ย้อนตำนาน ‘มิตรแท้’ ยามยาก เกลอเก่า ‘ทักษิณ - ฮุน เซน’

ย้อนตำนาน ‘มิตรแท้’ ยามยาก เกลอเก่า ‘ทักษิณ - ฮุน เซน’

“ฮุน เซน” เคยกล่าวไว้ว่า ตน และนายทักษิณ คือพี่ทูนหัว (God brother) ซึ่งมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นมานาน ตั้งแต่ปี 2535 ก่อนนายทักษิณ จะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของไทย

KEY

POINTS

  • "ทักษิณ" และ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” 2 อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมในงานฉลองวันคล้ายวันเกิดครบ 71 ปี ของ “ฮุน เซน” เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2566 ก่อน "ทักษิณ" กลับไทยวันที่ 22 ส.ค.2566
  • เหตุการณ์กระทบกระทั่งความสัมพันธ์ระหว่างสองผู้นำ ต้องย้อนไปเมื่อวันที่ 29 ม.ค.2546 ได้เกิดเหตุการณ์เผาสถานทูตไทยในกัมพูชา เพราะข่าวลือเรื่องนักแสดงชาวไทยดูหมิ่นคนกัมพูชา

  •  “ทักษิณ” ต้องใช้ชีวิตลี้ภัยทางการเมืองอยู่ต่างประเทศ เคยได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาส่วนตัว และที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจรัฐบาลกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 พ.ย.2552 ต่อมา ปี 2553 “ทักษิณ” ได้ลาออกจากการเป็นที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชา

  • รัฐบาลกัมพูชา เคยออกแถลงการณ์ปกป้อง "ทักษิณ" ว่า “ในกรณีของทักษิณ กัมพูชาเห็นว่ามีเหตุทางการเมืองอย่างชัดเจนในการโค่นทักษิณลงจากตำแหน่งด้วยการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 ในขณะที่อยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ที่องค์การสหประชาชาติ คดีความมากมายที่ตามมาหลังจากนั้น รวมทั้งการตัดสินลงโทษต่อตัวท่านทั้งสิ้น ล้วนเป็นเรื่องการเมืองทั้งสิ้น”

  •  "ทักษิณ" เคยกล่าวว่า "ในอาเซียนมีพี่น้อง 3 คนที่รักกันคือ สุลต่านบรูไน ผม และสมเด็จฮุน เซน เพราะตลอดเวลาที่ถูกรังแก ทั้ง 2 ประเทศเปรียบเสมือนบ้านอีกหลังของผมในยามยาก”

“ฮุน เซน” เคยกล่าวไว้ว่า ตน และนายทักษิณ คือพี่ทูนหัว (God brother) ซึ่งมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นมานาน ตั้งแต่ปี 2535 ก่อนนายทักษิณ จะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของไทย

ได้รับการพักโทษเมื่อวันที่ 18 ก.พ.2567 “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 ได้กลับเข้าบ้านพัก “จันทร์ส่องหล้า” พร้อมหน้าครอบครัว และลูกหลาน

ล่าสุด มีรายงานข่าวยืนยันว่า สมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน หรือ “สมเด็จฮุน เซน” ประธานคณะองคมนตรีกัมพูชา อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งมีความสนิทสนมกับ “ทักษิณ” ตั้งแต่สมัยเป็นนายกฯ จะเดินทางมาเยี่ยม “ทักษิณ” เป็นการส่วนตัวที่บ้านพักใน ซอยจรัญสนิทวงศ์ 69 หรือบ้านจันทร์ส่องหล้า ในวันที่ 21 ก.พ. 2567

ทักษิณ ฮุน เซน

หากย้อนกลับไปช่วงที่ก่อน “รัฐสภา” จะมีการลงมติเห็นชอบให้ “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30  เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2566 "ทักษิณ พร้อมด้วย “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” 2 อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมายังกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เพื่อเข้าร่วมในงานฉลองวันคล้ายวันเกิดครบ 71 ปี ของ “ฮุน เซน”

งานวันเกิดของอดีตนายกฯ “ฮุน เซน” ครั้งนั้นได้จัดขึ้นที่บ้านพักของ “ฮุน เซน” ในเมืองทักเมา กรุงพนมเปญ

ย้อนตำนาน ‘มิตรแท้’ ยามยาก เกลอเก่า ‘ทักษิณ - ฮุน เซน’

2 ผู้นำเคยกระทบกระทั่งเหตุการณ์เผาสถานทูต

ความสัมพันธ์ของ “ทักษิณ” กับ “ฮุน เซน” นั้นมีมานาน และเป็นความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง และก็มีกระทบกระทั่งกันบ้างตามประสาเพื่อนบ้านที่สนิทแน่นแฟ้น

เหตุการณ์ที่คนไทยจำไม่ลืมที่สุดในกัมพูชา และกระทบกระทั่งความสัมพันธ์ระหว่างสองผู้นำ

ต้องย้อนไปเมื่อวันที่ 29 ม.ค.2546 ได้เกิดเหตุการณ์เผาสถานทูตไทยในกัมพูชา เพราะข่าวลือเรื่องนักแสดงชาวไทยดูหมิ่นคนกัมพูชา

ครั้งนั้น “ทักษิณ” ได้ประสานรัฐบาลกัมพูชา เพื่อควบคุมสถานการณ์ก่อนส่งกองทัพไปอพยพคนไทยกลับทันที

โดย “ทักษิณ” ได้ติดต่อกับ “ฮุน เซน” นายกรัฐมนตรีกัมพูชา รวมทั้งแจ้งสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาในประเทศไทยว่า “ถ้าภายใน 1 ชั่วโมง เหตุการณ์ไม่เรียบร้อย ผมจะส่งหน่วยคอมมานโดเข้าไปในจุดเกิดเหตุ ขณะนี้ได้สั่งการให้เตรียมพร้อมแล้ว”

ย้อนตำนาน ‘มิตรแท้’ ยามยาก เกลอเก่า ‘ทักษิณ - ฮุน เซน’

ขณะเดียว “ทักษิณ” ก็ตัดสินใจลดความสัมพันธ์ทางการทูตกับกัมพูชา โดยห้ามคนกัมพูชาเข้าประเทศไทย และส่งเครื่องบิน ซี 130 ไปรับคนไทยโดยให้กัมพูชารับผิดชอบทันที

"สมเด็จฮุน เซน ก็ขอพูดกับผม ผมก็ต่อว่าไป และยืนยันจะตัดความสัมพันธ์ นายกฯ ฮุน เซน พยายามขอร้องแล้วขอร้องอีก ผมก็เลยบอกว่า จะลดความสัมพันธ์เหลือระดับอุปทูต เพื่อเปิดช่องในการพูดจากัน แต่ต้องอธิบายให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้น และต้องจับกุมตัวการให้ได้ รวมทั้งจะต้องชดใช้ค่าเสียหาย เขาก็รับข้อเสนอ"

กัมพูชาเคยออกแถลงการณ์ปกป้อง "ทักษิณ" ถูกโค่นด้วย รปห.

เวลาต่อมา “ทักษิณ” ต้องใช้ชีวิตลี้ภัยทางการเมืองอยู่ต่างประเทศ เขาเคยได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาส่วนตัว และที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจรัฐบาลกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 พ.ย.2552 ซึ่งขณะนั้น “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เป็นนายกรัฐมนตรี

และต่อมา ปี 2553 “ทักษิณ” ได้ลาออกจากการเป็นที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชา

ปี 2552 พรรคเพื่อไทยต้องเป็นฝ่ายค้าน และทางการไทยในขณะนั้นซึ่งเป็นยุคของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ยื่นหนังสือขอตัวส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้กับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงต่างประเทศกัมพูชา แต่ทางการกัมพูชาทำหนังสือยืนยันการไม่ส่งตัว “ทักษิณ” กลับไทย ด้วยเหตุผลเรื่องกระบวนการยุติธรรมของไทย

ครั้งนั้น รัฐบาลกัมพูชา ได้ออกแถลงการณ์โดยมีใจความว่า “ในกรณีของทักษิณ กัมพูชาเห็นว่ามีเหตุทางการเมืองอย่างชัดเจนในการโค่นทักษิณลงจากตำแหน่งด้วยการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 ในขณะที่อยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ที่องค์การสหประชาชาติ คดีความมากมายที่ตามมาหลังจากนั้น รวมทั้งการตัดสินลงโทษต่อตัวท่านทั้งสิ้น ล้วนเป็นเรื่องการเมืองทั้งสิ้น”

ในช่วงรัฐบาล “อภิสิทธิ์” และช่วงรอยต่อจะเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไป จน “พรรคเพื่อไทย” ได้รับชัยชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 ก.ค.2554 ทำให้ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 28

ย้อนตำนาน ‘มิตรแท้’ ยามยาก เกลอเก่า ‘ทักษิณ - ฮุน เซน’

ช่วงปี 2555 “ทักษิณ” ได้บินมาอยู่ใกล้ประเทศไทยอยู่บ่อยครั้งพร้อมออกรอบตีกอล์ฟกับ “ฮุน เซน” ที่กัมพูชา

เหตุการณ์ที่เป็นการแสดงพลังคนเสื้อแดงที่ยิ่งใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้าน ต้องยกให้เหตุการณ์สงกรานต์ เมื่อปี 2555 เมื่อ “ทักษิณ” ออกทัวร์สงกรานต์นครเวียงจันทน์ และเมืองปากเซ แขวงจำปาสัก สปป.ลาว ก่อนที่ “ทักษิณ” จะบินมายังเมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ซึ่งมีมวลชนคนเสื้อแดงมารวมตัวแน่นหน้าเวทีลานวัฒนธรรมเมืองเสียมราฐ เพื่อรอฟังการปราศรัยของ “ทักษิณ”

เหตุการณ์ครั้งนั้น “ทักษิณ” ได้ร้องเพลง Let It Be ของวง The Beatles ร่วมกับแกนนำคนเสื้อแดง และมีการแปลงเนื้อเพลงบางส่วนจากคำว่า “Let It Be” เป็นคำว่า “ช่างแม่มัน”  “จะเป็นจะตายก็ช่างแม่มัน…ช่างแม่มัน”

"ทักษิณ" ยกบรูไน - กัมพูชา เพื่อนรักยามยาก

อย่างไรก็ตาม “ทักษิณ” มอง “กัมพูชา” เป็นประเทศที่เหมือนเพื่อนแท้

โดย "ทักษิณ" เคยกล่าวว่า "ในอาเซียนมีพี่น้อง 3 คนที่รักกันคือ สุลต่านบรูไน ผม และสมเด็จฮุน เซน เพราะตลอดเวลาที่ถูกรังแก ทั้ง 2 ประเทศเปรียบเสมือนบ้านอีกหลังของผมในยามยาก”

ในงานวันเกิดครบรอบ 71 ปี เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2566 ของฮุน เซน ที่เมืองตาเขมา จ.กันดาล ซึ่งเป็นบ้านเกิด

“ฮุน เซน” เคยกล่าวไว้ว่า ตน และนายทักษิณ คือ พี่ทูนหัว (God brother) ซึ่งมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นมานาน ตั้งแต่ปี 2535 ก่อนนายทักษิณจะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของไทย

ย้อนตำนาน ‘มิตรแท้’ ยามยาก เกลอเก่า ‘ทักษิณ - ฮุน เซน’

ปัจจุบัน “ฮุน เซน” ส่งต่ออำนาจทางการเมืองให้กับ “ฮุน มาเนต” บุตรชายเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และ “ฮุน มาเนต” ก็เพิ่งเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 7 ก.พ.2567 ในฐานะแขกของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน

ความสัมพันธ์ของรัฐบาลกัมพูชากับรัฐบาลไทยภายใต้การนำของ “พรรคเพื่อไทย” ที่มี “ทักษิณ” เป็นผู้นำจิตวิญญาณ ก็น่าจะส่งต่อไปยังรุ่นลูกได้ด้วย เพราะในอนาคต “แพทองธาร ชินวัตร” ลูกสาวของ “ทักษิณ” ก็มีโอกาสจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่ต่างจากลูกชายของ “ฮุน เซน”

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์