามารถเรียกคะแนนเสียงและความนิยมและความเชื่อมั่นศรัทธาในตัวนายกฯ ใหม่ของทั้งสองประเทศ

อีกประเด็นหนึ่งที่ไม่ค่อยพูดถึงแต่ไม่ควรมองข้ามและควรทำให้เป็นวาระแห่งชาติ คือปัญหาฝุ่นพิษ ที่ประชาชนทั่วทั้งภูมิภาค ไม่เพียงเฉพาะแต่คนไทยเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่คนกัมพูชา เมียนมา ลาวก็จำต้องสูดอากาศพิษที่เกิดจากการเผาไหม้เพื่อเตรียมพื้นที่ในการเพาะปลูกซึ่งถือเป็นวิธีที่ถูก ตอบโจทย์เอื้อแก่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่และทำกันมานมนาน จนแทนจะเรียกได้ว่าเป็นปกติ

ส่วนประเด็นที่เราสมควรเรียนรู้จากกัมพูชาก็คือ การเลือกข้างและพึ่งพิงทุนจากประเทศใดประเทศหนึ่งจนเสียสมดุล

หากจะพูดให้ตรงไปตรงมาและชัดเจนก็คือ “การพึ่งพาทุนจีน” อันเนี่องจากมาความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างอดีตนายกฯ กัมพูชากับจีน ทั้งนักธุรกิจและนักการเมือง และกรณีศึกษาที่ชัดเจนเห็นภาพที่สุดก็คือ การพัฒนาที่รวดเร็วก่อนการหยุดชะงักเพื่อพัฒนาต่อของเมืองตากอากาศริมทะเล สีหนุวิลล์

ในอดีตนั้น สีหนุวิลล์เคยเป็นเมืองตากอากาศที่ค่อนข้างเงียบสงบ ตั้งอยู่ทางตะวันตกของกรุงพนมเปญ การตั้งอยู่บนอ่าวไทย ทำให้มีทัศนียภาพมีความสวยงามของธรรมชาติ หาดทรายและทะเลไม่ต่างจากจังหวัดตราดของไทย สวยไม่ด้อยไปกว่าเกาะช้าง เกาะกูด หรือแม้กระทั่งเกาะฟูก๊วก ที่เป็นเกาะที่สวยงามไฮโซและเจริญที่สุดของเวียดนามที่อยู่ในอ่าวไทย หรือพูดง่าย ๆ หากไทยมีเกาะสมุย เวียดนามก็มีเกาะฟูก๊วก

กัมพูชาเลือกเข้าร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ One Belt One Road ของจีน และสีหนุวิลล์ก็คือหนึ่งในเมืองสำคัญ เพราะนอกจากความสวยงามและเมืองยังมีท่าเรือน้ำลึก ซึ่งเป็นผลดีทั้งในเชิงเศรษฐกิจและเชิงยุทธศาสตร์ทหาร เมื่อเม็ดเงินจำนวนมหาศาลถาโถมเข้าสู่สีหนุวิลล์ทั้งจากภาครัฐที่สนับสนุนกัมพูชาในการพัฒนาในเชิงโครงสร้าง เช่น การสร้างถนนใหม่ที่เชื่อมสีหนุวิลล์กับพนมเปญ การสร้างโรงไฟฟ้า ท่าเรือ และเงินจากภาคเอกชนที่เข้ามาลงทุนทั้งกาสิโน ทั้งอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ

เม็ดเงินจำนวนมากที่ไหลท่วมสีหนุวิลล์อย่างรวดเร็วนี้ ได้เปลี่ยนรูปแบบของเมืองตากอากาศที่เคยเงียบสงบ กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่มีแหล่งบันเทิงครบวงจร เกิดการพัฒนาที่ดิน เกิดสิ่งปลูกสร้าง เกิดกาสิโนขึ้นมากมาย โดยกัมพูชาหวังใจและดันเมืองนี้อย่างสุดแรงเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลก

แต่ราคาที่สีหนุวิลล์ต้องจ่ายนั้นเรียกได้ว่า “สาหัส” เพราะสไตล์การเข้ามาลงทุนของจีน หากพูดภาษาชาวบ้านให้เข้าใจง่าย ๆ ก็เปรียบเหมือนเข้ามาเซ้งพื้นที่ทำมาหากิน การยกระดับสีหนุวิลล์ขึ้นเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทำให้จีนมีอำนาจไม่น้อยไปกว่ากัมพูชาในการกำหนดทิศทางของเมือง ทั้งเรื่องของเอกสิทธิ์ที่ดิน การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หรือแม้กระทั่งการย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานของคนจีนในแถบนี้

แต่นี่เป็นเพียงราคาที่สีหนุวิลล์จำต้องจ่ายในก้อนแรกเท่านั้น สีหนุวิลล์และคนกัมพูชาจำต้องแลกอีกหลายสิ่งเพื่อสร้างความเจริญให้เมืองนี้

สีหนุวิลล์ คือหนึ่งในเมืองที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลจีน และเอกชนจีน ภายใต้โครงการ One Belt One Road ที่แต่เดิมนั้นมุ่งมั่นให้สีหนุวิลล์เป็นแหล่งอุตสาหกรรมใหม่ ทางการจีนอุดหนุนเมืองนี้อย่างหนักโดยการช่วยรัฐบาลกัมพูชาสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทั้งถนน โรงไฟฟ้า ท่าเรือ ซึ่งผลตอบแทนที่จีนได้รับก็คือการบริหารจัดการสีหนุวิลล์ในฐานะ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ”

เอกชนจีนได้รับสิทธิในการก่อสร้างและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตามใจชอบภายในเขตเศรษฐกิจนี้ ซึ่งเดิมนั้น กัมพูชาตั้งใจจะปลุกปั้นให้กลายเป็นเสิ่นเจิ้นใหม่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นฐานการผลิตเพราะแรงงานที่ถูกและทำเลที่ตั้งที่สามารถเข้าถึงตลาดไทย กัมพูชา ลาว และเวียดนามได้

แต่สิ่งที่น่าเศร้าสลดใจในดีลธุรกิจนี้คือ “การจ้างงาน” อสังหาริมทรัพย์ที่บูมอย่างรวดเร็วนี้ กลับไม่ได้เป็นแหล่งงานของคนท้องถิ่น แต่กลับกลายเป็นของแรงงานจีน เพราะจีนมีสิทธิจ้างแรงงานชาติเดียวกันในเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ได้ ขณะที่แรงงานท้องถิ่นในกัมพูชามีสัดส่วนที่ไม่มากและมักจะได้รับงานที่แรงงานจีนไม่นิยมทำ

การพัฒนาที่รวดเร็วทำให้ชีวิตของคนท้องถิ่นเปลี่ยนแปลงไป สิ่งแวดล้อมมีความเสื่อมโทรมจากประชากรที่อพยพทะลักเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากเขตเศรษฐกิจใหม่นี้ และแน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ที่หลั่งไหลเข้ามาก็คือ “คนจีนและนักท่องเที่ยวจีน”

โดยเฉพาะหลังจากที่สีหนุวิลล์ได้ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของเมืองและพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นเกาะแห่งกาสิโน ก็ยิ่งทำให้ทรัพยากรของสีหนุวิลล์และชีวิตความเป็นอยู่ของคนท้องถิ่นหรือประชาชนเจ้าของประเทศ เข้าถึงทรัพยากรได้ยากยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น ปัญหาสังคม โดยเฉพาะอาชญากรรมออนไลน์ ก็เป็นอีกหนึ่งในปัญหาอันเลวร้ายของสีหนุวิลล์ ไม่เพียงเกิดความรุนแรง การค้ามนุษย์ในเมืองเท่านั้น แต่ท้ายที่สุด สีหนุวิลล์ก็ถูกทิ้งร้างจากทุนจีน หลังการเกิดวิกฤติการเงินในธุรกิจอสังหาฯ และโควิด-19 ประกอบกับการเอาจริงเอาจังของรัฐบาลปักกิ่งในการปราบปรามอาชญากรรม ทำให้สีหนุวิลล์กลายเป็นทำเลที่ตั้งที่องค์กรอาชญากรรมเหล่านี้ใช้เป็นฐานในการฉ้อโกงหรือก่ออาชญากรรม

ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่คนไทยประสบ ไม่ว่าจะเป็นการชักชวนลงทุน การหาคู่ การสมัครงานปลอม คือหนึ่งในปัญหาสังคมที่ไทยในฐานะเพื่อนบ้านพลอยได้รับผลเสียจากการละเลยของทางการกัมพูชา นี่คือตัวอย่างของขบวนการอาชญากรรมที่ทำกันอย่างเป็นระบบ นี่คือผลเสียจากการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐตั้งแต่ระดับล่างไปจนถึงระดับผู้พิพากษา ซึ่งเหยื่อก็คือสุจริตชน

สีหนุวิลล์ จึงไม่เป็นเพียงแต่อนุสรณ์ให้เห็นถึงการพึ่งพิงทุนจีนอย่างไร้เงื่อนไข แต่ยังชี้ให้เห็นถึงราคาที่ประเทศและประชาชนจะต้องจ่าย อันเนื่องมาจากรัฐบาลปล่อยปละละเลยการทำหน้าที่รักษากฎหมายรักษาผลประโยชน์ของประเทศ รวมถึงการมีผลประโยชน์ที่ทับซ้อนและระบอบอำนาจนิยมที่มีฝ่ายค้านที่ง่อยเปลี้ยเสียขา และภาคประชาสังคมที่อ่อนแอ

จะเห็นได้ว่า “อันตรายเป็นอย่างยิ่ง”

กรณีศึกษาของเมืองสีหนุวิลล์ในกัมพูชาน่าจะสามารถเป็นบทเรียนให้แก่ไทยได้อย่างดี ถึงการพึ่งพิงทุนจีนและความใกล้ชิดสนิทสนมระหว่างผู้นำกัมพูชากับกลุ่มนักธุรกิจและทางการจีนนั้น เกิดผลเสียหายอย่างไรกับประเทศ สิ่งแวดล้อม ตลอดจนคนในประเทศอย่างไร และน่าจะเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับโครงการเมกะโปรเจกต์ของไทยที่จะป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแบบที่กัมพูชาประสบอยู่ในตอนนี้