ท่าเรือเบอร์ 1 มาเลเซีย ไม่หวั่น 'แลนด์บริดจ์' จ่อลงทุน 4 แสนล้านเพิ่มศักยภาพ

ท่าเรือเบอร์ 1 มาเลเซีย ไม่หวั่น 'แลนด์บริดจ์' จ่อลงทุน 4 แสนล้านเพิ่มศักยภาพ

มาเลเซียไม่หวั่นเมกะโปรเจกต์ "ไทย - สิงคโปร์" ท่าเรือกลัง เตรียมลงทุนเมกะโปรเจกต์ 4 แสนล้านบาท หวังขยายศักยภาพเพิ่มเกือบเท่าตัว

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า บริษัทเวสต์พอร์ตส โฮลดิงส์ ผู้บริหาร "ท่าเรือกลัง" ในมาเลเซีย กำลังพิจารณาแผนดึงนักลงทุนเชิงกลยุทธ์จากภายนอกเข้ามาร่วมลงทุนเมกะโปรเจกต์ 3.96 หมื่นล้านริงกิต (ราว 4 แสนล้านบาท) เพื่อขยายศักยภาพของท่าเรือแห่งนี้ให้เพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัว รองรับการค้าที่จะเพิ่มขึ้นภายในช่วงทศวรรษข้างหน้า

นอกจากนี้ บริษัทยังกำลังพิจารณาแผนการนำเงินปันผลกลับมาลงทุนใหม่ (Dividend Reinvestment Plans: DRP) รวมถึงแผนการกู้ยืมเพื่อรองรับการลงทุนขยายท่าเรือกลังในครั้งนี้ด้วย ท่ามกลางการขยับตัวของ "เพื่อนบ้าน" ทั้งไทย และสิงคโปร์ ที่กำลังพิจารณาการลงทุนครั้งใหญ่ในด้านโลจิสติกส์เช่นกัน 

"สิงคโปร์" ซึ่งรั้งตำแหน่งท่าเรืออันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับ 2 ในเอเชีย กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างท่าเรือตูอัส (Tuas) ด้วยเงินลงทุนถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 7.2 แสนล้านบาท) เพื่อขึ้นเป็นท่าเรือใหญ่สุดอันดับ 1 ของโลกที่ใช้ระบบอัตโนมัติทั้งหมด โดยปัจจุบันมีการก่อสร้างเสร็จไปแล้วในเฟสแรกเมื่อปี 2563 และคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จทั้ง 4 เฟส ภายในปี 2585 

ขณะที่ "ประเทศไทย" มองหาโอกาสจากข้อจำกัดของช่องแคบมะละกาที่คาดว่าปริมาณการเดินเรือจะเต็มศักยภาพภายในปี 2573 ด้วยการผลักดันโครงการ "แลนด์บริดจ์" ภายใต้เงินลงทุน 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์ (กว่า 1.01 แสนล้านบาท) เชื่อมท่าเรือน้ำลึก 2 แห่งระยะทาง 100 กิโลเมตร โดยจะย่นระยะเวลาการเดินทางลง 4 วัน เมื่อเทียบกับการใช้ช่องแคบมะละกา

รูเบน เอมีร์ กนานาลิงกัม ประธานกรรมการบริหารเวสต์พอร์ตส โฮลดิงส์ กล่าวว่า ยังไม่กังวลกับไอเดียดังกล่าวของเพื่อนบ้านในขณะนี้ เพราะลูกค้าของตนยังไม่ได้พิจารณาอย่างจริงจังว่าโครงการนี้จะเป็นทางเลือกใหม่

ท่าเรือเบอร์ 1 มาเลเซีย ไม่หวั่น \'แลนด์บริดจ์\' จ่อลงทุน 4 แสนล้านเพิ่มศักยภาพ

ทั้งนี้ ท่าเรือกลัง ในรัฐสลังงอร์ เป็นท่าเรือน้ำลึกใหญ่สุดอันดับ 2 ในอาเซียน เป็นรองเพียงสิงคโปร์ และเป็นอันดับ 10 ในเอเชียที่เต็มไปด้วยท่าเรือยักษ์ใหญ่จากจีน 

การลงทุนในท่าเรือกลังจะขยายศักยภาพจากปัจจุบันที่รองรับได้ 14 ล้าน TEU (หน่วยสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์ 20 ฟุต) เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเป็น 27 ล้าน TEU เพื่อรองรับการค้าที่ขยายตัวไปจนถึงหมดสัมปทานในปี 2625 หรืออีก 58 ปีข้างหน้า

แผนการขยายท่าเรือกลังจะมีการสร้างท่าเทียบเรือตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มอีก 8 แห่ง โดยจะเริ่มต้นเปิดให้บริการท่าแรกของเฟสใหม่นี้ในปี 2570 สะท้อนถึงแผนการที่ทะเยอทะยานเช่นเดียวกับเพื่อนบ้านที่รายรอบช่องแคบมะละกา หนึ่งในเส้นทางขนส่งทางทะเลที่พลุกพล่านที่สุดในโลก

นอกจากนี้ บริษัทเวสต์พอร์ตส กำลังมองหาโอกาสในการซื้อท่าเรืออื่น ๆ ในอาเซียนด้วย แต่ก็ย้ำว่าจะไม่ยอมซื้อในราคาที่แพงเกินไป เพราะเป้าหมายของบริษัทคือ การได้ผลตอบแทนที่ดีกลับมาจากการลงทุน ไม่ใช่การขาดทุน

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์