ทำไม ‘กัมพูชา’ เสี่ยงเจอวิกฤติค่าเงิน เพราะพึ่ง ‘จีน’ มากเกินไป คล้าย ‘ลาว’

ทำไม ‘กัมพูชา’ เสี่ยงเจอวิกฤติค่าเงิน เพราะพึ่ง ‘จีน’ มากเกินไป คล้าย ‘ลาว’

“กัมพูชา” กลายเป็นประเทศที่ควรเฝ้าระวังต่อจาก “ลาว” ที่ประสบวิกฤติ “ค่าเงินอ่อน” เนื่องจากเศรษฐกิจกัมพูชาพึ่งพาจีนสูงมาก ขณะที่เศรษฐกิจจีนตอนนี้เผชิญภาวะซบเซาครั้งใหญ่ ซึ่งหากยักษ์เศรษฐกิจเอเชียเผชิญวิกฤติขึ้นมา อาจทำให้กัมพูชาเสี่ยงล้มตามไปด้วย

Key Points

  • กัมพูชาพึ่งพาเม็ดเงินการลงทุนโดยตรง (FDI) จากประเทศจีน สูงถึง 73.5%
  • จำนวนตึกร้างในสีหนุวิลล์ เมืองชายฝั่งของกัมพูชา มีจำนวนสูงถึงพันแห่ง กลายเป็นปัญหาเสื่อมโทรมทางอาคารที่ถูกทิ้งไว้ รอการแก้ไข
  • ยอดหนี้ไมโครไฟแนนซ์ของกัมพูชาพุ่งสูงมากกว่า 16,000 ล้านดอลลาร์หรือเกือบครึ่งหนึ่ง GDP


จากวิกฤติค่าเงินลาว ที่อ่อนค่าขั้นรุนแรงเมื่อเทียบกับบาทไทย โดยเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2564 จำนวน 1 บาทแลกได้ 300 กีบ แต่ปัจจุบัน 1 บาทสามารถแลกได้สูงถึง 550 กีบ ยังมีอีกประเทศหนึ่งที่สุ่มเสี่ยงไม่แพ้กัน คือ “กัมพูชา” 

เพื่อนบ้านไทยรายนี้พึ่งพาเงินลงทุนส่วนใหญ่จากจีน ในสัดส่วนสูงถึงกว่า 70% และยิ่งเศรษฐกิจจีนชะลอตัวอย่างรุนแรง ประกอบกับต้นทุนสินค้านำเข้าที่สูงขึ้นจากดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้นของธนาคารกลางทั่วโลก กลายเป็นความเสี่ยงว่า ค่าเงินเรียลของกัมพูชาจะซ้ำรอยกรณีลาวหรือไม่

  • หากจีนล้ม กัมพูชาอาจล้มตาม

ข้อมูลจากเจีย วูตี (Chea Vuthy) เจ้าหน้าที่การลงทุนอาวุโสของกัมพูชา ระบุว่า ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.- เม.ย.) กัมพูชาพึ่งพาการลงทุนโดยตรง (Foreign Direct Investment หรือ FDI) จากประเทศจีน สูงถึง 73.5%

การพึ่งพา “จีน” เป็นส่วนใหญ่เพียงประเทศเดียว หากเศรษฐกิจจีนดี กัมพูชาจะได้รับอานิสงส์ไปด้วย แต่ในปัจจุบันกลับเป็นทิศทางตรงกันข้าม เศรษฐกิจจีนชะลอตัวอย่างมากจากผลพวงการปิดเมืองช่วงโควิด-19 ที่ยาวนานและการจัดระเบียบตลาดทุนจีนอย่างเข้มงวด ส่งผลให้บริษัทจีนจำนวนมากลดพนักงานลง หนุ่มสาวจีนตกงานเป็นประวัติการณ์สูงถึง 21.3%

แม้ในปัจจุบัน ทางการจะคลายล็อกดาวน์แล้ว แต่สถานการณ์ยังคงไม่ดีขึ้น อีกทั้งตัวเลขการส่งออกจีนยังติดลบ 4 เดือนติด (พ.ค.-ส.ค.) และหนี้วิกฤติอสังหาริมทรัพย์กำลังทับถมสูงขึ้นเรื่อย ๆ

ผลกระทบที่ชัดเจนจากการผูกเศรษฐกิจกับจีนมากเกินไป คือ ตึกร้างในสีหนุวิลล์ เมืองชายฝั่งของกัมพูชา โดยก่อนช่วงโควิด-19 มีทุนจีนเข้ามาลงทุนสร้างอสังหาริมทรัพย์เป็นจำนวนมาก แต่เมื่อจีนปิดประเทศเพื่อควบคุมการระบาดโควิด-19 ตึกเหล่านี้ถูกทิ้งร้าง สร้างไม่เสร็จกว่าพันแห่ง กลายเป็นปัญหาเสื่อมโทรมทางอาคารที่รอการแก้ไข

ทำไม ‘กัมพูชา’ เสี่ยงเจอวิกฤติค่าเงิน เพราะพึ่ง ‘จีน’ มากเกินไป คล้าย ‘ลาว’

- ตึกร้างที่ถูกทิ้งไว้ในสีหนุวิลล์ (เครดิต: Shutterstock) -

ดังนั้น เนื่องด้วยกัมพูชาพึ่งพาเงินลงทุนจากจีนสูง หากจีนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ขึ้น จึงเป็นการยากที่กัมพูชาจะหลีกเลี่ยงผลกระทบได้

ทำไม ‘กัมพูชา’ เสี่ยงเจอวิกฤติค่าเงิน เพราะพึ่ง ‘จีน’ มากเกินไป คล้าย ‘ลาว’ - ตึกของกลุ่มทุนจีนที่สร้างไม่เสร็จในกัมพูชา (เครดิต: Shutterstock) -

  • กัมพูชา พึ่งเงินดอลลาร์ระดับสูง (High Dollarization)

นอกจากกัมพูชาจะพึ่งการลงทุนจากจีนสูงเพียงประเทศเดียวแล้ว กัมพูชายังพึ่งการใช้สกุลเงินต่างชาติในระดับสูงด้วย คือ “ดอลลาร์ควบคู่กับเรียลกัมพูชา สะท้อนถึงความไม่มั่นคงของค่าเงินประเทศตัวเอง ที่ทำให้คนในประเทศต้องนำสกุลเงินต่างชาติมาใช้ร่วมด้วย

เนื่องด้วยความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน ทำให้ในช่วงต้นปีนี้ รัฐบาลกัมพูชาจึงอนุญาตให้นักท่องเที่ยวจีนสามารถชำระค่าบริการด้านการท่องเที่ยว โรงแรม และภัตตาคารเป็น “หยวน” แทนเรียลและดอลลาร์ได้

  • กัมพูชายังคงขาดดุลทางการค้า

ดุลการค้า” มีผลต่อการแข็งค่าและอ่อนค่าของค่าเงินด้วย ยกตัวอย่าง “ไทย” ถ้าประเทศส่งออกมากกว่านำเข้า (เกินดุลการค้า) ผู้ส่งออกจะได้เงินจากต่างชาติและนำกลับมาแลกเป็นบาทไทย ทำให้ความต้องการเงินบาทสูงขึ้น ค่าเงินบาทจึงสูงขึ้น

ขณะเดียวกัน ถ้าประเทศนำเข้ามากกว่าส่งออก (ขาดดุลการค้า) จะมีการเทขายบาทไทยเพื่อแลกเป็นเงินต่างประเทศซื้อสินค้านำเข้า อย่างน้ำมันที่ซื้อขายเป็นดอลลาร์ ทำให้ความต้องการบาทลดลง ค่าเงินบาทจึงลดลง

เมื่อย้อนกลับมาดูที่กัมพูชา ประเทศเกิดการขาดดุลการค้าเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งข้อมูลล่าสุดจากเว็บไซต์ด้านการเงิน Trading Economics ระบุว่า กัมพูชาขาดดุลการค้าเดือน เม.ย. ติดลบ 920,900 ล้านเรียล เนื่องจากสินค้าที่ประเทศผลิตได้เองและส่งออก มีมูลค่าต่ำกว่าสินค้านำเข้า โดยกัมพูชาผลิตเสื้อผ้า รองเท้า ข้าว ยางพารา พริกไทย และสินค้าประมงในการส่งออก แต่สินค้านำเข้า มีน้ำมันเชื้อเพลิง รถยนต์ เครื่องยนต์ เคมีภัณฑ์ และเครื่องสำอางที่มีมูลค่าสูงกว่า  

  • มีหนี้ไมโครไฟแนนซ์สูงเกือบครึ่งหนึ่งของ GDP

หนี้ไมโครไฟแนนซ์ (Microfinance) เป็นสินเชื่อสำหรับผู้มีรายได้น้อย โดยในเดือน มี.ค. 2566 ยอดหนี้ไมโครไฟแนนซ์ของกัมพูชาพุ่งสูงมากกว่า 16,000 ล้านดอลลาร์หรือเกือบครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)

ยิ่งยอดหนี้สูงขึ้นมากเท่าใด ความเสี่ยงผิดนัดชำระก็สูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งอีฟ บาร์เร (Eve Barré) นักเศรษฐศาสตร์ของ Coface บริษัทประกันภัยสินเชื่อของฝรั่งเศส สาขาสิงคโปร์ แสดงความเห็นว่า ระดับหนี้เสียจริงในกัมพูชาอาจถูกประเมินต่ำเกินไป จากหนี้ที่มีการปรับโครงสร้างใหม่เพื่อไม่ให้กลายเป็นหนี้เสีย แม้ว่าลูกหนี้แทบจะไม่มีความสามารถจ่ายคืนแล้วก็ตาม

สรุปได้ว่า จากวิกฤติค่าเงินลาวที่อ่อนค่ารุนแรง “กัมพูชา” จึงกลายเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ควรเฝ้าระวังต่อไป เนื่องจากต้องพึ่งพาเงินลงทุนส่วนใหญ่จากชาติเดียว คือ จีน สูงถึง 70%

ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจจีนกำลังเกิดปัญหา ทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์และหนุ่มสาวตกงาน อีกทั้งประเทศยังพึ่งพาสินค้าต่างประเทศสูงและสินค้าที่ประเทศผลิตเองได้ยังมีมูลค่าต่ำ อาจมีนวัตกรรมไม่มากนัก พร้อมระดับหนี้สินเชื่อรายย่อยที่สูงมาก กลายเป็นความกังวลว่า ถ้ากัมพูชาจัดการความเสี่ยงนี้ไม่ดี ก็อาจซ้ำรอยประเทศลาวได้ และนี่คือโจทย์ท้าทายใหม่สำหรับ “ฮุน มาเนต” นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของกัมพูชา ผู้สืบทอดอำนาจต่อจากสมเด็จฮุน เซน ผู้เป็นพ่อ

อ้างอิง: phnompenhpostnikkeinikkei(2)thediplomattradingeconomicsvnexpress